การดูแลสุขภาพช่วงหน้าฝนในสถานการณ์โควิด-19 (ในทัศนะแพทย์แผนจีน)

ช่วงหน้าฝน สำหรับคนกรุงเทพฯ นอกจากทำให้คิดถึงรถติด การสัญจรลำบากต้องพกร่มติดตัว พื้นดินเฉอะแฉะ เสื้อผ้าไม่แห้ง อาหารขึ้นราง่าย ต้องสระผมกันบ่อยเพราะโดนละอองฝน ฯลฯ นับเป็นความทุกข์อีกแบบหนึ่ง  เมื่อเทียบกับหน้าร้อนที่แสนจะร้อน หงุดหงิด กระหายแต่น้ำเย็น ปีนี้ยังมีความกังวลพิเศษว่าโรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดมากขึ้นอีกครั้งหรือเปล่า

สำหรับหน้าฝนปีนึ้ยังอยู่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19  แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันมีจำนวนลดลงเป็นตัวเลขหลักเดียวมาหลายวันแล้ว จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายและออกจากโรงพยาบาลมีตัวเลขที่สูงขึ้น กล่าวได้ว่ามีแนวโน้มที่จะควบคุมการระบาดได้อย่างดีเยี่ยม แต่เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ยังคงไม่มีภูมิค้มกันต่อโรคโควิด-๑๙ ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งและรอการการค้นพบวัคซีนที่มีความปลอดภัยมาฉีดสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้คนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น  จึงกล่าวได้ว่าการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันแบบธรรมชาติที่มาแต่กำเนิด (Innate immunity)ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นกลไกด่านแรกในการต่อสู้กับไวรัสและยังมีความเกี่ยวโยงกับการสร้างภูมิคุ้มกันจำเพาะเมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย(Acquired immunity)

ปรับสมดุลร่างกาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายในทัศนะแพทย์แผนจีน หมายถึงการปรับสภาพร่างกายให้เข้าสู่สมดุล เนื่องจากพื้นฐานร่างกายองแต่ละคนต่างกัน หลักการและวิธีการก็มีความแตกต่างกันไปด้วย

การปรับสมดุล คือการปรับพื้นฐานเลือด พลัง ความร้อน-เญ็น(ยินหยาง)ของร่างกาย รวมถึงการขจัดสิ่งตกค้างจากการไหลเวียนของเลือดและของเหลวติดขัด จนเกิดภาวะพลังติดขัด เลือดคั่งค้าง มีความชื้น เสมหะ ของเหลวในส่วนต่างๆของร่างกาย

การปรับสมดุลของร่างกายเพื่อให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันสามารถดูผลลัพธ์ของการทำงานของเม็ดเลือดขาว เช่น เม็ดเลือดขาวประเภท Macrophage ที่ทำหน้าที่ทำลายด้วยโอบล้อมย่อยสลายสิ่งแปลกปลอมทุกชนิดรวมถึงไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ ฯลฯ การทำงานของทีเซลล์ลิมโฟไซต์  บีเซลล์ลิมโฟไซต์  การสร้างแอนตี้บอดี การเพิ่มขึ้นของเซลล์ลิมโฟไซต์  cytokines โปรตีนที่สร้างจากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อสื่อสารกันระหว่างเซลล์ ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าการสร้างเม็ดเลือดขาวและประสิทธิภาพการทำงานของมันเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ไขกระดูก ม้าม ต่อมไธมัส ระบบน้ำเหลือง อวัยวะปอด ตับ ไต หัวใจ ระบบย่อยดูดซึมอาหาร รวมถึงภาวะโรคเรื้อรังประจำตัวของผู้ป่วย  จะไปเน้นเฉพาะการกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวล้วนๆเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปรับการทำงานทั้งระบบ คือรักษาคนทั้งคน ร่างกายทั้งร่างกายไปด้วยกันจึงจะทำให้ระบบภูมิค้มกันและเม็ดเลือดขาว ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาพภูมิอากาศของฤดูกาลต่างๆมีผลกระทบต่อสรีระการทำงานของอวัยวะต่างๆไม่เหมือนกัน และยังมีผลต่อสิ่งก่อโรคที่จะสามารถแพร่พันธุ์ได้มากน้อยเพียงใด การรับมือกับโควิด-19 ในช่วงหน้าฝนจึงต้องเข้าใจสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหน้าฝน

หน้าฝนเกี่ยวข้องกับความชื้น

แพทย์แผนจีน จัดความชื้นเป็นพลังยิน เป็นสิ่งก่อโรคชนิดหนึ่งซึ่งมาจากภายนอก คือสภาพอากาศที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูง และความชื้นที่มาจากภายในอันเกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบม้ามและกระเพาะอาหาร

ความชื้นมี 2 แบบ คือ ร้อนชื้น กับ เย็นชื้น

– ถ้าอากาศร้อนมากๆ แล้วมีฝนตกผสมโรง ก็มีลักษณะอากาศแบบร้อนอบอ้าว ตัวหนักๆ เรียกว่า แบบร้อนชื้น

– ถ้าฝนตกมากๆ อากาศเย็นๆ ชุ่มชื้นไปทั้งวันจากฝนที่ตกไม่หยุด บรรยากาศมืดครึ้ม มีความเย็น และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง เรียกว่า อากาศแบบเย็นชื้น

การกล่าวถึง “หน้าฝน” หรือฤดูฝน ส่วนใหญ่หมายถึง สภาพอากาศแบบเย็นชื้น อากาศเย็น ฝนตก มีความชุ่มชื้นมาก

ผลกระทบของความชื้นต่อสุขภาพ

เนื่องจากความชื้นจัดเป็นพลังยินและมีลักษณะหนัก พลังลงด้านล่าง ทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายในลักษณะต่างๆ คือ

1. ความชื้นทำลายพลังหยาง ทำให้ร่างกายสูญเสียพลังความร้อนของร่างกาย

2. ความชื้นทำให้เกิดสภาพหนักๆ หน่วงๆ เนื่องจากการไหลเวียนของพลังติดขัด เกิดความเหนียวหนืด เกาะแน่น การตกค้างของของเสีย ในระบบย่อยอาหาร (ย่อยยาก)

ร่างกายจะรู้สึกหนัก ถ้าเกิดเจ็บป่วยในช่วงนี้ เช่น เป็นหวัด หรือเป็นโรคกระเพาะอาหาร ไม่ย่อยจะหายยาก เพราะการกระจายตัวของพลังไม่ดี

3. อากาศที่ชื้น มีความเย็นผสม จะกระทบต่อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย เพราะความเย็นทำลายพลังปอด และบุกรุกเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง โดยผ่านลมและความเย็น เมื่อมีความชื้นร่วมด้วย การเกาะติดเกาะแน่นของความเย็นก็จะทำให้การขับเสียชี่ (ปัจจัยก่อโรค) ออกได้ยากขึ้น โรคจึงหายยากขึ้น

4. ความชื้นของอากาศที่เหมาะสมอยู่ที่ 40 – 60% ทำให้ร่างกายและการทำงานของระบบประสาท การปรับตัวทางสรีระอยู่ในภาวะเหมาะสม ถ้าความชื้นมากกว่า 65% จะทำให้

  • ไม่สบายตัว ตัวหนักๆ อาหารจะชื้นแฉะง่าย
  • จุลชีพบางอย่างแบ่งตัวขยายพันธุ์ได้ดี เช่น เชื้อรา
  • ความชื้น ความเย็น จะทำให้เกิดการปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว ยิ่งถ้าต้องสวมใส่เสื้อผ้าแห้งไม่สนิทหรือถูกละอองฝนที่มีความเย็นชื้น
  • การกระทบกระเทือนระบบย่อยอาหาร ทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย โดยเฉพาะถ้าปล่อยให้ความเย็นชื้นกระทบ ถูกฝนเป็นเวลานานๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกอยู่นาน

มีอะไรบ่งบออกว่า เรากระทบความชื้น หรือความชื้นกำลังรุกรานร่างกาย

ถ้ารู้สึกว่า…

1. ไม่ค่อยสดชื่น หนักศีรษะ มึนงง ตัวหนักๆ รู้สึกเกียจคร้าน

2. เบื่ออาหาร ท้องอืดแน่น หน่วงหนักท้องน้อย

3. รู้สึกเหนียวในคอ ลำคอมีเสมหะ

4. รู้สึกหนักแขน หนักขา

5. อุจจาระเหลว มีกากเหมือนอาหารไม่ย่อย

6. ปัสสาวะน้อย อาจมีลักษณะขุ่น ฝ้าบนลิ้นขาวบาง หรือขาวหนา

โรคที่โอกาสพบมากในฤดูฝน

1. โรคหวัด สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการแบ่งตัวของเชื้อโรค (ความเย็น ความชื้น) เช่น เชื้อไวรัส เชื้อรา เป็นต้น

2. โรคทางเดินอาหาร ความชื้นกระทบต่อระบบย่อยและดูดซึมอาหารโดยตรง ร่างกายมักเบื่ออาหาร (การทำงานของกระเพาะอาหารและม้ามลดลง) อาหารเกิดเชื้อราง่าย ถ้ารับประทานเข้าไป จะทำให้เกิดอาการท้องอืด เฟ้อ แน่นอึดอัด และอาหารไม่ย่อยและถ่ายเหลวได้

3. เกิดอาการปวดข้อ ปวดกระดูก ตัวหนัก เพราะการไหลเวียนของเลือดและพลังติดขัด เรียกว่า เกิดการกระทบลมเย็นชื้น (风寒湿)

4. เกิดอาการลมพิษ ผิวหนังอักเสบ (湿疹) จากความอับชื้นได้ง่าย

ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว

หลักการสำคัญ

  • หลีกเลี่ยงความเปียกชื้น ถ้ากระทบความชื้นต้องทำให้แห้ง หรือขับความชื้นให้เร็วที่สุด
  • ระมัดระวังระบบม้าม กระเพาะอาหาร หรือระบบย่อยอาหาร

1. หลีกเลี่ยงการถูกฝนหรือแช่อยู่ในความชื้นแฉะ นั่งในที่เปียกชื้น ถ้าร่างกายเปียกปอน หรือเสื้อผ้าอับชื้น ต้องรีบอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้ง เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

2. หลังอาบน้ำต้องเช็ดตัวให้แห้ง หลังสระผมต้องให้ผมแห้ง ก่อนหวีผมหรือนวดศีรษะเพื่อป้องกันความชื้นเข้าสู่บริเวณศีรษะ ห้ามนอนหลับในขณะที่ผมยังเปียก

3. เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าปูเตียง ถ้ามีจังหวะแดดออก ต้องรีบผึ่งแดด อย่าให้ความชื้นเกาะตัว เพราะจะทำให้เกิดเชื้อรา เชื้อโรคฟักตัวง่าย รวมทั้งเกิดภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบได้ง่าย

4. หลีกเลี่ยงการนอนในที่ต่ำ (โดยเฉพาะบ้านที่มีใต้ถันบ้าน) หรือบนพื้นกระดานบ้าน เพราะที่ต่ำและพื้นกระดาน พื้นปูนเป็นที่เก็บความชื้น (ความชื้นหนักจะตกลงพื้นล่าง) ที่นอนควรเป็นเตียง เป็นที่ยกสูงจากพื้นดินหรือพื้นบ้าน (มีระยะห่าง)

5. หลีกเลี่ยงการกินอาหารสด ผักสด รวมทั้งน้ำเย็น น้ำแข็ง เครื่องดื่ม ชาเขียว น้ำมะพร้าว สลัดผัก แตงโม ซึ่งมีลักษณะเย็น

เนื่องจากความชื้นในฤดูฝน ทำให้ระบบย่อยทำงานฝืด ไม่เต็มร้อย พลังการย่อยอาหารติดขัด เมื่อรับความเย็นหรืออาหารที่มีฤทธิ์เย็นเข้าไปจะยิ่งทำให้การย่อยดูดซึมอาหารลำบากขึ้น

ถ้าจะกินอาหารเหล่านี้ต้องปรับสภาพการปรุงอาหารให้มีลักษณะร้อนขึ้น เช่น การทำให้สุก ใช้การผัด รวมทั้งการเติมกระเทียม ขิง พริกไทย เพื่อลดความเย็นของอาหาร

6. ห้องนอน ห้องทำงาน ต้องให้มีการไหลเวียน ถ่ายเทของอากาศที่ดี พื้นห้องที่ชื้นแฉะต้องทำให้แห้ง

– เมื่อมีแดดออกต้องเปิดระบายอากาศ ความชื้น

– ถ้าภายนอกชื้นมาก อาจใช้การเปิดพัดลมโกรกพัดความชื้นในห้องทำงาน ห้องนอน หรือเปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อปรับสภาพการไหลเวียนอากาศ

ขจัดความชื้นที่จะเกาะกุม ตกค้างในห้องให้มากที่สุด

7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสหวาน มัน หนืด

เนื่องจากระบบย่อยอาหารทำงานไม่ดี นอกจากหลีกเลี่ยงอาหารฤทธิ์เย็นแล้ว ยังต้องหลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน อาหารทอดต่างๆ เพราะรสหวาน อาหารมัน จะทำให้เกิดความชื้นง่ายทำให้ระบบย่อยทำงานหนักขึ้นไปอีก (甜腻化湿)

8. ควรกินอาหารที่มีสรรพคุณขับความชื้น และอุ่นม้าม เช่น ถั่วแบน (扁豆) ฟักเขียว ลูกเดือย ถั่วเขียว ข้าวโพด หอมใหญ่ สมุนไพที่ดี เช่น ฝูหลิง (茯苓) ไป่จู๋ (白术) โสมตั่งเซิน

(党参) กานเจียง (干姜 ขิงแห้ง)

ยาขับชื้นมีสรรพคุณขับปัสสาวะมักมีฤทธิ์กลางๆ หรือเย็น ต้องเสริมการอุ่นม้าม กระเพาะอาหารด้วย ป้องกันฤทธิ์เย็นของยา

9. ตำรับยาจีนที่เกี่ยวข้อง

การกระทบลมเย็น รวมถึงอากาศที่ร้อนชื้นทำให้ชอบดื่มของเย็น และเกิดความชื้นติดขัดในระบบย่อยอาหาร ทำให้มีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้ กลัวหนาว ปวดศีรษะ ร่วมกับอาการแน่นในท้อง ในอก มีอาการอาเจียน ท้องเสีย ตรวจพบฝ้าบนลิ้นขาว เช่น คนที่โดนความเย็นและเสื้อผ้าเปียกชื้นแล้วเกิดอาการคล้ายหวัด ระบบย่อยแปรปรวน อาเจียน ถ่ายเหลว ตำรับยาจีนที่ใช้กันบ่อย คือ

ฮว่าเซียงเจิ้งชี่ส่าน (藿香正气散) ซึ่งมีตัวยาสำคัญ คือ

  • ฮว่าเซียง ( 藿香) ขับสลายความชื้นส่วนกลาง รักษาอาการแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน
  • ซูเย่ (苏叶) ขับความชื้นภายนอกจากอากาศที่มากระทบ
  • ไป่จู๋(白术) ฝูหลิง (茯苓) เสริมม้าม สลายชื้น หยุดถ่าย
  • เฉินผี (陈皮) ปั่นเซี่ย(半夏) สลายชื้นกระเพาะอาหาร แก้อาเจียน

หน้าฝนปีนี้กำลังมาเยือน ระมัดระวังป้องกันการรุกรานจากความชื้นความเย็น ดูแลระบบม้าม กระเพาะอาหารให้ดี จะทำให้สุขภาพดี ผ่านพ้นโควิด-๑๙และหน้าฝนปีนี้ไปได้อย่างสบายๆครับ