หน้าร้อน มีวิธีดูแลสุขภาพอย่างไร?

ในหน้าร้อนระบบการย่อยอาหารจะทำงานน้อยลง ทำให้ไม่ค่อยรู้สึกหิว การปฏิบัติตัวสำหรับการกินอาหารที่เหมาะสมในหน้าร้อนนั้น พอสรุปได้ ดังนี้

1. ข้าวต้มมื้อเช้า
ตอนตื่นนอน ท้องจะว่างเนื่องจากกระเพาะอาหารพร่อง ควรเริ่มต้นมื้อเช้าด้วยอาหารอ่อนๆ เพราะในหน้าร้อน ร่างกายได้รับการกระตุ้นจากความร้อนทั้งกลางคืนและกลางวัน ทำให้สูญเสียน้ำ การทำงานของระบบย่อยและดูดซึมอาหารลดลง จึงยิ่งต้องถนอมการทำงานของกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่จะย่อยสารอาหารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์แก่ร่างกาย ข้าวต้มอาจผสมถั่วเขียว, เมล็ดบัว หรือรากบัว ซึ่งเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและช่วยขับความร้อน เสริมระบบการทำงานของกระเพาะอาหารและม้าม

2. ควรกินผลไม้ที่แพทย์แผนจีนถือว่ามีคุณสมบัติเย็น ขับร้อน เพิ่มน้ำในร่างกาย
ผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็น เช่น แตงกวา, แตงโม, แตงไทย, มังคุด, สับปะรด, สาลี่ เป็นต้น เหมาะสำหรับ กินแก้กระหายและขับร้อนในร่างกาย แต่ไม่ควรแช่เย็นจัด หรือกินในตอนกลางคืน หรือขณะที่ท้องว่างหรือเวลาหิวจัด

3. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทฤษฎีแพทย์จีนถือว่ามีคุณสมบัติร้อน อาหารทอดๆ มันๆ แห้งๆ
ควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกทอดๆ มันๆ เช่น ถั่วทอด,  กล้วยแขก, ปาท่องโก๋, ไก่ทอด ฯลฯ หรืออาหารที่มีคุณสมบัติร้อน เช่น น้อยหน่า, ทุเรียน, ลิ้นจี่, ลำไย, ขนุน เป็นต้น โดยเฉพาะในขณะที่มีอาการคอแห้ง, คันคอ, เจ็บคอ หรือเป็นไข้ตัวร้อน ถ้าจะกินก็ควรกินแต่น้อย แล้วดื่มน้ำเกลือ (น้ำเปล่าผสมเกลือป่น) เพื่อดับความร้อน หรือกินอาหารที่มีคุณสมบัติเย็น ช่วยปรับสมดุล สิ่งที่ควรระวังอีกอย่าง คือ หน้าร้อนอาหารจะบูดเสียง่าย เนื่องจากเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีในอากาศร้อนชื้น ดังนั้นจึงควรจะระมัดระวังเรื่องการกิน ควรกินอาหารที่ทำสุกใหม่ๆ จะปลอดภัยกว่า

การ ดูแลสุขภาพ เด็กเล็ก

ในเด็ก การปรับตัวของร่างกายจะยังไม่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่ เด็กๆ จึงเจ็บป่วยได้ง่ายโดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความเอาใจใส่ดูแลลูกในเรื่องสำคัญๆ 4 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ

เรื่องเสื้อผ้า ควรเป็นประเภทผ้าฝ้ายที่ดูดซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี เสื้อผ้าของเด็กต้องหลวม ไม่คับ เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด และควรระวังเรื่องการอับชื้นจากปัสสาวะ เพราะจะทำให้ผิวหนังเกิดผดผื่นคันได้

เรื่องอาหาร ในหน้าร้อนระบบการย่อยอาหารจะทำงานน้อยลง (ตามที่กล่าวไว้ในข้อ 5) ร่างกายของเด็กยังอ่อนแอ และติดเชื้อได้ง่าย เพราะฉะนั้น อาหารจึงต้องสุกและสะอาดเสมอ น้ำแข็ง น้ำอัดลม ไอศกรีม ที่เป็นของโปรดของเด็กๆ ทุกคน ขณะเดียวกันความเย็นก็จะทำให้ระบบการย่อย การดูดซึมอาหารผิดปกติ จึงไม่ควรให้เด็กๆ กินบ่อย

ที่อยู่อาศัย การระบายความร้อนในห้องนอนมีความสำคัญต่อเด็กมาก ถ้าหากไม่มีเครื่องปรับอากาศ การใช้พัดลมต้องระมัด ระวังไม่ให้พัดลมถูกตัวเด็กโดยตรงไม่ควรให้เด็กนอนในที่เปียกชื้น บนพื้นปูน หรือพื้นที่เย็น ในกรณีที่เด็กมีเหงื่อออกมาก ต้องพลิกตัวเด็กบ่อยๆ เพื่อระบายความร้อนและใช้ผ้าผืนบางๆ เล็กๆ ปิดบริเวณหน้าอกและบริเวณท้อง เพื่อป้อง กันการกระทบความเย็น

การเดินทาง ในแสงแดดมีรังสีอินฟราเรดและรังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้น  เมื่อต้องเดินทางไปไหน โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกสวมหมวก ใส่เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว เพื่อช่วยป้องกันแสงแดด

หญิงตั้งครรภ์กับการปฏิบัติตัวในหน้าร้อน

ขณะตั้งครรภ์ การเผาผลาญพลังงานในร่างกายของผู้หญิงจะสูงกว่าภาวะปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้คลอด จึงทำให้มีอาการหงุดหงิด มีเหงื่อออก อ่อนเพลีย    และเกิดภาวะลมแดดง่ายกว่าคนปกติ อย่างไรก็ตาม ในผู้หญิงตั้งครรภ์ การสวมใส่เสื้อผ้าจะต้องมิดชิด และเพื่อป้องกันการกระทบความเย็น จึงควรหลีกเลี่ยงการเปิดพัดลมกระทบโดยตรง ขณะเดียวกันต้องป้องกันความร้อนอบอ้าวด้วย การระบายอากาศในห้องจึงต้องดี ไม่ควรนอนบนเสื่อที่เย็น และ ควรมีผ้าห่มคลุมกายเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ระวังอย่าให้เป็นหวัด ห้ามอาบน้ำร้อนจัดหรือเย็นจัดเกินไป เสื้อผ้าต้องหลวม ระบายอากาศดี ดูดซับเหงื่อได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ฯลฯ และผิวกายต้องสะอาดสะอ้าน อาหารที่กินต้องสดสะอาด และมีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ปลา นม ถั่ว ฯลฯ ผลไม้พวกแตง (แตงโม แตงกวา) รวมทั้งมะเขือเทศ ซึ่งมีฤทธิ์ขับร้อน หยุดกระหาย ก็มีความเหมาะสม (แต่ไม่ควรแช่เย็น) และควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทอุ่นร้อน อาหารและเครื่องดื่มที่ลดร้อนควรเป็นพวกถั่วเขียวต้ม ชาดอกเก๊กฮวย น้ำดื่มที่มีน้ำหวานและเกลือ (เกลือแร่) นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือ กาเฟอีน เพราะสามารถผ่านเข้าไปในรกได้ง่าย และยังผ่านไปยังเต้านมไปถึงทารกได้ด้วย

บุคคล 3 ประเภทที่ต้องระวังให้มาก

คนสูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ (คนสูงอายุมักมีระบบย่อยไม่ดีและความร้อนในร่างกายจะถดถอย เนื่องจากไตเสื่อมตามสภาพ)

คนที่มีสภาพของม้ามพร่อง (มีอาการการย่อยอาหารและการดูดซึมไม่ดี ท้องอืดง่าย)

คนที่มีสภาพของไตหยางพร่อง (มีอาการขี้หนาว แขนขาเย็น ลิ้นบวม และสีซีดขาว)

ผู้ที่มีลักษณะทั้ง 3 อย่างดังกล่าว เมื่อได้รับความร้อนจากแดดร้อน ถ้าดื่มน้ำเย็นหรือกินอาหารที่มีความเย็นมากเกินไป จะทำให้ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ผิดปกติได้ และเกิดความชื้นสะสมในร่างกาย อาการที่แสดงออก คือ ท้องเสีย ติดเชื้อง่าย ขี้หนาว ปวดหัว ตัวร้อนแต่ไม่สามารถขับเหงื่อได้ ปวดข้อและปวดตามกล้ามเนื้อ มักตรวจ พบว่า มีฝ้าสีขาวบนลิ้น
คิดว่าความรู้ต่างๆ เหล่านี้ คงทำให้ทุกคนผ่านพ้นหน้าร้อนปีนี้และทุกๆ ปีไปอย่างสุขกาย สุขใจ  ไร้ปัญหานะครับ 

ลักษณะธรรมชาติของความร้อน (ร้อนแดด)

1. มีลักษณะเป็นปัจจัยด้านหยาง (กระตุ้นการทำงานของร่างกาย) ดังนั้น เมื่อกระทบร่างกายจะแสดงออกไปทางด้านที่แกร่ง เช่น หัวใจเต้นแรงเร็ว หน้าแดง ร้อนหงุดหงิด

2. มีลักษณะกระจายตัวขึ้นส่วนบนของร่างกายทำให้สูญเสียน้ำในร่างกาย เช่น ทำให้รูขุมขนเปิด มีการระบายเหงื่อ (ช่วยระบายความร้อน = แพทย์แผนตะวันตก) จึงทำให้คอแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะเข้ม ปริมาณน้อย การสูญเสียสารน้ำจะทำให้สูญเสียพลังไปด้วย เพราะฉะนั้น ในคนที่ร่างกายอ่อนแอ (พลังพร่อง) อาจทำให้เป็นลมหมดสติได้

3. มีลักษณะอมความชื้น บางครั้งในฤดูร้อนอาจจะมีฝนตกร่วมด้วย (โดยเฉพาะตอนปลายฤดูร้อนเข้าต้นฤดูฝน) ซึ่งความชื้นนี้จะทำให้รู้สึกแน่นอึดอัดบริเวณท้องและทรวงอก เพราะไปกระทบระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหารของร่างกาย

หนังสือ “เซ่อ เซิง เซียวซิ ลุ่น” สมัยราชวงศ์หยวนได้บันทึกไว้ว่า “ฤดูร้อน ไฟหัวใจจะแกร่ง ไตจะอ่อนแอ ความร้อนภายนอกมีมาก ไม่สมควรกินน้ำแข็ง ข้าวหรือโจ๊กที่เย็นชืด เพราะท้องที่กระทบความเย็นมาก อาจทำให้ท้องเสีย ไม่ควรนอนกลางแจ้ง ท่ามกลางแสงจันทร์และแสงดาว การได้รับลมโกรกแรงและนานจะทำให้ลมเข้าสู่ส่วนลึกของร่างกาย เพราะฉะนั้น คนที่กินของเย็นร่วมกับการสูญเสียเหงื่อมาก เมื่อกระทบลมเย็นจะทำให้กล้ามเนื้อชาง่าย”

บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีดูแลสุขภาพหน้าร้อน

โรคที่มากับหน้าร้อน