สีอาหารสมุนไพร กับสรรพคุณบำบัดโรค (1)

สีของอาหารสมุนไพร กับสรรพคุณบำบัดโรค (ตอน1)

ในตำราสมุนไพรจีน  เปิ่นเฉ่ากังมู่ (本草纲目) ยังได้สาธยายเรื่องของสีอาหารกับสรรพคุณของสีต่อระบบการทำงานของร่างกาย รวมกับการวิจัยสมัยใหม่  เราจะพบว่า

สีแดง : แหล่งที่มาของพลังชีวิต ( 生命力量的来源)

  • สีแดง กระตุ้นความเมื่อยล้า อ่อนเพลีย  ความรู้สึกหนาวเย็น   เสริมความมั่นใจ  เติมเต็มพลัง
  • สีแดง กระตุ้นเมตาบอลิซึมของร่างกาย กระตุ้นการลดน้ำหนัก
  • สีแดง กระตุ้นการไหลเวียนเลือด เสริมภูมิคุ้มกัน ชะลอความแก่
  • ตัวอย่างเช่นเก่ากี้ (枸杞 ) มีฤทธิ์บำรุงกระตุ้นหยางทำให้ผิวพรรณนุ่มนวลเปล่งปลั่งถ้าได้แช่กับเหล้าจะยิ่งมีฤทธิ์กระตุ้นที่แข็งแรง

อาหารที่มีสีแดง  ได้แก่  แครอท, มะเขือเทศ, ถั่วแดง, มันเทศแดง, แอปเปิ้ลแดง,  พุทราจีน (สีแดง), ซานจา, เก่ากี้, สตอเบอร์รี่ เป็นต้น แต่การรับประทานอาหารที่มีสีแดงมากเกินไป จะทำให้อารมณ์ไม่สงบ, หงุดหงิด, โมโหง่าย จึงต้องระวังในคนที่นอนไม่หลับ  พลังหยางมากเกินไป

 

สีเหลือง : แหล่งวิตามินซีธรรมชาติ  บทบาทการซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกาย(天然的维生素C 源泉,修复作用)

สีเหลืองเป็นสีของระบบม้าม   ปัจจุบันพบว่า สีเหลืองเป็นแหล่งของสารแคโรทีน และวิตามินซี  บทบาทสำคัญ คือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ, เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย และปกป้องบำรุงผิวหนัง

ในมุมมองแพทย์แผนจีน การบำรุงสีเหลืองเป็นการบำรุงม้าม   ซึ่งเป็นที่ก่อเกิดสรรพสิ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการบำรุงร่างกายฟื้นฟูสมรรถนะของร่างกายและภาวะทางจิตใจ เป็นสีของการดำเนินสู่ภาวะปกติ เพิ่มเมตาบอลิซึมของร่างกาย ความต้องการมีสุขภาพที่ดี  จึงต้องบำรุงด้วยอาหารสีเหลือง

ตัวอย่างอาหารสีเหลืองที่กล่าวถึงในตำราสมุนไพรจีน “เปิ่นเฉ่ากังมู่”(本草纲目)  คือ ข้าวโพด มีฤทธิ์กลางๆ ไม่มีพิษ  ช่วยกระตุ้นกระเพาะอาหาร  ขับปัสสาวะและลดน้ำตาลในเลือด, ลดความดันโลหิต, ลดเบาหวาน (โดยเฉพาะหนวดข้าวโพดช่วยขับปัสสาวะ ลดความดัน เบาหวานได้ดี) นอกจากนี้อาหารสีเหลืองยัง ได้แก่  ขิงสด, ถั่วเหลือง, ส้มเช้ง, น้ำอ้อย, มะนาวสุก, ส้มโอ, ทุเรียน และขนุน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *