อาหารเพื่อสุขภาพ สำหรับอาการเจ็บคอ

อาการเจ็บคอ เป็นอาการเจ็บในคอ พบได้จากการอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังในผู้ป่วยคออักเสบ ทอนซิลอักเสบ ทอนซิลเป็นหนอง แผลอักเสบบริเวณคอ มักมีอาการบวมร่วมด้วย

มุมมองแพทย์แผนจีนพบว่า ส่วนใหญ่ของอาการเจ็บคอมาจากปัจจัยก่อโรคภายนอก คือ ลมและความร้อน (อากาศที่เปลี่ยนแปลง) จากภายนอกมากระทบร่างกาย หรือในมุมมองแพทย์ปัจจุบันร่างกายถูกโจมตีจากเชื้อโรค  เช่น  แบคทีเรีย

นอกจากนี้ยังเกิดจากเหตุภายใน คือ ไฟของกระเพาะอาหารและไฟของปอดทะลวงพุ่งสู่ด้านบน (เข้าบริเวณคอหอย) หรือจากภาวะยินพร่องเกิดไฟกำเริบ (ร่างกายขาดสารน้ำส่วนลึก ทำให้เกิดความร้อนภายใน)

หลักการทั่วไปในการดูแลและป้องการรักษาอาการคอแห้ง

  1. รับประทานอาหารที่มีรสจืด เช่น แห้ว , ถั่วเขียว ,หัวไชเท้า
  2. รับประทานผักผลไม้ที่มีส่วนประกอบของน้ำในปริมาณมาก   ได้แก่  แตงโม , บวบ ,หน่อไม้ , สาลี่ , แตงกวา
  3. รับประทานอาหารหรือสมุนไพรที่มีลักษณะขับลมขับความร้อน ให้ความชุ่มชื่นกับคอหอย   ได้แก่ แห้ว , มะเฟือง
  4. รับประทานอาหารหรือสมุนไพรที่มีคุณสมบัติขับระบายไฟของปอดและกระเพาะอาหาร  ได้แก่  มะระ , ดอกสายน้ำผึ้ง , ถั่วเขียว ,หล่อฮั่งก้วย
  5. รับประทานอาหารที่มีสรรพคุณเสริมยิน ขับไฟ   เช่น  ไป่เหอ (百合X  ,  เต้าหู้ , ซาเซิน(沙参)
  6. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อน  อาหารผัด , ทอด หรือแห้ง  เช่น   ลำไย , เนื้อสุนัข , เนื้อแพะ ,กุยช่าย ,พริกไทย ,พริก ,อบเชย รวมทั้ง เหล้า , ข้าวเหนียว

เครื่องดื่มสมุนไพรจีนบรรเทาอาการเจ็บคอ

เนื่องจากอาการเจ็บคอ เป็นอาการแสดงของไฟส่วนบน ( 上焦火 ) ของร่างกาย   และอาจเกี่ยวข้องกับไฟส่วนกลาง ( 中焦火 ) ซึ่งหมายถึงกระเพาะอาหารร้อน  หรือ ไฟส่วนล่าง (下焦火 ) ซึ่งมีอาการท้องผูกร่วมด้วย  หลักการใช้อาหารหรือยาสมุนไพรรวมทั้งเครื่องดื่ม  จึงต้องคำนึงถึงสรรพคุณที่สำคัญ คือ

  • ขับระบายความร้อน  ลดอาการอักเสบ อาการเจ็บคอ
  • ให้ความชุ่มชื่นแก่คอ  แก้อาการกระหายน้ำ
  • บางครั้งต้องมีฤทธิ์ช่วยระบายขับถ่ายอุจจาระ  แก้อาการไอ

ตำรับเครื่องดื่มสมุนไพร

ตำรับที่ 1 น้ำคั้นแห้วหัวไชเท้า

เหมาะสำหรับคนที่เจ็บคอที่มีการอักเสบร้อน ระบบย่อยไม่อ่อนแอ ขี้ร้อน  

สรรพคุณ  ขับร้อน(ลดอักเสบ)  ทำให้โล่งคอ ( 清热利喉 ) ลดอาการตาแดง    คออักเสบ

วัตถุดิบ   – แห้ว ( 荸荠 ) 500  กรัม, หัวผักกาดขาว(ไช่เท้า)สด ( 鲜萝卜 )  500 กรัม

วิธีปรุง     –     ล้างแห้ว , หัวผักกาดขาวให้สะอาด  ปลอกเปลือกออก  ตัดเป็นชิ้น นำไปปั่นในเครื่องปั่นผลไม้   จนเป็นน้ำผลไม้

วิธีรับประทาน   ครั้งละ 1 ถ้วยเล็ก  ประมาณ 30 ซีซี  วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร  ติดต่อกัน 3- 5 วัน

หมายเหตุ – แห้ว – ฤทธิ์เย็นมาก  รสหวาน  เข้าเส้นลมปราณปอดและกระเพาะอาหาร  เหมาะสำหรับอาการเจ็บคอจากลมร้อน)  

หัวผักกาดขาว  ฤทธิ์เย็น  รสหวาน  ขับร้อนสลายเสมหะขับพิษ

 ตำรับที่ 2 สาลี่ , เปลือกส้มเช้ง , น้ำตาลกรวด

เหมาะสำหรับคนที่เจ็บคอ   แต่มีระบบย่อยและดูดซึมอาหารไม่ดี   หนาวง่าย  ท้องอืด

สรรพคุณ  สาลี่  มีฤทธิ์เย็น   รสหวานเปรี้ยว  มีคุณสมบัติขับร้อนทำให้ปอดชุ่มชื้น  แก้กระหายน้ำ  ลดอาการร้อน หงุดหงิด

น้ำตาลกรวด  ฤทธิ์ค่อนเย็น  มีฤทธิ์บำรุงพลังส่วนกลาง  เสริมยินบำรุงปอด  แก้ไอขับเสมหะ

เปลือกส้มเช้ง  ฤทธิ์อุ่นรสเผ็ดขม   ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร  ป้องกันอาการพลังติดขัดจากความเย็นของสาลี่และน้ำตาลกรวด

วัตถุดิบ  –  สาลี่  1     ลูก, เปลือกส้มเช้ง  20 กรัม, น้ำตาลกรวดพอประมาณ

วิธีปรุง

  • หั่นสาลี่ไม่ต้องปลอกเปลือกเป็นชิ้นๆ
  • หั่นเปลือกส้มเช้ง  เป็นแผ่นเล็กๆ
  • ใส่สาลี่และเปลือกส้มต้มด้วยกันในหม้อที่เติมน้ำไว้  ประมาณ     500 ซีซี
  • ต้มจนน้ำเดือด และ หรี่ไฟอ่อนๆ ต้มต่ออีก 15 นาที
  • เติมน้ำตาลปรุงรสตามต้องการ

วิธีรับประทาน ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น     แบ่งดื่มเป็น 3 มื้อ

หมายเหตุ เครื่องดื่มสมุนไพรแก้อาการเจ็บคอ  มักมีฤทธิ์เย็น  ต้องระมัดระวังในคนที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี  หนาวง่าย   บางครั้งต้องนำมาทำให้อุ่นก่อนรับประทาน   เพื่อลดฤทธิ์ความเย็นของยา