โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง กับการรักษาแบบแพทย์แผนจีน

โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส (myasthenia gravis) หรือ ‘โรคเอ็มจี’ เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อเล็กๆ บริเวณใบหน้า โดยอาการทั่วไปนั้น ผู้ป่วยบางคนมีอาการหนังตาตก ถ้าเป็นมากอาจจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั่วตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการหายใจ ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงทั่วๆ ไป กลืนลำบาก สำลักอาหาร ถ้าเป็นมากอาจถึงกับหายใจไม่ได้

ลักษณะสำคัญของโรคนี้คือ เป็นโรคเรื้อรัง อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเป็นๆ หายๆ ชนิดที่พบบ่อยที่สุด จะเกิดในผู้ใหญ่ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ถ้าอาการเริ่มเป็นหลังอายุ 40 ปี จะพบในเพศชายมากกว่าหญิง โรคนี้พบร่วมกับโรคลูปุส เช่นเดียวกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เดิมทีเดียวโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงนี้ ถือเป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงมากตั้งแต่ร้อยละ 30-70 แต่หลังจากการค้นพบยาซึ่งสามารถรักษาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ รวมทั้งพบว่าผลการรักษาโดยการผ่าตัดต่อมไธมัสได้ผลดี จึงทำให้อัตราการตายของผู้ป่วยโรคนี้ลดลงเรื่อยๆ

โรคนี้มีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ ๆด้วยกันคือประเภทที่เป็นเฉพาะที่คืออาจจะเป็นที่ตา ทำให้ไม่มีแรงลืมตา หนังตาตก อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง ทำให้มีลักษณะคล้ายคนง่วงนอน เห็นภาพซ้อนจากกล้ามเนื้อตาที่อ่อนแรง ถ้าพูดถึงตามหลักการแพทย์แผนจีนนั้นก็เหมือนกับการที่ร่างกายใช้พลังไประยะหนึ่ง อย่างเช่นในขณะที่เพิ่งตื่นนอนก็ยังไม่เท่าไหร่  แต่พอเราออกกำลังกายหรือใช้พลังไปสักระยะหนึ่ง พลังก็ตก ทำให้ตาลืมไม่ขึ้น 

บางคนก็มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการกลืน ทำให้กลืนอาหารไม่ได้ เคี้ยวข้าวก็ลำบาก บางครั้งมีอาการสำลักอาหารบ่อยๆ  ถ้าเป็นมากกว่านั้น ก็จะเป็นเกี่ยวกับกล้ามเนื้อแขนและขา อย่างอาการที่พบบ่อยๆเช่น ไม่สามารถหวีผมได้ หรือเอื้อมมือไปหยิบของที่ชั้นวางของสูงๆ ขึ้นบันไดลำบาก ไม่สามารถนั่งยองได้ และในบางครั้งจะต้องโหนตัวเวลาลุกจากเก้าอี้นั่ง แขน ขาไม่มีแรง เดินไม่ได้ และถ้าจะเป็นมากกว่านั้นก็จะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อกระบังลม  ทำให้คนไข้อาจจะหายใจไม่เข้า   อันนี้อันตรายถึงชีวิตได้

สาเหตุการเกิดโรค

สาเหตุจากตัวรับสารเคมีสัญญาณจากปลายประสาทที่ส่งไปยังตัวรับบริเวณกล้ามเนื้อลายเสื่อม  ตัวรับๆสารเคมีสัญญาณได้น้อยลง   กล้ามเนื้อก็ไม่ทำงาน ก็จะทำให้ลืมตาไม่ขึ้นการกลืน การพูดลำบาก แขนขาอ่อนแรงนั่นเอง

แนวทางการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

สำหรับคนไข้ที่เป็นในกลุ่มที่เป็นที่ตาและปากนั้น บางคนก็ยังมีการตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีอื่นได้ดี เช่น การกินยาสมุนไพรและฝังเข็มมีส่วนช่วยให้ดีขึ้น แต่ในรายที่เป็นทั้งตัว มีอาการรุนแรงอาจจะต้องใช้การผ่าตัดเพื่อตัดต้นตอของความผิดปกติทางภูมิคุ้มกันในการรักษาชีวิต ร่วมกับการผสมผสานด้วยการรักษาแบบแพทย์แผนจีนแผนในการปรับสมดุลระยะยาว

การแพทย์แผนจีน มองว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ พบว่าคนที่เป็นที่ตากล้ามเนื้อตาลืมไม่ขึ้น การกลืนลำบาก  บริเวณเปลือกตาของคนเราเกี่ยวข้องกับระบบม้ามคือระบบการย่อยดูดซึม    ม้ามทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับเรื่องของกล้ามเนื้อ 脾主四肢,主肌肉 ส่วนตาของคนเราแบ่งเป็น 5 จักระ  จักระที่อยู่นอก ที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อของตาเกี่ยวกับม้ามและอวัยวะดูดซึม(肉轮=จักระเนื้อ) ถ้าคนที่การดูดซึมไม่ดี กล้ามเนื้อก็จะอ่อนแรง  พลังกล้ามเนื้อบริเวณนี้ก็จะตกไป  แพทย์แผนจีนจะเสริมตรงนี้ แล้วใช้ยาเข้าไปดึงพลังขึ้นข้างบน  เพราะตำรับยาจีนจะมียาบางตำรับที่กินแล้วให้พลังแล้วดึงขึ้นข้างบนเรียกตำรับนี้ว่า “ปู่จงยี่ชี่ทัง” 补中益气汤

หลักการในการรักษากลุ่มนี้ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีอาการรุนแรง แพทย์จีนจะใช้วิธีการความสมดุลทางร่างกายเป็นหลัก พลังไหลเวียนของเยิ่นม่ายมีการติดขัด ถ้ามีการกระตุ้นการไหลเวียนส่วนนี้ขึ้นมาได้ จะลดการใช้ยาได้ ถ้ารุนแรงมากต้องใช้การผ่าตัดช่วย

อย่างไรก็ตามในคนไข้แต่ละคนก็อาจจะมีความแตกต่างกันตามพื้นฐานในร่างกาย  การรักษาจะเน้นภาวะหยิน หยาง เลือดและพลังของเขาเป็นหลัก (รวมถึงการขับปัจจัยก่อโรค เช่นเสมหะ ความชื้น เลือดอุดกั้น ฯลฯ ) เพราะว่าเมื่อคนไข้ออกกำลังแล้วอาการเป็นมากขึ้น ตรงกับทางแพทย์แผนจีนเรียกว่าพลังพร่อง  ฉะนั้นถ้าปรับสมดุลของร่างกายได้อย่างดีแล้ว  บางทีอาการที่เป็นน้อยๆ ก็อาจจะดีขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นมากปรับสมดุลแล้วไม่ดีขึ้น ต้องระวังอันตรายของโรคนี้ อาจถึงขึ้นวิกฤติ คนไข้ถึงขนาดหายใจติดขัดก็จะต้องใช้การผ่าตัดแล้วค่อยมาเยียวยาฟื้นฟูในการรักษาแบบแพทย์แผนจีนเป็นการผสมผสานกันไปก็จะทำให้คนไข้มีอาการดีขึ้นย่างรวดเร็วกว่าทำให้การใช้ยาเคมีลดน้อยลง

หลักการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรค

หมั่นดูแลเรื่องระบบย่อย (ม้ามพร่อง) เป็นสำคัญ  นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของจิตใจ ลดการกินน้ำเย็นให้น้อยลง นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ สำหรับคนที่มีภาวะความกดดันมากก็มีผลทำให้เป็นโรคนี้ได้ เพราะจะทำให้ภูมคุ้มกันอ่อนแอ และถ้าเป็นโรคแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือตั้งสติ อย่าตกใจ สร้างพลังให้กับตัวเองเพื่อพร้อมที่จะสู้กับโรคฯได้อย่างเข้มแข็งต่อไป