แพทย์แผนจีน กับการรักษาเบาหวาน

หลักการรักษาเบาหวานของแแแพทย์แผนจีน คือ ต้องเสริมยิน สร้างสารน้ำ และทำให้ชุ่มชื้นขจัดแห้ง ขับร้อน ขับพิษ เป็นหลัก เวลารักษาต้องคำนึงถึงปอด กระเพาะอาหาร และไตควบคู่กัน

  • รักษา “ซ่างเซียว”  เบาหวานส่วนบน ให้ความชุ่มชื้นแก่ปอด ร่วมกับขับร้อนของกระเพาะอาหาร
  • รักษา “จงเซียว” เบาหวานส่วนกลาง ให้ขับร้อนของกระเพาะอาหาร เสริมบำรุงไต
  • รักษา “เซี่ยเซียว”  เบาหวานส่วนล่าง ให้บำรุงไต และเสริมการบำรุงปอด
  • ถ้ามีพลังและยินพร่อง ต้องเสริมพลังและบำรุงยิน
  • ถ้ามียินและหยางพร่อง ต้องบำรุงยินและหยางคู่กัน
  • ถ้ามีเลือด เสมหะอุดกัน ต้องสลายการอุดกันกระจายเลือด

ชนิดของเบาหวานและตำรับยาจีนรักษาเบาหวานเป็นอย่างไร

แบ่งเป็นประเภทๆ ใหญ่ ๓ แบบ

๑. เบาหวานส่วนบน (ซ่างเซียว) ปอดร้อนขาดสารน้ำ
อาการ : คอแห้ง กระหายน้ำมาก ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ร่วมกับน้ำหนักลด ซูบผอม ปัสสาวะบ่อยและมาก
การตรวจ : ขอบลิ้น ปลายลิ้นแดง ฝ้าเหลืองขาว ชีพจรแรง เต็ม เร็ว
ตำรับยา : อวี้เฉวียนหวาน

๒. เบาหวานส่วนกลาง (จงเซียว) กระเพาะอาหารร้อนแกร่ง
อาการ : กินมาก หิวง่าย อุจจาระแห้ง ร่วมกับร่างกายซูบผอม
การตรวจ : ฝ้าเหลืองแห้ง ชีพจรลื่น แรง
ตำรับยา : อวี้หนี่วเจียน

๓. เบาหวานส่วนล่าง (เซี่ยเซียว)

๓.๑ ไตยินพร่อง
อาการ : ปัสสาวะบ่อย ปริมาณมาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และร้อนบริเวณหน้าอก
การตรวจ : ลิ้นแดง ชีพจรจม เล็ก เร็ว
ตำรับยา : ลิ่วเว่ยตี้หวงหวาน

๓.๒ ไตยิน ไตหยางพร่อง
อาการ : ปัสสาวะบ่อย (ดื่ม ๑ ส่วน ปัสสาวะ ๒ ส่วน) กลัวเย็น กลัวหนาว ร่วมกับปัสสาวะขุ่นขาว ใบหน้าดำคล้ำ ใบหูแห้ง เอว เข่าปวดเมื่อย เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
การตรวจ : ลิ้นซีด ฝ้าขาว ชีพจรจม เล็ก ไม่มีแรง
ตำรับยา : เสิ่นชี่หวาน

สรุป
เบาหวาน ในศัพท์แพทย์แผนจีน มีชื่อว่า “เซียวเข่อ” มีอาการดื่มมาก กินมาก ปัสสาวะมาก ซูบผอม สาเหตุพื้นฐานเกิดจากยินพร่อง ร่วมกับวิถีการดำเนินชีวิตไม่ได้สมดุล โดยเฉพาะจากอาหารการกิน อารมณ์ ความเครียด และมีเพศสัมพันธ์ที่มากเกินไป ผลที่ตามมาคือ ยินพร่องมีความร้อนแห้งในอวัยวะภายใน ตามด้วยการพร่องของยินและพลัง และท้ายสุดคือ การเสียทั้งไตยิน ไตหยางของร่างกาย ภาวะแห้งร้อนและยินพร่อง ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการแสดงออกมากมาย รวมทั้งเกิดเสมหะและเลือดอุดกั้น มีอาการแทรกซ้อนมากมาย เช่น ที่ตา (ต้อกระจก) ที่หู (หูอื้อ) หูมีเสียง ที่ปลายมือปลายเท้า หัวใจ ไตเสื่อม ไตวาย แผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง เป็นต้น

เบาหวานแสดงออกของโรคมี ๓ ตำแหน่ง เกี่ยวข้องกับปอด กระเพาะอาหาร และไต จึงต้องแบ่งเบาหวานเป็น ๓ ช่วงบน คือ ช่วงบน ช่วงกลาง และช่วงล่าง มีอาการร้อนแห้ง เป็นปรากฏการณ์ แต่ธาตุแท้คือ ยินพร่อง

หลักการรักษา คือ บำรุงยินทำให้เกิดสารน้ำ เสริมความชุ่มชื้น ขจัดความแห้ง และขับความร้อน ปรับเปลี่ยนยาให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายแต่ละบุคคล ร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อให้การรักษาดีขึ้น ขณะเดียวกันต้องระวังภาวะเบาหวานรุนแรงจนทำให้หยางแยกตัวจากยิน จนเกิดภาวะหมดสติ อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการควบคุมอาการด้วยยาแผนปัจจุบันค่อนข้างคุมได้รวดเร็ว เพราะทำให้กระตุ้นการสร้างอินซูลินมากขึ้น หรือใช้ฉีดอินซูลินเข้าทดแทน แต่ในแพทย์แผนจีนมุ่งเน้นการปรับสมดุลของร่างกายเป็นหลัก เพื่อให้อวัยวะจั้งฝู่ทำงานปกติ เกิดสมดุลและสามารถสร้างอินซูลินได้มากขึ้น ทำให้สามารถลดยาเบาหวานทางแพทย์แผนปัจจุบันลงได้ แต่ในรายที่ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เลย จำเป็นต้องฉีดอินซูลินทดแทน เพราะการปรับสมดุลเพื่อให้ตับอ่อนที่ไม่ทำงานสร้างอินซูลินยังเป็นเรื่องที่คาดหวังได้ยากให้ทำงานปกติ

หลักการรักษาที่ดีที่สุด คือ แบบผสมผสาน ระยะแรกต้องควบคุมน้ำตาลในเลือดด้วยยาแผนปัจจุบัน แล้วให้ยาสมุนไพรจีนร่วมกับในการปรับสมดุลร่างกายและร่วมกับการควบคุมปัจจัยอาหาร อารมณ์ เพศสัมพันธ์ให้สมดุล ตรวจเช็กน้ำตาลในเลือดควบคู่กันไป ถ้าระดับน้ำตาลและสภาพร่างกายดีขึ้น (ตรวจแบบแพทย์แผนจีนและอาการแสดงออกดีขึ้น) ก็อาจพิจารณาลดยาเบาหวานลงตามความเห็นของแพทย์ ไม่ควรหยุดยาควบคุมน้ำตาลทันที ในขณะที่ร่างกายยังไม่สามารถสร้างสมดุล หรือการทำงานของตับอ่อนยังไม่ดีขึ้น ผลการรักษาได้ผลดีหรือไม่ขึ้นกับหลายปัจจัย แต่โดยภาพรวม ควรรักษาโรค (ควบคุมน้ำตาล=แผนปัจจุบัน) และรักษาคน (ปรับสมดุล=แพทย์แผนจีน) ควบคู่ไปด้วยกัน