ซุนซือเหมี่ยว กับเคล็ดลับสุขภาพ

ซุนซือเหมี่ยว (คศ.541 – 682) แพทย์จีนนามอุโมษแห่งราชวงศ์ถัง  เป็นแพทย์จีนและนักพฤกษศาสตร์เกี่ยวกับสมุนไพรที่ยิ่งใหญ่ของจีนและระดับโลก  มีฉายาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชาแห่งสมุนไพร”  (药王)  และ “หมอเทวดา” (神医) เป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคเรื้อน (麻风病), เป็นผู้กำหนดวิธีการหาจุดฝังเข็ม, การใช้รกของเด็กทารกบดเป็นผงรักษาโรค, การใช้ตับรักษาโรคตา, การใช้ต่อมไทรอยด์ของแพะรักษาโรคไทรอยด์โต (รากฐานความคิดใช้เซลล์รักษาเซลล์ในปัจจุบัน)

ซุนซือเหมี่ยว (孙思邈) กับแนวคิดการ “ถนอมรักพลัง” (爱气) 

ถ้าองค์รวมของมนุษย์เสมือนกับประเทศชาติแล้วไซร์ ความคิดและจิตวิญญาณ (神) ก็เปรียบเสมือนหนึ่งพระราชา  ประชาชนของประเทศจะเปรียบเสมือนชี่ (气พลัง) นั่นเอง

การปกครองประเทศให้สงบสุข จะต้องถนอมรักประชาชน (爱民) การดูแลสุขภาพก็เช่นเดียวกัน ต้องถนอมรักชี่(พลัง爱气) เพราะพลัง คือ สิ่งขับเคลื่อนชีวิต พลังของร่างกายจะเสื่อมถอยลดน้อยลงตามกระบวนการวิถีธรรมชาติของชีวิต ดังนั้นการเสื่อมชราภาพเป็นผลจากการเสื่อมถอยของพลังของร่างกายนั่นเอง

คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง (黄帝内经) ได้บรรยายสภาพการเสื่อมถอยของร่างกายไว้ว่า

                “อายุ 40 ปี พลังชีวิตลดเหลือครึ่ง เริ่มต้นความเสื่อม…อายุ 50 ปี ตัวจะหนัก ร่างกายและสายตาจะไม่ค่อยฉับไว…อายุ 60 ปี อวัยวะสืบพันธุ์ห่อเหี่ยว พลังถดถอยอย่างมาก ทวารทั้ง 9 ตอบสนองไม่ไว”

                การดูแลสุขภาพในทัศนะของซุนซือเหมี่ยว(孙思邈) คือ ต้องรู้จุดมุ่งหมายของการดูแลสุขภาพ คือการดูแลถนอมรักพลังชี่ (爱气) ดังคำกล่าวที่ว่า “รู้ก็จะแข็งแกร่ง ไม่รู้ก็จะเสื่อมชรา” (知则之强,不知则老)

                การถนอมพลังชี่ได้ดี มีพลังชี่มากพอก็จะทำให้การได้ยินด้วยหูดี การมองเห็นด้วยตาแจ่มชัด ร่างกายแข็งแรงคล่องตัว ความคิดอ่านว่องไว ซึ่งหมายถึง การมีชีวิตที่ยื่นยาวบนพื้นฐานสุขภาพที่แข็งแรง สติปัญญา ความคิดอ่านทางจิตใจและวิญญาณยังทำงานได้ดีนั่นเอง

วิธีการถนอมรักพลัง ดูแลพลังของซุนซือเหมี่ยว

1. ต้องรู้จักความสัมพันธ์ของ จิง – ชี่ – เสิน (精,气,神) ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิต

– จิง (精) สามารถแปรเปลี่ยนเป็นชี่ (气พลัง )  ชี่สามารถทำให้เกิดจิง (精)

– ทั้งจิงและชี่ เป็นสสารหรือองค์ประกอบพื้นฐานของเสิน (神)

จิง หมายถึง อาหารที่กินเข้าไปแล้วถูกย่อยสลายเป็นส่วนอณูเล็กๆ (กลูโคส, กรดอะมิโน, แร่ธาตุ ฯลฯ) ที่สามารถดูดซึมและหล่อเลี้ยงบำรุงร่างกาย (จิงจากอาหาร) ยังหมายถึงสารชีวเคมี ฮอร์โมน น้ำย่อย ฯลฯ ที่ควบคุมการทำงานของสรีระร่างกาย (จิงที่มีอยู่เดิมของร่างกาย) ซึ่งจิงจากอาหารกับจิงของร่างกายจะเกี่ยวข้องหนุนเสริมซึ่งกันและกัน (การสร้างสารจิงจากอาหาร ต้องอาศัยการขับเคลื่อนของจิงพื้นฐานในร่างกาย     การชดเชยจิงพื้นฐานใของร่างกายก็ต้องอาหารจิงจากอาหารมาสร้างเสริม)

– การใช้ความคิดมากเกินควร   จิตที่ไม่สงบ คือการทำลายจิงและชี่

– การควบคุมจิตอารมณ์  จึงเป็นการควบคุมจิงและชี่

2.  ใช้วิธีการที่แตกต่างกันตามสภาพของฤดูกาล มาดูแลควบคุมชี่ของร่างกาย (依时摄养) ตัวอย่าง เช่น

  • ฤดูใบไม้ผลิ  เป็นพลังของการเกิด (生之气)  พระอาทิตย์ขึ้นแต่เช้าตรู่ และตะวันลับฟ้าค่อนข้างสาย กลางวันเริ่มจะยาว การนอนสามารถนอนดึกได้บ้าง แต่ไม่เลย 5 ทุ่ม  ตื่นนอนแต่เช้า เมื่อฟ้าเริ่มสว่าง ไม่นอนตื่นสาย ออกกำลังกายด้วยการเดินเบาๆ เพื่อกระตุ้นพลังของร่างกาย ผ่อนคลายอารมณ์ไม่ปิดกั้นพลังที่กำลังเกิด ต้องทำสิ่งดีงามด้วยการให้ทาน, ช่วยเหลือ เพื่อช่วยให้พลังร่างกายแผ่กระจายสู่ภายนอก สอดคล้องกับฤดูกาล
  • ฤดูร้อน เป็นช่วงที่พลังธรรมชาติกำลังแผ่กระจาย (长之气) ควรตื่นนอนแต่เช้า ตื่นนอนเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อเก็บรับพลังหยาง ซึ่งมีความสำคัญ แต่หัวใจของการควบคุมชี่ในฤดูนี้คือ อย่าโมโหหรือโกรธ เมื่อประสบกับปัญหาอุปสรรค  ต้องทำจิตใจให้สุขุมเยือกเย็น ควบคุมพลังอย่าให้กระจายออกมากเกินไป (จะทำให้หัวใจและสมองขาดเลือดได้) เพราะจะสูญเสียชี่อย่างรุนแรง
  • ฤดูใบไม้ผลิ เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยว พลังธรรมชาติอยู่ระหว่างช่วงเวลาของการเก็บ (收之气)

                –  ต้องนอนแต่หัวค่ำ, ตื่นแต่เช้า (เช่นเดียวกับนก)

                –  การควบคุมจิตใจ ไม่ควรออกกำลังกายมากเกินไป (กระจายพลังซี่) และไม่ควรปล่อยให้จิตใจหดหู่จนเกินไป เพราะถ้าพลังเก็บมากไปหรือกระจายมากเกินไป จะทำให้พลังปอดอ่อนแอ ทำให้มีปัญหากับระบบทางเดินหายใจได้ง่าย

  • ฤดูหนาว  เป็นช่วงของการสะสม (闭藏) พื้นดินปกคลุมด้วยความเย็นและน้ำแข็ง  สัตว์ทั้งหลายเก็บตัว บ้างก็จำศีลเพื่อถนอมการสูญเสียพลัง เป็นช่วงของการสะสมพลัง (藏之气)

การดำเนินชีวิต  ควรนอนแต่หัวค่ำ ตื่นนอนสาย (กลางคืนยาว กลางวันสั้น) รักษาความอบอุ่น ห้ามเสียเหงื่อ ป้องกันการกระทบความเย็น ทำจิตใจให้สงบ ห้ามโกรธ โมโห เพราะจะสูญเสียพลัง

การถนอมพลัง (ซี่) ซึ่งเป็นห่วงโซ่สำคัญของการเคลื่อนไหวของร่างกายและจิตใจ คือหัวใจของการรักษาสุขภาพ การมีชีวิตที่ยืนยาว..

การเข้าใจวิถีพลังของธรรมชาติ และดำเนินวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของมัน จึงเป็นวิธีการถนอมพลังที่ดีที่สุด