แก่นแท้ของการดูแลสุขภาพ แบบแพทย์แผนจีน

ความสนใจในคุณค่าการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย มีอายุยืนยาว มักจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดจากการเจ็บป่วย หรือเมื่ออยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตถูกคุกคามด้วยโรคร้าย เรียกว่า ต้องเห็นโลงศพจึงหลั่งน้ำตา

คนเราเมื่อยามสุขภาพไม่ดี ก็จะเห็นว่าสุขภาพมีความสำคัญ เมื่อยามที่จะต้องสูญเสียชีวิต ก็จะเห็นว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง

การปล่อยปละละเลยต่อการดำเนินชีวิต ไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ แห่งธรรมชาติ ละเมิดวิถีแห่งธรรมชาติ จะทำให้ร่างกายทรุดโทรมเสื่อมถอย โรคภัยไข้เจ็บคุกคามเมื่อย่างเข้าสู่ ภาวะเสื่อมถอย

คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง (黄帝内经) ได้กล่าวถึง แก่นแท้หรือหลักการดูแลสุขภาพไว้อย่างน่าสนใจ ควรแก่การศึกษา

แก่นแท้หรือหลักการดูแลสุขภาพ

เมื่อพลังเจิ้งชี่ยังดำรงอยู่ ปัจจัยก่อโรคก็มิอาจกระทำต่อร่างกายได้(正气存在,邪不可干)ธรรมชาติได้ให้เทียบเท่ากันของทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส พืช สัตว์ รวมถึงมนุษย์ ทุกชีวิตดำรงอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ทำไมคนเราจึงไม่ติดเชื้อโรค หรือเป็นโรคทั้งๆที่มีเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ฯลฯ อยู่ในสิ่งแวดล้อม รายล้อมร่างกายเล่า?

แพทย์แผนจีนมองว่าในภาวะปกติ พลังเจิ่งชี่(正气)ของร่างกายยังอยู่ในภาวะที่ดำรงอยู่ร่วมกันได้กับแบคทีเรีย และไวรัสหรือสิ่งก่อโรคอื่นๆ แต่เมื่อใดตามร่างกายอ่อนแอลง พลังเจิ้งชี่ไม่อาจต้านทานการบุกรุกของเชื้อโรค ก็จะเกิดปัญหาโรคภัยไข้เจ็บตามมาทันที

ร่างกายมนุษย์เปรียบเสมือนกับประเทศชาติ ภาวะสมดุลของร่างกาย คือ ภาวะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ จะต้องมีการพัฒนาที่สมดุล มั่งคง เข้มแข็ง ศัตรูภายนอกก็ไม่สามารถรุกรานได้ง่าย

ภาษิตของจีนได้กล่าวว่า ”พังพอนเจาะจงที่จะกัดกินไก่ที่เจ็บป่วย”(老黄鼠子专咬小病鸡)เทียบเกี่ยวกับปัจจัยก่อโรคทั้งหลาย จะมุ่งโจมตีคนร่างกายอ่อนแอ ปัจจัยก่อโรคที่บุกรุกจากภายนอก ในความหมายแพทย์แผนจีนของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (มีเชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัส ที่เรามองไม่เห็น แต่มีการแปรเปลี่ยนแพร่พันธุ์ แบ่งตัวตามสภาพอากาศ) คือ ลม ความแห้ง ความเย็น ความร้อน ความชื้น ไฟ สภาพอากาศเหล่านี้ เมื่อสัมผัสกับความรับรู้ของผิวหนัง และาการหายใจ (ผิวหนังกับปอดเกี่ยวข้องกัน)จะบุกรุกและก่อโรคกับร่างกาย

คัมภีร์หวงตี่เน่ยจิง (黄帝内经) ยังได้เปรียบเทียบสภาพต้นไม้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศไว้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น

ต้นไม่ที่ผลิใบผลิดอก เร็วเกินไป เมื่อกระทบกับลมและน้ำค้าง จะร่วงหล่นได้ง่าย

ต้นไม้ที่เปลือกบางอมน้ำ ถ้าถูกกระทบกับฝนและอากาศที่มีความชื้น จะเน่าง่าย

ต้นไม้ที่เพิ่งเริ่มเจริญเติบโต ถ้าโดนลมแรงจะหักง่ายรากจะโยกคลอน ใบจะร่วงหล่น

จะเห็นว่าลักษณะต้นไม้ที่มีพื้นฐานเนื้อแท้ที่ต่างกันเมื่อกระทบการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่ต่างกัน จะทำให้เกิดปัญหาที่ต่างกัน เช่นเดียวกับร่างกายมนุษย์ของแต่ละคน มีพื้นฐานสภาพร่างกายไม่เหมือนกัน จะมีจุดอ่อนเมื่อกระทบกับสภาพแวดล้อมแบบเฉพาะที่ต่างกัน

เสริมสร้างเจิ้งชี่ภายใน , หลีกเลี่ยงเสียชี่(ปัจจัยก่อโรค)จากภายนอก(内养正气,外避邪气)

จะดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงได้ ต้องยึดหลักการ 3 ประการ

1. ให้ความสำคัญการปรับสมดุล ของจิตอารมณ์ เนื่องจากอารมณ์ของเราดีสัมพันธ์เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับอวัยวะภายใน การเคลื่อนไหวของพลังในร่างกาย การกระตุ้นทางอารมณ์ต่างๆ จะมีผลต่อกลไกการเคลื่อนไหวของพลังและเลือดของอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลของเลือด พลัง และยินหยาง

การฝึกควบคุมอารมณ์ไม่ให้แปรปรวนตามการกระตุ้นสิ่งภายนอก จึงมีความสำคัญมาก พยายามสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี คบค้ากับกัลยาณมิตร สร้างครอบครัวที่อบอุ่น ฯลฯ ที่สำคัญต้องควบคุมจากภายใน ต้องปรับทัศนคติมองโลกในแง่ดี การสงบสติอารมณ์ รู้จักปล่อยว่าง ไม่เห็นแก่ตัว ควบคุมอามรณ์ สร้างคุณธรรม ให้อภัยให้โอกาสผู้อื่น ซึ่งทั้งหมดทำไปสู่ภาวะทางจิตใจ ที่ผ่อนคลาย ละทำให้อวัยวะภายในมีการไหลเวียนเลือดและพลังที่สมดุล สุขภาพที่ดี

2. ให้ความสำคัญกับการกิน การดื่ม การนอน การตื่น การทำงาน การพักผ่อน เรื่องเพศสัมพันธ์ที่เหมาะสมพอเหมาะมีกฎเกณฑ์ และเป็นธรรมชาติ

– สนใจการกิน ความอิ่ม ความหิวที่เหมาะสม ไม่อิ่มเกิน ไม่หิวเกิน เลือกอาหารรสชาติทั้ง5 ไม่รับประทานรสชาติหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง รักษาสุขอนามัย ระวังรักษาระบบย่อยและดูดซึม (กระเพาะอาหารและม้าม) ไม่รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นหรือฤทธิ์ร้อนมากจนเกินไป

-การนอนไม่ดึกเกิน 5 ทุ่ม ตื่นนอนแต่เช้า การหลีกเลี่ยงทำงานการคืน นอนกลางวัน

-การทำงานกับการนอนหลับต้องพอเหมาะ

-ปฏิบัติตัวเรื่องการตื่นนอนตาม กลางวัน กลางคืนและฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ดวงอาทิตย์ขึ้นทำงาน ดวงอาทิตย์ตกพักผ่อน ถ้าดวงอาทิตย์ขึ้นเร็ว ควรตื่นเร็วกว่าปกติ ถ้าดวงอาทิตย์ตกเร็ว ควรหลับเร็วกว่าปกติ

3. ฝึกฝนบริหารร่างกาย( 锻炼身体)

การเคลื่อนไหวเป็นรากฐานของสุขภาพที่ดี เป็นการกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและพลัง ทำให้ไหลเวียนคล่อง ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค ป้องกันการโจมตีของเชื้อโรค

หลักการ 3 ประการที่กล่าวมาข้างต้น คือการเน้นการเสริมพลัง เจิ้งชี จากภายในเป็นหลัก

ส่วนการป้องกันการโจมตีจากเสียชี่ (ปัจจัยก่อโรค) แม้จะเป็นด้านรอง ก็มีความสำคัญ การหลีกเลี่ยงการกระทบกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เรียนรู้สภาพอากาศในฤดูกาลต่างๆ เช่น ฤดูร้อน –มีความร้อน ฤดูหนาว-มีความเย็น ฤดูฝน-มีความชื้น ฤดูใบไม้ร่วง-มีความแห้ง ฤดูใบไม้ผลิ-มีลม

การหลีกเลี่ยงหรือซ้ำเติมร่างกายด้วยการปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง เช่น พฤติกรรมนอนดึก สระผมตอนดึก ดื่มน้ำเย็น นอนไม่ห่มผ้า ใส่เสื้อผ้าบางเกินไปในอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เย็น เป็นต้น

รากฐานของการมีสุขภาพอายุยืนยาว คืออะไร

ยึดหลักสมดุลยินหยาง ด้วยวิธีการที่เหมาะสม(法于阴阳,和于术数) สอดคล้องกับหลักยินหยาง คือ สอดคล้องกับหลักการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ

การเปลี่ยนแปลงของกลางวัน กลางคืน ดวงอาทิตย์ขึ้นทำงาน ดวงอาทิตย์ตกพักผ่อน การปฏิบัติตนตาม นาฬิกาชีวิต 12 คาบเวลา

การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เลือกสวมใส่เสื้อผ้า หนา บาง ตามสภาพอากาศ วิธีการที่เหมาะสม ใช้หลักการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง พอเหมาะ ไม่โน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ภาวะอารมณ์ (ไม่โน้มเอียงอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง การกิน ไม่อิ่ม ไม่หิวเกินไป การออกกำลังกาย-การพักผ่อน การมีเพศสัมพันธ์ ภาวะยินหยางกับความสมดุลของร่างกาย

ธรรมชาติมีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ภาวะหยางคือ ภาวะทำงานของร่างกาย เป็นภาวะแยกตัว สลายตัวให้เกิดพลัง ภาวะยิน คือภาวะของการเก็บสะสม เป็นการรวมตัวของพลัง

ภาวะแยกตัว การสลายพลัง เป็นการสลายรูปลักษณ์ เกิดภาวะไร้รูปลักษณ์ (无形) เป็นกระบวนการเผาผลาญเพื่อให้เกิดการทำงาน เรียกว่า ภาวะหยาง เกิดการสลายเป็นพลัง(阳化气)

ภาวะรวมตัวของพลัง เป็นการสร้างรูปลักษณ์(有形) การก่อเกิดร่างกาย เนื้อเยื่อโครงสร้าง เลือด สารน้ำ กระดูก กล้ามเนื้อ เรียกว่า ภาวะยิน ก่อให้เกิดรูปลักษณ์(阴成形)

ขบวนการที่ทำให้มีชีวิตยืนยาว จะต้องใช้ความนิ่ง สงบเป็นด้านหลัก ให้ความสำคัญกับการกักเก็บ สะสม(养阴) การทำงานใช้การสลายพลังอย่างต่อเนื่อง จะทำลายร่างกาย ทำให้อายุขัยสั้น ตัวอย่างเช่น สัตว์ที่ใช้พลังงานในชีวิตมาก เช่น นกกระจิบ ใช้พลังงานชั่วชีวิต 2-4 ปี จะเท่ากับการใช้พลังงานของนกแก้ว หรือเต่า ที่ใช้พลังงาน 50-100 ปี เมื่อพลังงานถูกใช้ไปหมด ชีวิตก็จะสิ้นสุด นกกระจิบจึงมีอายุขัยสั้น ในขณะที่เต่ามีอายุขัยยาว เช่นเดียวกับเทียนไข ที่ติดไฟ ยิ่งสว่างมาก พลังที่ร้อนแรงก็มาก การเผาผลาญยิ่งมาก (หยางมาก ยินยิ่งน้อย) เทียนไขก็จะหมดเชื้อเร็วขึ้น ชีวิตของคนเราจะยืนยาวได้ ต้องสร้างเสริม ถนอมสภาพร่างกาย

การออกกำลังกาย การเคลื่อนไหว การทำงานเป็นด้านหยาง ต้องมีพื้นฐานภาวะความสงบทางจิตใจ การได้รับอาหารที่เหมาะสม การพักผ่อน การนอนหลับที่ดี เป็นด้านยินมาหนุนเสริมอย่างพอเหมาะ จึงจะทำให้ชีวิต และการงานดำเนินไปอย่างมั่นคง

กองทัพส่วนหน้าจะทำการรบได้ดี(หยาง) ต้องมีพื้นฐานกองหลัง กองหนุน (ยิน) ที่เข้มแข็งมั่นคงนั่นเอง ร่างกายภายนอกต้องเคลื่อนไหว จิตใจภายในต้องสงบ(外动内静,身动心静)