คำว่า “เจ” 斋 ในภาษาจีนมีความหมายทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานว่า “อุโบสถ” คำว่า “กินเจ”吃斋 ตามความหมายที่แท้จริงคือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน ดังเช่นที่ชาวพุทธในประเทศไทยถือ “อุโบสถศีล” หรือ “รักษาศีล 8” จะไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีล ของชาวพุทธฝ่ายมหายานไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมเรียก “การไม่กินเนื้อสัตว์” ไปรวมกันคำว่า “กินเจ” ซึ่งเป็นการถือศีลไปด้วย
ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า “กินเจ” ฉะนั้นความหมายก็คือ “คนกินเจ” มิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่คนที่กินเจ ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์สะอาด งดงามทั้งกาย วาจา ใจ เป็นการถือศีลบำเพ็ญธรรมไปด้วยพร้อมกัน เช่นนี้แล้วจึงจะเรียกว่า ถือศีลกินเจ จึงเป็นการ”กินเจที่แท้จริง”
ร้านขาย “อาหารเจ” เราจะพบเห็นตัวอักษร 斋 คำนี้อ่าน “ไจ” (เจ) แปลว่า “ไม่มีของคาว” เขียนด้วยสีแดงบนพื้นสีเหลืองเสมอ ในช่วงเทศกาลกินเจเดือน 9 จะเห็นตัวอักษรนี้เขียนบนธงสีเหลือง ปักอยู่ตามแผงขายอาหารเจมองเห็นเป็นที่สะดุดตาแก่คนทั่วไป ชาวจีนถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งสิริมงคลแก่ชีวิต สีเหลืองเป็นสีของผู้ทรงศีล ดังนั้นผู้ตั้งใจถือศีลบำเพ็ญตนให้บริสุทธิ์ ตัวอักษรนี้ย่อมเป็นเครื่องหมายเตือนสติให้ระลึกไว้เสอมว่า “การกินเจงดเว้นเนื้อสัตว์ของคาวคือ การปฏิบัติธรรม รักษาศีลของความเป็นมนุษย์ เป็นการเจริญมหาเมตตากรุณาธรรมโดยแท้ อันจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และก่อให้เกิดสันติสุขแก่ทุกชีวิตบนโลก”
เข้าใจในการกินเจอย่างถูกต้อง
1. “อาหารเจ” เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นมาจากพืชผักธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปนและที่สำคัญต้องไม่ปรุงด้วยผักฉุนทั้ง 5 ได้แก่ กระเทียม, หัวหอม, หลักเกียว, กุ้ยฉ่าย, ใบยาสูบ
2. คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาหารเจเป็นอาหารที่มีรสจืดชืดไม่อร่อย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดมาก อาหารเจมีรสชาติอร่อยกลมกล่อมต่างไปจากอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเจไม่มีกลิ่นเหม็นคาวๆ ใดเลย
3. บางคนคิดเอาเองว่า หากรับประทานแต่อาหารเจจะทำให้เป็นโรคขาดอาหาร แต่ทางการแพทย์กลับยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นคนที่กินอาหารเนื้อหรือคนที่กินเจ ก็มีสิทธิ์เป็นโรคขาดอาหารได้เท่ากัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกินเนื้อหรือกินเจ แต่ขึ้นอยู่กับนิสัยกินตามใจ เลือกกินแต่อาหารที่ตนชอบ โดยไม่คำนึงถึงคุณประโยชน์ที่จะได้จากการรับประทานอาหาร
หลักในการปรุงและรับประทานอาหารเจที่ถูกต้อง
“อาหารและยามาจากแหล่งเดียวกัน” คำพูดนี้ได้บ่งชี้ว่า อาหารก็คือยานั่นเอง
หลักการแพทย์ของจีนมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้ร่างกายเจ็บป่วย โดยวิธีดูแลรักษาสุขภาพให้ดี ไม่ใช่เพียงแต่บำบัดอาการเมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นแล้วเท่านั้น แพทย์จีนกล่าวว่า “หัวใจของการมีสุขภาพที่ดี คือ การกินที่ถูกต้องกับสภาพร่างกาย เพราะอาหารที่คนเรารับประทานเข้าไปแต่ละวัน มีผลต่อร่างกายและจิตใจอย่างมาก” “อาหารเจ” เป็นอาหารที่ปรุงโดยปราศจากเนื้อสัตว์รวมทั้งไม่มีส่วนประกอบอื่นใด นำมาจากสัตว์ทุกประเภท และที่สำคัญ อาหารเจ งดเว้นการปรุงการเสพพืชผักฉุน 5 ประเภทอันได้แก่
1. กระเทียม (หมายรวมไปถึง หัวกระเทียม ต้นกระเทียม)
2. หัวหอม (หมายรวมไปถึง ต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่)
3. หลักเกียว (คือกระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียม แต่มีขนาดเล็กและยาว กว่า ในประเทศไทยไม่พบว่าปลูกแพร่หลาย)
4. กุ้ยฉ่าย (ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า)
5. ใบยาสูบ (บุหรี่ ยาเส้น ของเสพติดมึนเมา)
ผักดังกล่าวเหล่านี้ เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นอกจากนี้ยังมีพิษที่ทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย เป็นมูลเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ สำหรับผู้ปฏิบัติสมาธิฝึกจิต ไม่ควรรับประทานเป็นอย่างยิ่ง เพราะผักดังกล่าวมีฤทธิ์กระตุ้นจิตใจอารมณ์ให้เร่าร้อนใจคอหงุดหงิดง่าย และยังมีผลทำให้พลังธาตุในกายรวมตัวกันได้ยาก เพราะฉะนั้น โดยหลักเกณฑ์ที่มีมาแต่ครั้งบรรพกาลกล่าวได้ว่า”อาหารเจ” หรือ “อาหารของคนกินเจ” จึงเป็นอาหารที่ปรุงและรับประทานตามหลักเวชศาสตร์และเภสัชศาสตร์โบราณของจีน นั่นเอง
“อาหารมังสวิรัติ” แตกต่างจาก “อาหารเจ” อย่างไร?
อาหารมังสวิรัติ หมายถึง อาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ทุกประเภท แต่ยังคงใช้ผักทุกประเภทมาปรุงอาหารรับประทาน ในส่วนของ “อาหารเจ” เป็นอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ทุกประเภทเช่นกัน แต่อาหารเจจะไม่ใช้ผักฉุนทั้ง 5 ประเภท มาปรุงลงในอาหารโดยเด็ดขาด เพราะฉะนั้นผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอยู่แล้ว หากจะทดลองปรุงและรับประทานอาหารเจดูบ้าง ก็เพียงแต่ไม่บริโภคผักฉุนทั้ง 5 ประเภทก็เรียกว่าเป็น “อาหารเจ” และ “กินเจ”
สีและรสชาติของผักผลไม้ในอาหารเจ
1. พืชผักและผลไม้ เป็นของคู่กันเสมอ นอกจากผักสดๆ ที่นำมาปรุงเป็นอาหารแล้ว คนกินเจจำเป็นต้องรับประทานผลไม้สดๆ หลังอาหารทุกมื้ออย่างสม่ำเสมอ การเลือกซื้อผักผลไม้เพื่อนำมาปรุง และการบริโภคในแต่ละวันควรจัดให้ได้ครบตามสีของธาตุทั้ง 5 ดังนี้
สีแดง (แดงส้ม, แสด, ชมพู) สัญลักษณ์ ธาตุไฟ
สีดำ (น้ำเงิน, ม่วง) สัญลักษณ์ ธาตุน้ำ
สีเหลือง (เหลืองแก่, เหลืองอ่อน) สัญลักษณ์ ธาตุดิน
เขียว (เขียวเข้ม, เขียวอ่อน) สัญลักษณ์ ธาตุไม้
สีขาว (ขาวนวล, ขาวสะอาด) สัญลักษณ์ ธาตุโลหะ
2 . ผู้ที่กินเจ ไม่ควรรับประทานรสจัดเกินไป เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด ขมจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด รสชาติที่จัดมากๆ จะส่งผลไปถึงอวัยวะหลักดังนี้
รสขม ส่งผลต่อ หัวใจ
รสเค็ม ส่งผลต่อ ไต
รสหวาน ส่งผลต่อ ม้าม
รสเปรี้ยว ส่งผลต่อ ตับ
รสเผ็ด ส่งผลต่อ ปอด
6 เรื่องอาหารเจ ที่คนกินเจต้องรู้่
1. หอยนางรมเรียกว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่นับว่าเป็นของเจ สามารถใช้ซอสหอยนางรมปรุงอาหารเจ ตามความเชื่อและตำนานที่เล่าขานมาอย่างเนิ่นนานว่า หอยนางรมนั้นอุทิศตนเป็นอาหารให้แก่พระถังซำจั๋งเมื่อครั้งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่ชมพูทวีป
2.ยีสต์ถูกจัดอยู่ในจำพวกเห็ดและราไม่นับว่าเป็นสัตว์สามารถทานได้
3.มาการีนนับว่าเป็นอาหารเจ เพราะส่วนผสมหลักของมาการีนเป็นน้ำมันพืช เพราะฉะนั้นสามารถทานได้ช่วงกินเจ
4.อาหารรสจัดอย่างพวกเค็มจัด เผ็ดจัด หวานจัด ก็ไม่ถือว่าเป็นอาหารเจเพราะว่าอาหารรสจัดนั้นถูกการปรุงมาอย่างหนักหน่วงทั้งน้ำปลา รวมไปถึงซอสปรุงรสต่าง ๆ และเมื่อร่างกายของเราได้รับอาหารสจัดมาก ๆ จึงส่งผลให้ระบบย่อยอาหารของเรานั้นทำงานหนัก และอาจจะผิดปกติได้ ช่วงเทศกาลกินเจควรทานอาหารรสอ่อนๆ ไปก่อน
5.พริกไทย ถือว่าเป็นอาหารเจ เพราะพริกไทยถือว่าเป็นสมุนไพร ถึงจะมีกลิ่นฉุนแต่ก็สามารถทานได้
6.ทุเรียนสามารถทานได้ถึงแม้ว่าจะมีกลิ่นฉุน แต่ตามความเชื่อแล้วผลไม้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของธาตุดิน ช่วยบำรุงม้ามอีกด้วย