ในช่วงนี้ มีความแปรปรวนของพลังชี่ของอากาศอย่างมาก เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนตก โอกาสที่คนจะเกิดโรคจากพลังชี่ของอากาศมากเกินไป หรือที่เรียกว่าเสียชี่ (邪气) หรือหยินชี่ (淫气) ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยของตัวอากาศเอง และการปรับสมดุลของร่างกาย
บางครั้งพลังชี่ที่แปรปรวนอาจจะไม่ใช่เสียชี่ (邪气) สำหรับคนหนึ่ง แต่คนที่ร่างกายปรับตัวไม่ได้ ทำให้เกิดโรค ก็ถือว่าเป็นเสียชี่ (邪气) สำหรับคนนั้น ซึ่งแพทย์จีนมีมุมมองแตกต่างกันกับแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเฉพาะสาเหตุการเกิดโรค
ในขณะที่ แพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากลงไปในรายละเอียดเป็นรูปธรรมจึงแยกแยะสาเหตุของการเกิดโรคได้มาก แล้วแต่จะมองมุมไหน ตั้งแต่ตัวเชื้อโรค ดีเอ็นเอ ยีน หรือการผิดปกติของสารชีวเคมี เอนไซม์ ฮอร์โมน เซลล์ ฯลฯ
แผนจีนแบ่งสาเหตุของโรคเพียง 4 ประเภทเท่านั้น คือ
1. เหตุจากภายนอก คือ พลังชี่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพลังชี่ของธรรมชาติ ภูมิอากาศ ฤดูกาล ภูมิประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อพลังชี่ของร่างกายตลอดเวลา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของชี่ที่รวดเร็ว รุนแรง หรือมากเกินไปจนเกิดการปรับตัวไม่ทันของร่างกาย
2. เหตุจากภายใน คือ ภาวะของอารมณ์ทั้ง ๗ ของร่างกายที่แปรปรวนรุนแรง รวดเร็ว และยาวนาน รวมทั้งการกินอาหาร การนอน การมีเพศสัมพันธ์และวิถีชีวิต
3. เหตุจากความผิดปกติของการไหลเวียนเลือด พลังและของเหลว และภาวะยินหยางของร่างกาย จนทำให้เกิดการตกค้างติดขัดไม่ไหลเวียน เรียกว่า เกิดเลือดอุดตัน เสมหะ ของเหลวตกค้าง ก้อนนิ่ว อาหารตกค้าง ฯลฯ
4. สาเหตุบาดเจ็บจากภายนอก เช่น อุบัติเหตุ สัตว์ทำร้าย ไฟไหม้
การแปรปรวนของอากาศ : ปัจจัยก่อโรคจากภายนอกทั้ง 6
ธรรมชาติ มีพลังไหลเวียน แปรเปลี่ยนตลอดเวลาเช่น กลางวัน กลางคืน ฤดูกาลทั้ง ๔ เป็นการเปลี่ยนแปลงของพลังร้อน (หยาง) และพลังยิน (เย็น) ในภาวะปกติเรียกว่าชี่ (พลัง)
ถ้าเกิดพลังที่มากเกิน (ซึ่งสำหรับบางคน เรียกว่าปกติ แต่คนที่อ่อนแอหรือปรับตัวไม่ทันก็คือ พลังมากเกิน) เราเรียกพลังเกินหรือปัจจัยกับโรคของสภาพแวดล้อมนั้นว่า หยินชี่ (淫气) ซึ่งได้แก่ ลม ความเย็น ร้อนแดด ความชื้น ความแห้ง และไฟ
ในฤดูกาลทั้ง 4 โดยธรรมชาติ ก็มีการเปลี่ยนแปลงของพลังธรรมชาติ ในขอบเขตและมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ซึ่งส่งผลต่อการเกิดและพัฒนาการของสรรพสิ่งและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
– ฤดูใบไม้ผลิ อากาศควรจะอบอุ่น มีลม
– ฤดูร้อน อากาศจะร้อน ตอนปลายฤดูร้อนจะมีฝนตก มีความชื้น
– ฤดูใบไม้ร่วง อากาศมีความเย็น มีความแห้ง
– ฤดูหนาว อากาศมีหนาวจัด
ภูมิประเทศที่สูง ก็จะมีลม ความหนาว ความแห้ง
ภูมิประเทศที่ราบลุ่ม มีความชื้น ความร้อนสูง
ความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ ความหนาว ความร้อน ความชื้น ความแห้ง ที่รวดเร็วรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของร่างกาย และการเติบโตของพืช รวมทั้งเชื้อโรคต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงต้องพิจารณา 2 ด้าน คือการป้องกันการโจมตีจากพลังหยินชี่ (淫气) จากภายนอก และการเสริมพลังเจิ้งชี่ (正气) จากภายใน
ฤดูร้อน ควรจะร้อนกลับหนาว
ฤดูใบไม้ผลิควรจะเย็นกลับร้อน
คือความผิดปกติของอากาศ ล้วนเรียกว่าหยินชี่ (淫气)
การโจมตีของหยินชี่ (淫气) เข้าสู่ร่างกายทางไหน
แพทย์จีนกล่าวถึงการโจมตีเข้าทางผิวหนัง ปาก จมูก เข้าสู่เส้นลมปราณที่เชื่อมสู่อวัยวะภายใน โดยเฉพาะระบบปอด
– ลมมักจะโจมตีทางด้านบนศีรษะและด้านหลัง คือด้านหยาง
– ความเย็นมักโจมตีทางด้านล่าง จากฝ่าเท้า
– ความชื้นมักโจมตีระบบม้าม บริเวณหน้าท้อง
– ความแห้งมักโจมตีระบบปอด ทางเดินหายใจ
ในช่วงนี้อากาศหนาว ฝนตก ชื้น อากาศร้อน หรือแปรปรวนของอากาศ ต้องหมั่นดูแลตนเอง โดยหลักใหญ่ที่ต้องดูแลคือ
1. เก็บสะสมพลังให้พอ นอนหลับช่วงกลางคืน 23.00 – 05.00 น. อย่านอนดึกมีโอกาสควรงีบหลับกลางวันช่วงสั้นๆ 15-30 นาที หรือปิดตาปล่อยวางจิต
2. เลือกอาหารยินหยางให้สอดคล้องกับร่างกาย อย่าดื่มน้ำเย็น เพราะทำลายพลังพื้นฐาน ทำให้ระบบย่อยอาหารไม่ดี
3. พยายามอย่าให้รูขุมขนเปิดมาก ขณะมีอากาศเย็น ป้องกันการกระทบจากความเย็นและลม ขณะมีอากาศร้อนต้องปล่อยให้ระบายความร้อน เหงื่อออกไป
4. ระวังการไม่เสียน้ำอสุจิมากเกินไป จะทำลายพลังไตง่าย ร่างกายจะอ่อนแอ
5. ปกป้องให้ความอบอุ่น ๓ ส่วน (保三暖) คือ
– บริเวณศีรษะ (ที่รวมของหยาง)
– บริเวณหลัง ไหล่ สะบัก (เส้นลมปราณ กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้เล็ก)
– บริเวณฝ่าเท้า (เส้นลมปราณไต)
ควรป้องกันตนเองอย่าให้เกิดโรคจะดีกว่าด้วยการปฏิบัติง่ายๆ ปิดทางเข้าสู่ร่างกายของหยินชี่ (淫气) เสริมพลังเจิ้งชี่ (正气) ให้แข็งแรงอยู่เสมอ