ด้วยความรู้แผนปัจจุบัน เส้นผมที่มีสีดำ เกิดจากการที่เซลล์ที่ชื่อว่า เมลาโนไซต์(Melanocyte) ที่คอยผลิตเม็ดสีที่โคนรากผมสร้างเม็ดสีผม หรือ เมลานิน (melanin) ได้อย่างเพียงพอ
ผมหงอกเกิดจากเม็ดสีเมลานิน ลดลงเมื่อสูงวัยขึ้น จึงทำให้ผมเป็นสีขาว หยาบ และแลดูไม่เป็นประกาย ผมหงอกที่มักพบในคนสูงอายุเมื่อเกิดแล้วจะอยู่ถาวร ถ้าผมหงอกทั้งหัว ก็แสดงว่า Melanocyte Stem Cells ที่คอยผลิต เมลาโนไซต์(Melanocyte) ได้ตายหมดแล้ว
ส่วนผมหงอกที่กลับดำได้นั้นเป็นผมหงอกที่เกิดจากโรคภายในร่างกาย ถ้ารักษาโรคหายผมจึงกลับดำได้ เช่น โรคโลหิตจาง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ อารมณ์เครียดมาก หรือ หวาดกลัวเฉียบพลัน รวมถึงจากการขาดสารอาหาร เช่น การขาดวิตามิน บี12 ธาตุทองแดง การขาดไบโอตินซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดสีเมลานิน (ไบโอตินจะช่วยในคนที่ผมเป็นสีเทาๆดำไม่สม่ำเสมอทั้งเส้น)
ผมหงอกก่อนวัยมักไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ กินอาหารและยาบางชนิด มีความเครียดก็มีผลต่อการมีผมหงอก โดยเฉพาะกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งพบได้บ่อยในครอบครัวที่มีประวัติผมหงอกก่อนวัย
การป้องกันผมงอกหรือทำให้ผมดกดำ จึงเน้นที่การดูแลสุขภาพ การพักผ่อน ออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร วิตามินเสริม การผ่อนคลายจิตใจ ลดความเครียด การควบคุมโรคประจำตัว
ในทัศนะแพทย์แผนจีน “ผมคือส่วนเกินของเลือด เป็นสิ่งแสดงถึงความความสมบูรณ์ของไต” (血之余、肾之华) ตับมีหน้าที่เก็บสะสมเลือด ตับที่มีเลือดสมบูรณ์เพียงพอ จะสามารถส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายรวมถึงเส้นผม การงอกหรือยืดยาวของเส้นผมจึงเป็นหน้าที่ของตับ ไตเก็บกักสารจิง(สารจำเป็นของชีวิตหมายรวมถึงระบบฮอร์โมน) ผมที่ดกดำ มีประกาย มีน้ำมีนวล ต้องอาศัยสารจิงของไตมาหล่อเลี้ยง นอกจากนี้แพทย์แผนจีนยังมองว่า “สารจิงและเลือดมีแหล่งกำเนิดเดียวกัน” (精血本同源)
อายุย่างเข้าวัย 40-50 ปี พลังไตถดถอย การสร้างสารจิงน้อยลง ผมจึงขาวไม่ดกดำ
การตรากตรำทางร่างกายและจิตใจ การสูญเสียสารจิงจากการมีเพศสัมพันธ์มากเกินไป การเสียเลือด การเจ็บป่วยเรื้อรัง จะกระทบถึงไตและตับ
การนอนหลับไม่เพียงพอ หรืออดนอนจะทำให้เลือดไม่กลับไปสะสมที่ตับ ก็เป็นสาเหตุให้ผมไม่ดกดำ
นอกจากนี้การทำงานของอวัยวะม้ามที่ทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหาร รวมทั้งอาหารที่รับประทานก็มีส่วนสำคัญ เพราะจะเป็นส่วนสำคัญในการนำไปสร้างเลือด
ไตเกี่ยวข้องกับสีดำ สีดำจะเข้าสู่อวัยวะไต อาหารบำรุงไตจึงมักมีสีดำ เช่น
อาหาร ได้แก่ งาดำ (黑芝麻) ข้าวเหนียวดำ (黑糯米) ถั่วดำ(黑豆) องุ่นดำ(黑葡萄) บลูเบอร์รี่(蓝莓)
สมุนไพรจีน ได้แก่ เหอโส่วอู (何首乌) ฮั่นเหลียนเฉ่า (旱莲草) นวี่เจินจื่อ(女贞子)
งาดำ มีฤทธิ์กลางๆ ไม่ร้อนไม่เย็น บำรุงตับไต ชลอความแก่
เห็ดหูหนูดำ มีฤทธิ์ค่อนเย็น ช่วยลดความดันโลหิต ป้องกันเส้นเลือดแข็งตัว
ตำรับอาหารสมุนไพรจีนบำรุงผมให้ดกดำ
ส่วนประกอบ ซันเย่า(山药) 80 กรัม, เหอโส่วอู (何首乌) 100 กรัม , นวี่เจินจื่อ(女贞子) อย่างละ 40 กรัม,งาดำ(黑芝麻) 200 กรัม , แป้งข้าวเหนียว (糯米) 500 กรัม น้ำตาลกรวดปริมาณพอเหมาะไว้ปรุงรส
วิธีปรุง เอาสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ซันเย่า, เหอโส่วอู ,นวี่เจินจื่อ มาล้างให้สะอาด ผึ่งจนแห้ง แล้วนำมาบดเป็นผง
งาดำนำมาผัดให้สุกแล้วบดเป็นผงละเอียด นำแป้งข้าวเหนียวและสมุนไพรทั้งหมดมาคลุกเคล้าด้วยกันอย่างทั่วถึง เติมน้ำและน้ำตาลกรวดพอประมาณ นำไปนึ่งไอน้ำประมาณ 30 นาที ทำเป็นซุปสำหรับรับประทาน
สรรพคุณ เสริมบำรุงตับไต ทำให้ผมดำมีน้ำมีนวล
- โส่วอู, นวี่เจินจื่อ รสหวาน ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อยบำรุงสารจิงและเลือด
- ซันเย่า บำรุงม้าม ตับ ไต เสริมยิน
- งาดำ บำรุงม้าม ตับ ไต ช่วยให้ผมดำ
- ข้าวเหนียว ช่วยอุ่นบำรุงกระเพาะอาหาร
มายเหตุ :อาจปรับสูตรพลิกแพลงการใช้ข้าวเหนียวดำมาใช้แทนข้าวเหนียว จะทำให้ประสิทธิภาพในการบำรุงมากขึ้น