ถ้าเปรียบหลอดเลือดของร่างกายเหมือนกับแม่น้ำสายหนึ่ง มีโคลนตมหรือขยะตกค้างเมื่อมีการสะสมมากขึ้นมากขึ้น การไหลเวียนของน้ำในแม่น้ำจะช้าลงช้าลง หรือในที่สุดก็จะเอ่อล้นท่วมออกนอกแม่น้ำ เช่นเดียวกับหลอดเลือดของคนที่มีภาวะไขมันในเลือดมาก จะทำให้การไหลเวียนเลือดติดขัด ช้าลง ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก
ภาวะไขมันในเลือดสูง ในทัศนะแพทย์จีนเกี่ยวข้องกับการสะสมของตัวเสมหะความชื้น (痰湿 ) และภาวะเลือดคั่งค้างไหลเวียนไม่คล่อง (血瘀 )
เสมหะและความชื้นที่สะสมตัว มีพื้นฐานจากการทำงานของระบบย่อย (กระเพาะอาหารและม้าม) ไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมอาหารได้หมด เนื่องจากการบริโภคอาหารที่ก่อให้เกิดภาวะร้อนชื้นมากเกินไป หรือเกิดจากระบบย่อยอาหารอ่อนแอ ไม่มีพลังในการย่อยสลายอาหารได้อย่างเต็มที่
ภาวะเลือดคั่งค้างไม่ไหวเวียน มักเกิดจากพลังหยาง (阳气) ของร่างกายอ่อนแอ ไม่มีพลังในการขับเคลื่อนการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดคั่งค้างไหลเวียนช้า
ทั้งสองภาวะก่อตัวให้เลือดหนืด เคลื่อนตัวช้า ยิ่งทำให้มีการสะสมของขยะ (เสมหะความชื้นและเลือด) มากยิ่งขึ้น จนเกิดการตีบตันหรือแตกในที่สุด
แนวทางในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ต้องคำนึงถึง อย่างน้อย 2 ด้าน
- เน้นที่การขับเสมหะความชื้นและกระจายเลือดคั่งค้าง เป็นการรักษาอาการหรือปรากฏการณ์
- เน้นการเสริมสร้างที่การปรับการทำงานของระบบกระเพาะอาหารและม้าม รวมทั้งพลังหยาง (阳气)
ตำรับที่ 1 อาหารสมุนไพรสำหรับลดไขมันในเลือด
เต้าหู้ เห็ดหูหนูดำ สาหร่ายทะเล (จี๋ฉ่าย) เนื้อหมูแดง ขิงสด
สรรพคุณ
- เต้าหู้ ทำมาจากถั่วเหลือง มีการผสมผงยิปซั่ม (石膏) (Calcium Sulphate) เล็กน้อย มีฤทธิ์เย็น รสหวานเค็ม ช่วยกระตุ้นพลังงาน ปรับการทำงานของกระเพาะอาหารและม้าม ลดอาการแน่นท้อง กระตุ้นลำไส้ใหญ่ในการขับสิ่งสกปรก ขับพิษร้อนกระจายเลือด
- เห็ดหูหนูดำ (ให้ดีใช้ชนิดอีกด้านเป็นสีขาว) มีฤทธิ์กลางค่อนไปทางเย็น รสหวาน ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ปอด บำรุงเลือดพลัง ช่วยการระบายอุจจาระ สลายเลือดอุดกั้น
- สาหร่ายทะเลสีม่วง (จี๋ฉ่าย) ฤทธิ์เย็น รสหวานเค็ม ช่วยทำให้นุ่มสลายก้อน ขับร้อนขับเสมหะ ขับปัสสาวะ
ทั้ง 3 ส่วน สำหรับทำหน้าที่ขับสลายเสมหะและเลือดอุดกั้น
- เนื้อหมูแดง ฤทธิ์กลางๆ รสหวานเค็ม เข้าเส้นลมปราณม้าม, ไต ช่วยบำรุงพลัง บำรุงอวัยวะภายในม้ามและไต
- ขิงสด ฤทธิ์อุ่น สำหรับขับความเย็น ช่วยอุ่นกระเพาะอาหาร
เครื่องปรุง
เต้าหู้ 1 ก้อน เห็ดหูหนูดำ 2 กำมือ
สาหร่ายแกงจืด 1 แผ่น เนื้อหมู 400 กรัม ขิง 3 แผ่น
วิธีการปรุง
- เอาเห็ดหูหนูดำล้างให้สะอาด แช่น้ำนาน 30 นาที จากนั้นนำมาตัดเป็นแผ่นฝอยๆ
- ต้มน้ำให้เดือด ใส่เห็ดหูหนูและขิง ต้มนาน 10 นาที
- ใส่เต้าหู้ ต้มนาน 5 นาที
- สุดท้ายใส่เนื้อหมูแดงและสาหร่าย
- ปรุงรสตามต้องการ
ตำรับที่ 2 เครื่องดื่มลดไขมัน
ชามะลิ ชาดอกกุหลาบ
ใช้ดอกมะลิแห้งและดอกกุหลาบแห้งอย่างละ 1 ช้อนชา ดื่มชงเป็นชาแทนน้ำ สามารถเติมน้ำร้อนชงดื่มจนจืด รับประทานวันเว้นวัน
สรรพคุณ
- ดอกมะลิแห้ง เข้าเส้นลมปราณตับ กระเพราะอาหารและม้าม
มีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณขับเคลื่อนการไหลเวียนของพลัง
- ดอกกุหลาบแห้ง มีฤทธิ์ร้อน เข้าเส้นลมปราณตับและไต ขับเคลื่อนพลังกระจายเลือดที่คั่งค้าง
ทั้งสองตัวทำเป็นชาดื่มช่วยลดไขมันในเลือดได้ มีฤทธิ์ไม่เย็นหรือไม่ร้อน