โรคนับร้อยมีที่มาจากอารมณ์

“คุณหมอคะ เวลาใกล้มีประจำเดือน หนูจะปวดแน่นเต้านมและชายโครง บางทีคลำได้ก้อน แต่พอหมดประจำเดือน ก้อนที่เต้านมก็หายไปค่ะ หนูจะเป็นมะเร็งหรือเปล่าคะ”

“เวลาใกล้มีประจำเดือน หนูมักปวดหัวข้างเดียว แต่บางครั้งเวลาเครียดก็เป็นค่ะ หนูเป็นโรคไมเกรนหรือเปล่าคะ”

“เวลามีประจำเดือน รู้สึกอยากกินของเปรี้ยว กินแล้วหายหงุดหงิดค่ะ”

หลายๆคำถามที่ยกตัวอย่างมา ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันเราพออธิบายอาการและอารมณ์ความรู้สึกได้ว่า เป็นผลมาจากภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงใกล้มีประจำเดือน ซึ่งส่งผลต่อร่างกายและความแปรปรวนทางจิตใจ ทำให้การแสดงออกของอาการต่างๆ ในผู้หญิงแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ในทัศนะแพทย์แผนจีนได้เชื่อมโยงผลกระทบของร่างกายทั้งอวัยวะตันภายในทั้ง 5 (หัวใจ ปอด ม้าม ตับ ไต) อวัยวะกลวงภายในทั้ง 6 (กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ ซานเจียว) เส้นลดปราณที่สัมพันธ์กับอารมณ์และสิ่งกระตุ้นทั้งมวลอย่างแนบแน่น ตัวอย่างที่จะกล่าวถึงคือเรื่องของอารมณ์ทั้ง 7 กับการเกิดโรค

อารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย ประกอบด้วยอารมณ์ 7 อย่างด้วยกัน คือ

  • ดีใจ
  • โกรธ
  • วิตก
  • กังวล
  • เศร้า
  • กลัว
  • ตกใจ

(เนื่องจากอารมณ์วิตกกับอารมณ์กังวลมีลักษณะใกล้เคียงกัน และอารมณ์กลัวกับอารมณ์ตกใจก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน จึงจัดไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน เหลือเป็นอารมณ์ทั้ง 5) อารมณ์ทั้ง 7 นับเป็นสาเหตุก่อโรคที่เป็นเหตุปัจจัยจากภายในร่างกาย การได้รับผลกระทบจากอารมณ์ใดที่มากเกินไปและนานเกินไป จะทำให้เกิดโรคกับอวัยวะภายในและเส้นลมปราณได้

อารมณ์ดีใจ เป็นอารมณ์กระตุ้นในด้านบวก เป็นไปในทางให้ประโยชน์แก่ร่างกาย

อารมณ์โกรธ เศร้าโศก เสียใจ กลัว ตกใจ เป็นอารมณ์กระตุ้นในด้านลบ เป็นไปในทางให้โทษกับร่างกาย

อารมณ์ครุ่นคิด วิตกกังวล เป็นอารมณ์พื้นฐานของการเคลื่อนไหวของอารมณ์ การใช้ความคิดอย่างมีสติ มีปัญญา และสอดคล้องกับความเป็นจริงทางภาวะวิสัย จะมีทางออกทำให้อารมณ์ถูกเปลี่ยนแปลงรุนแรงไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป

อารมณ์ทุกอารมณ์เป็นความปกติที่เกิดกับปุถุชน แต่ต้องมีไม่มากหรือน้อยเกินไป และไม่นานจน เกินไป เพราะความสุดขั้วของอารมณ์ล้วนกระทบต่อสมดุลของธาตุภายในร่างกาย และเส้นลมปราณจะทำให้เกิดโรคได้

  • อารมณ์ดีใจ : เกี่ยวข้องกับหัวใจลำไส้เล็ก

โบราณกล่าวว่า “ดีใจเกินไปทำลายหัวใจทำให้เลือดไหลเวียนช้า” หัวใจมีหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนเลือด ภาวะที่มีอารมณ์ดีใจ มีความสุข การไหลเวียนของพลังและเลือดจะไหลเวียนช้า ไม่ถูกเร่งเร้า มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อลดความเครียด เกิดความกระชุ่มกระชวย แต่ถ้าดีใจมากเกินไปจะทำให้จิตใจไม่รวมศูนย์ขาดสมาธิ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ประเดี๋ยวหัวเราะประเดี๋ยวร้องไห้ ขาดความสงบ ฟุ้งซ่าน หรือมีอารมณ์คลุ้มคลั่งวิปริตไป

  • อารมณ์โกรธ : เกี่ยวข้องกับตับ – ถุงน้ำดี

โบราณกล่าวว่า “โกรธมากเกินไปทำลายตับ ทำให้พลังวิ่งย้อนสู่เบื้องบน” เมื่อพลังตับย้อนสู่เบื้องบน คือ ภาวะไฟตับสูง ทำให้มีอาการหงุดหงิด ปวดศีรษะ ตามัว ปวดตา ตาบวม ความดันเลือดสูง ถ้าเป็นมากจะทำให้ปวดศีรษะรุนแรงและมีอาการวูบหมดสติ เป็นอัมพาต (ตรงกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและแตก) นอกจากนี้ยังทำให้ปวดชายโครง คัดแน่นเต้านมหรือมีก้อน ประจำเดือนมาผิดปกติ รู้สึกเหมือนมีก้อนในคอ แน่นท้อง บางรายมีอาเจียนเป็นเลือด คลื่นไส้อาเจียน

ตัวอย่างที่พบบ่อย คือ ผู้หญิงใกล้มีประจำเดือน ถ้ามีความผิดปกติของอารมณ์เป็นพื้นฐาน เช่น หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย จะมีอาการมากขึ้น และกระทบกระเทือนไปยังอวัยวะภายใน คือ ตับ ถุงน้ำดี ทำให้มีอาการปวดแน่น คัดเต้านม หรือมีก้อนที่เต้านม ซึ่งทำให้อยากกินอาหารรสเปรี้ยว (วิ่งเส้นตับ)

  • อารมณ์วิตก – กังวล : เกี่ยวกับม้าม – กระเพาะอาหาร

โบราณกล่าวว่า “วิตกกังวล ทำลายม้าม ทำให้พลังถูกอุดกั้น” การใช้ความคิดมากเกินไป คิดไม่ถูก คิดไม่เป็น คิดแล้วไม่มีทางออกที่ดี ทำให้เกิดอารมณ์อื่นๆ ตามมา ความวิตกกังวลเกินเหตุมีผลต่อระบบการย่อยดูดซึมอาหาร (แผนปัจจุบันเรียกว่า เครียดลงกระเพาะอาหาร) ทำให้เบื่ออาหารท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ถ่ายเหลว ฯลฯ ถ้าเป็นเรื้อรัง จะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความจำเสื่อม นอนไม่หลับ ฝันบ่อย ฯลฯ อันเป็นผลจากากรอุดกั้นของพลังขัดขวางการย่อยดูดซึมอาหาร และการพร่องของเลือดและพลังที่ไปเลี้ยงสมอง

  • อารมณ์เศร้าโศก – เสียใจ : เกี่ยวกับปอด – ลำไส้ใหญ่

โบราณกล่าวว่า “เสียใจเกินไปทำลายปอด ทำให้พลังสูญหาย” การเศร้าโศกเสียใจมากและเรื้อรังจะทำให้พลังการไหลเวียนปอดอุดกั้นและถูกทำลาย ผู้ป่วยจะรู้สึกหดหู่ อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรงเหนื่อยง่าย

  • อารมณ์กลัว – ตกใจ : เกี่ยวกับไต – กระเพาะปัสสาวะ

โบราณกล่าวว่า “กลัว ตกใจ เกินควรทำลายไต ทำให้พลังแปรปรวน พลังย้อนลงด้านล่าง” อารมณ์กลัว ตกใจเกินควรทำให้พลังที่เกี่ยวกับการพยุง เหนี่ยวรั้งลดน้อยลงทำให้ปัสสาวะอุจจาระอั้นไม่อยู่ (ตกใจจนฉี่ราด) ขา 2 ข้างอ่อนแรง ฝันเปียก ภาวะจิตใจสับสน แปรปรวน พูดจาเพ้อเจ้อ พฤติกรรมผิดปกติ

เรื่องของอารมณ์ที่แปรปรวนมีผลต่อการเบื่ออาหารเวลาอารมณ์ดีจะรู้สึกเจริญอาหาร เวลาอารมณ์ไม่ดีจะเบื่ออาหาร จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง ว่าการเบื่ออาหารเป็นผลจากอารมณ์อะไร มีปัญหาที่อวัยวะภายใจส่วนไหนแสดงออกที่แล้วลมปราณหรือส่วนอื่นๆ อย่างไร

คำกล่าวที่ว่า “โรคนับร้อยมีที่มาจากอารมณ์” สะท้านถึงบทบาทของอารมณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคต่างๆ มากมาย รวมทั้งโรคมะเร็ง มีรายงานทางการแพทย์ พบว่า คนไข้ ๑๐๐ คน มีภาวะความเครียดทางจิตใจร่วมอยู่ด้วยถึง 76 คน และในผู้ป่วยมะเร็งพบว่าก่อนจะมีอาการมะเร็งปรากฏมักจะมีภาวะความเคร่งเครียด แปรปรวนทางอารมณ์อย่างรุนแรงมาก่อนร้อยละ 62.5

การปล่อยให้จิตใจว้าวุ่นตลอดเวลา ย่อมทำให้สุขภาพเสื่อมทรุด อายุไม่ยืนยาว จึงจำเป็นต้องหาวิธีขจัดความไม่สบายใจ มีข้อแนะนำง่ายๆ ดังนี้

1. สนใจความทุกข์ของคนอื่น
ขณะที่มีความทุกข์ ไม่สบายใจ จะต้องไปเห็นถึงความทุกข์ของคนที่ทุกข์กว่าเรา จะได้รับรู้ว่าคนอื่นก็มีความทุกข์เหมือนกัน ความทุกข์ในตัวก็จะลดลงไปด้วย

2. เยี่ยมเยียนเพื่อนที่ป่วยไข้ไม่ควรเก็บตัวเงียบอยู่ในห้อง
การไปเยี่ยมคนไข้ไม่ว่าที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาล หลังจากเยี่ยมไข้เราจะรู้สึกว่า ตัวเรายังโชคดีที่ไม่ป่วยไข้ ทุกข์ในใจก็จะผ่อนลงได้

3. ออกกำลังกาย ใช้แรงงาน
การออกกำลังกายและการใช้แรงงานเป็นการแปรเปลี่ยนความทุกข์ในใจ และปลดปล่อยพลังที่เก็บกดได้ การเปิดหูเปิดตาไม่มองโลกธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ทำให้จิตใจที่หดหู่หมกมุ่นถูกแทนที่ด้วยโลกกว้าง

4. หมั่นอาบน้ำบ่อยๆ
การอาบน้ำบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำร้อนหรือน้ำเย็น จะกระตุ้นสมอง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้กระปรี้กระเปร่า ลดความเครียด

5. ต้องพบปะเพื่อนฝูง
พูดคุยปรับทุกข์ ระบายความทุกข์กับเพื่อนสนิท นอกจากจะผ่อนคลายอาการอัดอั้นตันใจแล้ว บางทีอาจจะได้ข้อคิดดีๆ ในการแก้ความไม่สบายใจด้วย

ความจริงการฝึกจิตใจและการปล่อยวางทั้งร่างกาย จิตใจ เป็นภูมิปัญญาทางตะวันออกที่มีความละเอียดลึกซึ้ง และได้รับการยอมรับและพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น การฝึกจิตสามารถปรับควบคุมอารมณ์จิตใจ และปรับสมดุลร่างกาย ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมและการทำงานของอวัยวะภายในเป็นปกติ เช่น การฝึกลมปราณชี่กง การฝึกรำมวยจีนไทเก๊ก เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานในการต่อสู้กับโรคด้วย

อารมณ์ทั้ง 7 สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอวัยวะภายในและการไหลเวียนของเลือดและพลังในเส้นลมปราณทั่วร่างกาย ในทำนองกลับกันถ้ามีโรคที่เกิดกับอวัยวะภายในหรือเส้นลมปราณจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนต่างๆ กันออกไป การรักษาร่างกายและจิตใจจึงเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กันตลอดเวลา เราแบ่งผู้ป่วยเป็นโรคทางกายและโรคทางจิต แต่เราไม่สามารถแยกภาวะกายและจิตออกจากกันในตัวผู้ป่วยได้อย่างสิ้นเชิง

สรุป

  • ดีใจเกินไปทำลายหัวใจ ทำให้เลือดไหลช้า
  • เสียใจเกินไป ทำลายปอด ทำให้สูญเสียพลัง
  • กลัว ตกใจเกินไป ทำลายไต ทำให้พลังย้อนลงล่าง
  • โกรธ ทำลายตับ ทำให้พลังย้อยขึ้นด้านบน
  • วิตกกังวล ทำลายม้าม ทำให้พลังถูกอุดกั้น

อารมณ์ทั้ง 7 ถือเป็นสิ่งกระตุ้นที่มาจากปัจจัยภายในร่างกาย อารมณ์ดีใจ เป็นสิ่งกระตุ้นที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย อารมณ์โกรธ เศร้าโศก กลัว ตกใจ เป็นสิ่งกระตุ้นที่เป็นไปทางให้โทษแก่ร่างกาย อารมณ์วิตกกังวล เป็นพื้นฐานการเคลื่อนไหวของอารมณ์ การใช้ความคิด การครุ่นคิด ทุกอารมณ์จะต้องพอเหมาะและไม่มากเกินไป จึงเป็นการกระตุ้นให้มีสุขภาพดี และไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะภายใน โดยทั่วไปอารมณ์และกายต้องเสริมกัน