กรณีศึกษา รักษา ไทรอยด์เป็นพิษ

วันนี้มีเรื่องผู้ป่วยมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์แพทย์แผนจีนได้ชัดเจนขึ้น

ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษรายหนึ่ง
ได้รับการเยียวยาด้วยยากดการทำงานของต่อมไทรอยด์ และยาลดอาการใจสั่นอยู่ นานประมาณ 2 ปี ผลการรักษาไม่ค่อยได้ผล ผู้ป่วยจึงได้รับการแนะนำให้กินน้ำแร่ และได้ยารักษาภาวะไทรอยด์ต่ำ (ยาฮอร์โมนไทรอยด์) มากิน

1 ปีหลังจากการกินน้ำแร่ ผู้ป่วยเปลี่ยนจากโรคภาวะไทรอยด์เกิน (เป็นพิษ) กลายเป็นผู้ป่วยภาวะฮอร์โมนไทรอยด์พร่อง (ขาด) เปลี่ยนจากอาการขี้ร้อน หงุดหงิด นอนไม่หลับ กลายเป็นคนหนาวง่าย เฉื่อยชา ง่วงนอนเก่ง

ถ้ามองโดยภาพรวมเหมือนตาชั่งที่มี 2 ข้าง แต่เดิมน้ำหนักถ่วงมาก ข้างหนึ่งเกิดการเสียสมดุล พอรักษาจบกระบวนความ กลายเป็นตาชั่งเอียงมาอีกข้างหนึ่ง

ความจริงเราต้องการตาชั่งให้มีความสมดุล ไม่ใช่ต้องการเอียงไปอีกข้างหนึ่ง การรักษาแบบนี้ถือว่ายังไม่ใช่การรักษาในเชิงอุดมคติ

สาเหตุของต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน
ปกติการทำงานของต่อมไทรอยด์อยู่ภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมอง ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมนมากระตุ้นให้ทำงานมาก แต่ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานมาก ต่อมใต้สมองจะลดการหลั่งฮอร์โมนมากระตุ้น ทำให้ทำงานน้อยลง

ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ คือผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน โดยต่อมใต้สมองไม่สามารถควบคุมได้ ฮอร์โมนไท ร็อกซีนที่มากเกินก็จะกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต่างๆ ให้ทำงานมากผิดปกติ เกิดอาการต่างๆ เช่น มือสั่น หงุดหงิด ขี้ร้อน โมโหง่าย กินจุ น้ำหนักลด นอนไม่หลับ ความดันสูง เป็นต้น

มองแบบแพทย์จีน : ภาวะยินพร่อง ไฟกำเริบ

ร่างกายผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษจะมีภาวะหยางมาก หรือมีไฟ ระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญ การกระตุ้น การทำงานของระบบต่างๆ มากกว่าปกติ มีลักษณะไปทางหยาง เช่น หิวเก่ง ใจสั่น รู้สึกร้อน ความดันสูง หงุดหงิด ท้องเสีย เป็นต้น

ความผิดปกติของร่างกายมีผลต่อระบบฮอร์โมนหลายชนิด หลายระบบ ตั้งแต่ระบบประสาทอัตโนมัติ ต่อมหมวกไต ระบบไฮโพทาลามัส ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ต่อมเพศ ยังทำให้ระดับ C-AMP ในเลือดสูงขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลงอีกด้วย

สาเหตุส่วนใหญ่มาจากภาวะการเสียสมดุลแพทย์จีนเรียกว่า “ยินพร่อง” เป็นภาวะที่เซลล์แห้ง ขาดสารยิน (ขาดสารน้ำและของเหลวภายในเซลล์) ทำให้เกิดความร้อนภายในเซลล์ ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกระบบของร่างกาย ไม่ใช่เฉพาะตัวต่อมไทรอยด์เท่านั้น

การแก้ปัญหาหรือมุ่งเน้นที่ตัวไทรอยด์อย่างเดียวจึงมีลักษณะจำเพาะเกินไป
การรักษาแผนปัจจุบันใช้กลุ่มยาต้านไทรอยด์ (antithyroid drug) เช่น เมทิมาโซล (methimazole) หรือโพรพีลไทโอยูราซิล (propylthiouracil)

ถ้ารักษา 18-24 เดือนไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณากินน้ำแร่หรือการผ่าตัด
การผ่าตัดยุ่งยากกว่า เพราะอาจมีโอกาสตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกไปด้วย และอาจตัดถูกประสาทกล่องเสียง (laryngeal nerve) ทำให้เสียงแหบ
การกินน้ำแร่ง่ายกว่า แต่โอกาสเกิดต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำได้สูงมาก

การปรับสมดุลยิน-หยาง โดยการบำรุงสารยินและระบายร้อน

การปรับสมดุลยิน-หยางนั้น เป็นการสร้างเงื่อนไขและปรับสภาพของเซลล์ไม่ให้แห้งและลดภาวะไฟที่กำเริบ เป็นการปรับพื้นฐานเพื่อให้เซลล์เข้าสู่ภาวะสมดุลของยิน-หยาง และเมื่อใช้ร่วมกับการควบคุมฮอร์โมนไทรอยด์ที่สูงด้วยยาแผนปัจจุบัน การลดขนาดของยา และหยุดยาต้านไทรอยด์มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง

การใช้ยาต้านไทรอยด์ การใช้ยาต้านไทรอยด์ กล่าวได้ว่า เป็นการรักษาปรากฏการณ์ของฮอร์โมนไทรอยด์สูง จวื่อเปียว ส่วนการปรับยิน-หยางของเซลล์และระบบต่างๆ ของร่างกายไม่ให้แห้ง และไม่ให้เกิดไฟ รวมทั้งการขับความร้อนภายในเซลล์ เรียกว่า การรักษาธาตุแท้จวื่อเปิ่น

แผนปัจจุบันมักรักษาอาการรักษาปรากฏการณ์ ใช้วิธีการลด ทำลาย เมื่อพบความผิดปกติที่จุดใดจุดหนึ่ง และอธิบายสาเหตุของความผิดปกติไม่ได้ มักจะลงเอยว่าเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ตัวเอง หรือออโตอิมมูน (autoimmune) เวลาแก้ปัญหาปฏิกิริยาภูมิแพ้ ก็ใช้ยาไปกดภูมิคุ้มกันอีก (ไม่ใช่วิธีการไปปรับระบบภูมิแพ้) ซึ่งสร้างปัญหาและผลข้างเคียงของการรักษาจากยาให้กับผู้ป่วยอีก

การศึกษาวิจัยภาวะไทรอยด์เป็นพิษและการรักษา

ปัจจุบันภาวะไทรอยด์เป็นพิษส่วนมากเมื่อวินิจฉัย ตามหลักการแยกภาวะโรคและร่างกาย หรือเปี้ยนเจิ้ง จัดเป็นภาวะยินพร่องไฟกำเริบ

ภาวะไฟกำเริบ

1. ไฟของตับ หงุดหงิด โมโหง่าย ปวดชายโครง ประจำเดือนผิดปกติ มือสั่น
2. ไฟของหัวใจ ใจสั่น นอนไม่หลับ ปลายลิ้นแดง
3. ไฟของกระเพาะอาหาร หิวเก่ง กินจุ ตัวผอมแห้ง

ภาวะยินพร่อง

1. ยินของหัวใจพร่อง ใจสั่น นอนไม่หลับ เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
2. ยินของตับพร่อง เวียนศีรษะ ตาแห้ง หงุดหงิด อาการสั่น
3. ยินของไตพร่อง ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้าและกลางหน้าอก หน้าแดง โดยเฉพาะหลังเที่ยง เอว เข่า เมื่อยอ่อนล้า ผมร่วง เสียงดังในหู

การรักษาทางคลินิก
1. เสริมบำรุงยิน ระบายร้อน 
โดยวิธีการนี้ทำให้สามารถคุมระบบสมองใหญ่ ระบบต่อมใต้สมอง ระบบต่อมหมวกไต และมีผลต่อการควบคุมต่อมไทรอยด์ได้ดีขึ้น
2. เสริมพลังชี่ บำรุงยิน เป็นวิธีการเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มเซลล์แมกโครฟาจ (macrophage) และปรับสมดุลของสารน้ำในเซลล์ควบคู่กันไป

สรุป
ทฤษฎียิน-หยางของแพทย์จีน มุ่งเน้นการแยกแยะ สรรพสิ่งเป็น 2 ด้านเสมอ
สิ่งก่อโรค (เสียชี่ ) กับ ภูมิร่างกาย (เจิ้งชี่ )
อาการของโรค กับ เหตุแห่งโรค
ร่างกายภายนอก กับ อวัยวะภายใน
โรคใหม่ที่เพิ่งปรากฏ กับ โรคที่เป็นอยู่ก่อน

สิ่งก่อโรค อาการของโรค สิ่งปรากฏภายนอกร่างกาย โรคที่เพิ่งปรากฏให้เห็น จัดเป็นปรากฏการณ์ บางทีเรียกว่า ปลายเหตุ

ภูมิร่างกาย เหตุแห่งโรค โรคอวัยวะภายใน โรคที่เป็นอยู่ก่อน จัดเป็นธาตุแท้ บางทีเรียกว่า ต้นเหตุ
การรักษาโรคด้วยทัศนะแพทย์แผนปัจจุบัน มักจับเอาปรากฏการณ์เฉพาะส่วนมาวินิจฉัย ว่าเป็นโรคอะไร แล้วให้การรักษา ซึ่งจะได้ผลดีเฉพาะส่วน แต่ไม่ได้แก้ธาตุแท้และองค์รวมของปัญหาทั้งหมด การรักษาจึงมักเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อระบบต่างๆ

การรักษาโรคด้วยทัศนะแพทย์แผนจีน มักเน้นการปรับสมดุลพื้นฐานของร่างกาย เป็นการสร้างเงื่อนไข ไม่ให้เกิดโรคหรือทำให้โรคถูกควบคุมด้วยภาวะเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการรักษาที่ธาตุแท้ และมีลักษณะองค์รวม ร่วมกับการรักษาอาการ

การแพทย์ในเชิงบูรณาการคือการแก้ปัญหาทั้งปรากฏการณ์ที่พบ ที่การปรับสมดุลพื้นฐานของร่างกาย ซึ่งเป็นธาตุแท้ของการเกิดโรค โดยเลือกเอาข้อดีข้อเด่นของแต่ละศาสตร์มาร่วมกัน จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงและป้องกันจุดอ่อนของความโน้มเอียงการรักษาทางการแพทย์ที่สุดขั้ว