การฟื้นฟู ดูแลตับด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน (1)

สถานการณ์ของโรคมะเร็งในภาพรวมของประเทศไทย จากสถิติ พบว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 16 ของต้นเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด สูงกว่าอันตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และโรคหัวใจเฉลี่ย 2 ถึง 3 เท่า หรือมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ย 8 รายต่อชั่วโมงในปี พ.ศ.2561 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ โดยประมาณอยู่ที่ 170,495 ราย และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 114,199 รายสำหรับ 5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่

โรคมะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโรคมะเร็งที่เกิดในผู้ชายไทย โดยมักพบในคนอายุ 30-70 ปี และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า เนื่องจากเพศชายมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง โดยโรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ

เนื่องจาก 90% ของมะเร็งตับเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีจึงมีโอกาสเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับสูง หากมีมะเร็งตับเกิดขึ้น มะเร็งตับจะโตขึ้นเป็น 2 เท่าภายในเวลา 3-6 เดือน ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง   1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็ง เกิดจากการที่มีพฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด การรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ที่น้อยเกินไป รวมทั้งการขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอ

บทบาทของตับมีความเกี่ยวข้องกับมะเร็ง

ตับมีหน้าที่สำคัญมากประการหนึ่ง คือ ขับถ่ายของเสียและสารพิษต่าง ๆ ตับมีหน้าที่กำจัดของเสีย ไม่ว่าจะเป็นแอมโมเนียที่เกิดจากการสลายโปรตีนให้เป็นยูเรีย เพื่อนำออกทางปัสสาวะ

การขจัดบิลิรูบินเกิดจากการแตกสลายของฮีโมโกลบินของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้ว ปกติตับจะขจัดบิลิรูบินออกจากเลือดและขับมันทิ้งผ่านน้ำดี

 การขจัดของเสียที่ได้มาจากอาหารหรือสารที่เรารับเข้าไป เช่นยา แอลกอฮอล์ กาแฟ ฮอร์โมน หรือสารที่เป็นพิษรวมถึงสารพิษจากการหายใจ ตับจะแปรสภาพสารพิษและยาต่างๆให้อยู่ในรูปที่ร่างกายสามารถขับถ่ายออกไปได้

การขจัดสารพิษและของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการแมทาบอลิซึมของร่างกายจากการสังเคราะห์และสลายชีวเคมีต่างๆ รวมถึงสารชีวเคมีจากความแปรปรวนของจิตใจ อารมณ์และความเครียด 

การขจัดสารอาหารที่ย่อยแล้ว ถ้ามีปริมาณมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ตับจะถือว่าเป็นสารพิษที่ต้องขับทิ้งออกจากร่างกาย ตับจะทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย แต่ถ้าอาหารเหล่านั้นมีปริมาณมากเกินกว่าที่ตับจะสามารถขับทิ้งได้หมดตับก็จะเฉื่อยชาและตับเริ่มเสื่อมสภาพ ในขณะเดียวกันสารพิษหรืออาหารเหล่านั้นก็จะแทรกตัวเข้ากระแสเลือดเข้าสู่ร่างกาย เช่น น้ำหนักตัวเกิน ไขมันในเลือดเริ่มสูง ไขมันพอกตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง เกิดอนุมูลอิสระทำให้ง่ายต่อการเกิดมะเร็ง

นอกจากนี้ตับยังทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันและทำลายเชื้อโรครวมถึงสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในร่างกาย ถือว่าเป็นเกราะกำบังที่สำคัญของร่างกาย

เซลล์ตับวางเรียงตัวกันเป็นแถว สลับด้วยท่อเลือดขนาดเล็ก (Sinusoids) ซึ่งอยู่เต็มไปหมด เพื่อใหัเลือดไหลเข้าและออกได้สะดวก อีกทั้งเพื่อให้เซลล์เหล่านั้นได้สัมผัสกับเลือดได้โดยทั่วถึง   ผนังของ sinusoids มีKupffer cells เซลล์ที่อยู่ในพวก Macrophage ทำหน้าที่จับกิน (Phagocytose) สิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคที่ผ่านมาในตับ

สรุปได้ว่า ตับมีบทบาทสำคัญในการขจัดสิ่งแปลกปลอม สารพิษ เชื้อโรคที่เข้ามาสู่ร่างกายหรือของเสียที่เกิดจากกระบวนการเมทาบอลิซั่มของร่างกาย มีส่วนสำคัญต่อการเกิดมะเร็งของร่างกาย

เปรียบเทียบหน้าที่ของตับในมุมมองแผนปัจจุบันและแผนจีน

ตับ เป็นอวัยวะที่สำคัญและเป็นต่อมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ขนาดปกติของตับจะมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม

ปริมาณโลหิตในร่างกายทั้งหมดซึ่งมีประมาณ 5,000 ซีซี. (5 ลิตร) จะไหลเวียนผ่านตับ 1 รอบใช้เวลาเพียง 4-5 นาทีเท่านั้น หรืออาจกล่าวให้น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกว่า ตับเป็นอวัยวะที่มีเลือดในร่างกายไหลผ่านถึงวันละ 360 รอบ คิดเป็นจำนวนเลือดที่ไหลผ่านมีปริมาณมากถึงวันละ 1,800 ลิตร (คิดเป็นน้ำหนักถึง 1.8 ตัน)

ตับมีหลอดเลือดใหญ่ 3 เส้นที่เกี่ยวข้อง คือ

  • หลอดเลือดดำมาจากม้ามและกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อนจะนำกลูโคสและสารอาหารต่างๆที่เพิ่งผ่านการย่อยและดูดซึมมาส่งให้ตับ     
  • หลอดเลือดแดงจากหัวใจ นำเลือดแดงที่อุดมด้วยออกซิเจนมาส่งเลี้ยงเซลล์ตับ
  • หลอดเลือดดำจากตับ เข้าสู่หลอดเลือดดำหัวใจ ทั้งนี้ตับได้ฝากส่งคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำตาลกลูโคส และสารอาหาร รวมทั้งตับอ่อนก็ได้ช่วยส่งอินซูลิน (เป็นผู้นำพากลูโคส) ให้หัวใจ เพื่อส่งไปรับออกซิเจนจากปอดก่อนแล้วจึงจะแจกจ่ายไปทั่วทุกเซลล์ในร่างกายซึ่งสอดคล้องกับหน้าที่ของตับในทัศนะแพทย์แผนจีนคือ การเก็บเลือด(主藏血)

ทางแผนปัจจุบันมองว่า ม้ามเป็นอวัยวะในการเก็บเลือด(ไม่ใช่ตับ) ในทัศนะแพทย์แผนจีนมองไปในภาพรวมของปริมาณเลือดทั้งหมดของร่างกายที่มีอยู่หลอดเลือดดำของช่องท้องมีปริมาณ 50%-70%ของปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกาย  ปริมาณเลือดในตับ 3 ใน 4มาจากหลอดเลือดดำพอร์ทัล (hepatic portal vein) 1 ใน 4มาจากหลอดเลือดแดงตับ (hepatic artery)จากหัวใจ

หลอดเลือดดำพอร์ทัล (hepatic portal vein)มาจากหลอดเลือดดำของม้ามและกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน

กรณีที่ร่างกายถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก ต่อมหมวกไตจะหลั่งสารกระตุ้นการทำงานของร่างกาย ทำให้หลอดเลือดจากม้ามและระบบย่อยอาหารหดตัว ทำให้ตับเพิ่มการสูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่างๆของร่างกายเพื่อการปรับตัวในการตอบสนอง ในภาวะที่สงบผ่อนคลาย หลอดเลือดเหล่านี้จะคลายตัว ทำให้เลือดส่วนใหญ่จะพักอยู่ในช่องท้องและตับ