ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ “น้ำ” เพื่อสุขภาพ
- ภายหลังเจ็บป่วยรุนแรง หลังคลอด ห้ามอาบน้ำเย็น เพราะจะกระทบเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจ ทำให้กระทบการทำงานของหัวใจ
- ภายหลังเหงื่อออกมาก หรือออกกำลังกายจนเหงื่อออกมาก หรืออากาศร้อนเหงื่อออกมาก ไม่ควรอาบน้ำเย็นทันทีทันใด เพราะเป็นช่วงที่รูขุมขนเปิดกว้าง เมื่อโดนกระทบความเย็น จะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เกิดความเย็นภายใน
- ห้ามดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มที่แช่เย็น ใส่น้ำแข็ง เพราะน้ำเย็นและน้ำแข็ง เป็นพลังความเย็นจะมีผลทำให้ร่างกายสูญเสียพลังความร้อน กระทบกระเทือนระบบย่อยและดูดซึม ทำให้ระบบการเผาผลาญของร่างกายลดน้อยลง เกิดโรคต่างๆ หลายระบบในที่สุด
คนที่ดื่มเหล้า ขณะดื่มเหล้าจะเกิดจากความรู้สึกร้อนจากฤทธิ์ของเหล้า รู้สึกกระหายอาจดื่มน้ำเย็น เหล้าโซดาผสมน้ำแข็งจึงมักไปด้วยกัน การดื่มเช่นนี้จะเป็นอันตรายต่อร่างกายระยะยาว
- การดื่มน้ำอุ่น จะช่วยลดอาการปวด (ปี้เจิ้ง痹症) เพราะน้ำอุ่นกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและพลัง สามารถลดอาการปวดเกร็งของเนื้อเยื่อ กระตุ้นการขับเหงื่อ ขับของเสียออกจากร่างกาย
การแช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนนอน จะช่วยกระตุ้นให้นอนหลับง่าย ผ่อนคลายสมอง กระตุ้นการไหลเวียนเลือด
เทคนิคการดื่มน้ำของคนโบราณ : การดื่มน้ำที่มีทั้งยินและหยาง
น้ำต้มเดือดแล้วปล่อยให้เย็นค้างคืน
น้ำเดือดเป็นน้ำสุก มีภาวะเป็นหยาง ทิ้งค้างคืนรับภาวะความเป็นยินของธรรมชาติ ทำให้น้ำเป็นยินในวันรุ่งขึ้น ก่อนดื่มเติมน้ำอุ่นเล็กน้อยเพิ่มความเป็นหยาง ทำให้น้ำมีสภาพเป็นยินและเป็นหยางในขณะดื่ม
สรุปคือต้องดื่มน้ำที่มีความอุ่นและสะอาดนั่นเอง การดื่มน้ำอุ่นที่มีภาวะยินหยาง จะช่วยปรับระบบกระเพาะอาหารและม้าม (จงเจียว) และทำให้ระบบการไหลเวียนของช่องอก, ช่องท้อง, ช่องเชิงกราน (ซานเจียว) ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อของอวัยวะภายในทำงานคล่องตัวไม่ติดขัด
ถ้าใช้แค่น้ำเย็นที่ไม่มีความเป็นหยาง จะขาดมิติของการเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนน้ำ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของชีวิต ทำให้เป็นจุดอ่อนกับสุขภาพ
นี่คือเหตุผลที่ว่า “น้ำ เป็นแหล่งแปรเปลี่ยนสรรพสิ่ง” และน้ำในที่นี้ต้องเป็นน้ำที่มีทั้งยินและหยาง