คุณรู้จัก”หอมใหญ่”ดีรึยัง?

“หอมหัวใหญ่” ภาษาจีนมีหลายชื่อ ชงโถว  หูชง    ยวี่ชง  
รูปร่างลักษณะคล้ายกระเทียม จึงมีคนเรียกว่า ซ่วนชง เป็นหอมที่มาจากนอกประเทศ ไม่ใช่หอมพื้นบ้านในประเทศจีน แหล่งกำเนิดเดิมอยู่ที่เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เป็นพืชที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี ในยุโรป อเมริกา ยกย่องเป็น “ราชินีของพืชผัก”

คัมภีร์สมุนไพร “เปิ่นเฉ่ากังมู่” ได้พูดถึงหอมหัวใหญ่  ไว้ดังนี้

ฤทธิ์และรส   ฤทธิ์อุ่น รสเผ็ด ไม่มีพิษ  เข้าเส้นลมปราณ ปอดและกระเพาะอาหาร
หอมหัวใหญ่ดิบ ฤทธิ์สุขุม รสเผ็ด
หอมหัวใหญ่สุก ฤทธิ์อุ่น รสเผ็ด

สรรพคุณ    
1. อุ่นจงเจียว (ส่วนกลางร่างกายบริเวณกระเพาะอาหาร)
2. ทำให้พลังลงสู่ด้านล่าง
3. สลายการตกค้างของอาหาร ทำให้เจริญอาหาร
4. ฆ่าพยาธิ
5. ทำให้พลังการไหลเวียนในอวัยวะภายในคล่องตัว 
6. รักษาบวมจากพิษ ด้วยการใช้ภายนอก
7. ทำให้กระดูกอ่อนนุ่ม เมื่อนำมาต้มกับกระดูกสัตว์

ข้อควรระวังที่บันทึกไว้
1. การกินนานๆ หรือมากเกินไป จะทำลายจิตประสาท ทำลายสมรรถภาพทางเพศ
2. ทำให้ลืมง่าย ความจำเสื่อม ตามัว เส้นเลือดไหลเวียนไม่ดี (พลังและเลือดถูกทำลาย) ทำให้โรคหายช้า เรื้อรัง
3. คนที่มีกลิ่นตัวเหม็น คนที่ถูกสัตว์มีเคี้ยวมีพิษกัด กินหอมหัวใหญ่จะมีอาการรุนแรงขึ้น
4. เดือน 4 (ฤดูใบไม้ผลิ) ไม่กินหอมหัวใหญ่ เพราะจะทำให้อาการหอบหืดรุนแรง
     
ในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยบทบาทของหอมหัวใหญ่ ต่อการรักษาสภาพของหลอดเลือดในหลายๆ ด้าน เช่น
1. ฤทธิ์ในการลดความดันเลือด
เนื่องจากบทบาทของสารพรอสตาแกลนดินสามารถลดความด้นเลือด ป้องกันการเกิดเส้นเลือดอุดตัน ป้องกันโรคหัวใจและสมอง
2. ป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด
ลดการเกาะตัวของลิ่มเลือด ได้ถึงร้อยละ ๓๔ การกินระยะยาวทำให้หลอดเลือดสะอาด  ลดการแข็งตัวของหลอดเลือด
3. ลดระดับไขมันในเลือด
4. มีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการก่อมะเร็ง
5. ลดภาวะกระดูกพรุน โดยเฉพาะในสตรีวัยหมดประจำเดือน
6. ช่วยเพิ่มไขมันดี (เอชดีแอล) ในเลือด
7. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
    
ตำรับอาหาร  เกี่ยวกับหอมหัวใหญ่
1. หอมหัวใหญ่ + เห็ดหูหนู
หั่นหอมหัวใหญ่เป็นแผ่น แล้วลวกด้วยน้ำอุ่น ใส่ผสมกับเห็ดหูหนูที่เตรียมเสร็จแล้ว อาจปรุงรสเป็นอาหารหวาน หรือยำกินตามใจชอบ
– หอมหัวใหญ่ช่วยรักษาเบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง
– เห็ดหูหนูดำ ช่วยลดไขมันในเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ป้องกันการเกาะตัวของเลือด
เมื่อใช้อาหารทั้ง 2 มาผสมกันจะเสริมฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น

2. หอมหัวใหญ่แช่น้ำส้มสายชู
ใช้หอมหัวใหญ่ 1 หัว ล้างสะอาด หั่นเป็นแผ่นบางๆ ใส่เข้าในไมโครเวฟ ประมาณ 2-3 นาที แล้วเก็บในภาชนะ ใส่น้ำส้มสายชู 5 ช้อนโต๊ะ แช่ไว้ปิดภาชนะให้สนิท ใส่ในตู้เย็น ทิ้งไว้ 2 วัน ก็นำมากิน ช่วยลดน้ำตาลในเลือดและลดน้ำหนัก

3. ใช้เปลือกนอกของหอมหัวใหญ่
นำเปลือกนอกของหอมหัวใหญ่ต้มน้ำดื่ม หรือกินผัดหอมหัวใหญ่บ่อยๆ จะสามารถลดกระจกตาฝ้ามัว ทำให้การมองเห็นดีขึ้น
    
แม้ว่าการศึกษาวิจัยผลดีของหอมหัวใหญ่ จะมีข้อดีหลายด้านด้วยกัน แต่เนื่องจากหอมหัวใหญ่ มีฤทธิ์อุ่นและรสเผ็ด เมื่อนำมาใช้กับแต่ละบุคคล จึงต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายและโรคของผู้ป่วยด้วย
ฤทธิ์อุ่นและเผ็ด สามารถกระจายขับไล่ความเย็น ทำให้หยางทะลุทะลวงไปยังส่วนต่างๆได้ สามารถขจัดพิษและปัจจัยกระทบจากภายนอกที่เป็นความเย็นได้ดี
แต่ฤทธิ์ในการกระจายและทะลุทะลวงไม่มีฤทธิ์ในการบำรุงพลังหยางของร่างกาย เมื่อนำมาใช้นานๆ จะทำให้ร่างกายเสียพลังได้ง่าย
จะเห็นว่าข้อควรระวังของแพทย์จีนโบราณ จึงมีการกล่าวถึงว่า ถ้าใช้ไปนานๆ หรือมากเกินไป จะทำให้พลังกระจายฟุ้งซ่าน จิตประสาทหรือโรคหายช้าลง รวมทั้งพิษกระจายในกรณีถูกสัตว์มีเคี้ยวกัดต่อย หรือในกรณีผู้ป่วยหอบหืดที่มีพลังอ่อนแอเป็นหลัก (ไม่ใช่เกิดจากกระทบความเย็น) แทนที่อาการหอบจะดีขึ้น กลับจะทำให้กำเริบมากขึ้น
 
การรู้ข้อดีของหอมหัวใหญ่ จึงต้องรู้ข้อเสียด้วยและนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม
“อาหารและยามีที่มาจากแหล่งเดียวกัน” มีทั้งคุณและโทษ การประยุกต์ใช้ต้องคำนึงถึงสภาพบุคคล เวลา สภาพภูมิประเทศและปัจจัยอื่นๆ ด้วย