ปรับสมดุล สร้างภูมิคุ้มกัน ต้านโควิด ด้วยแพทย์แผนจีน (2)

ภูมิคุ้มกัน – พลังพื้นฐานในการต่อสู้กับโรค(เจิ้งชี่ 正气) ในมุมมองแพทย์แผนจีน

พลังเจิ้งชี่กระกายอยู่ทุกอวัยวะภายในและทางเดินเส้นลมปราณ มีบทบาทในการผลักดันกระตุ้นให้ระบบการทำงานทางสรีระของร่างกายทำงานเป็นปกติ ปรับการสร้าง สารจำเป็น เลือด สารน้ำ รวมถึง การลำเลียง การขับถ่ายของเสีย เพื่อทำให้เลือดและพลังไหลเวียนไม่ติดขัด  ไม่ก่อเกิดของเสียในร่างกาย  เช่น เสมหะ ความชื้น เลือดคั่ง

แพทย์แผนจีนใช้ตรวจสภาพสมดุลร่างกายด้วยวิธีการสื่อเจิ่น(四诊) โดยใช้อวัยวะสัมผัสของแพทย์ในการรวบรวมข้อมูลมาสังเคราะห์และวิเคราะห์ประเภทของร่างกายเพื่อวางแผนการรักษาในการปรับสมดุล

ระบบภูมิคัมกันหรือเจิ้งชี่ในความหมายแพทย์แผนจีนจึงไม่ได้มองไปเฉพาะรบบภูมิคุ้มกัน หรือการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ แต่เกี่ยวข้องกับการปรับระบบการทำงานของอวัยวะภายในทุกอวัยวะ การไหลเวียนของเลือดและพลัง การป้องกันการติดขัดของเลือด พลัง สารน้ำและการขับสิ่งก่อโรคภายในที่เกิดขึ้นจากการทำงานของร่างกาย                                                                                                                               

การสร้างพลังและเก็บพลังของร่างกายเกี่ยวข้องกับอวัยวะม้ามและไต  ม้ามจึงเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตหลังกำเนิด ถ้าทำงานของม้ามดี ทำให้มีการสร้างเลือดและพลังลมปราณได้ดี สุขภาพแข็งแรง ถ้าม้ามอ่อนแอ ทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเดิน อ่อนแอ ไม่มีพลัง เลือดและพลังพร่อง ส่วนไตคืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับสารจิง การปรับสมดุลยินหยาง  ระบบฮอร์โมน ไขกระดูกเป็นต้นทุนที่มาแต่กำเนิด  การสร้างเม็ดเลือดขาว สร้างเลือด เกล็ดเลือด เกี่ยวข้องกับไขกระดูก ทั้งม้ามและไตมีการทำงานที่เสริมกันและเป็นต้นทุนสำคัญในการสร้างเจิ้งชี่หรือระบบภูมิคุ้มกัน

การสร้างภูมิคุ้มกันสู้โควิด คือการปรับสมดุลสร้างเสริมสุขภาพ

หลักการปรับสมดุลเพิ่มภูมิคุ้มกัน 3 ประการ

1.ความสมดุลระหว่าง ยินและหยาง

จุดมุ่งหมายเพื่อไม่ให้เกิดความโน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ระบบประสาทและฮอร์โมนในการปรับสมดุลของร่างกายมี 2  ด้าน ด้านกระตุ้นการทำงานและด้านยับยั้งหรือลดการทำงานของอวัยวะภายใน  การดำเนินชีวิต  การทำงาน ออกกำลังกายกับการพักผ่อน นอนหลับ  อาหารและสมุนไพรมีฤทธิ์ร้อนฤทธิ์เย็นจะรัปประทานให้เหมาะสมอย่างไร  การปรับสมดุลในทุกเรื่องต้องคำนึงถึงทั้ง 2 เสมอและต้องให้น้าหนักว่าจะปรับด้านใดเป็นด้านหลัก ด้านใดเป็นด้านรองตามที่เป็นจริง

2.การบำรุงเจิ้งชี่(ภูมิคุ้มกัน) การขับเสียชี่ (สิ่งก่อโรค)

กล่าวสำหรับโควิดแล้ว จุดมุ่งหมาย คือด้านหนึ่งต้อง ลดการสัมผ้สรับเชื้อโรค ป้องกันการรับเชื้อโรค  ขจัดสิ่งก่อโรค  และอีกด้านต้องการเสริมภูมิคุ้มกันต่อสู้กับไวรัส

– เมื่อได้รับเชื้อ การเกิดโรคโควิด19 ที่รุนแรงหรือไม่  เป็นผลลัพธ์ของการต่อสู้ระหว่างสิ่งก่อโรค( เสียชี่ -ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่)กับพลังพื้นฐานของร่างกาย(เจิ้งชี่-ภูมิคุ้มกัน)

  ถ้าไวรัสปริมาณมาก ร่างกายอ่อนแอ ทำให้เกิดโรค

  ถ้าไวรัสปริมาณน้อย ร่างกายแข็งแรง ไม่เกิดโรค

  ถ้าไวรัสปริมาณมาก ร่างกายแข็งแรง เกิดการต่อสู้ มีอาการแสดงออกรุนแรง แม้ว่าในที่สุดร่างกายชนะ แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายแก่อวัยวะปอดรุนแรง มีผลแทรกซ้อนตามมา

 ถ้าไวรัสปริมาณน้อย ร่างกายอ่อนแอ อาการของโรคก็ยืดเยื้อ เป็นพาหะของโรค

3.ปรับการทำงานของอวัยวะภายในตามสภาพร่างกายของแต่ละคน

เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  แพทย์จีนแบ่งพื้นฐานร่างกายเป็น9 แบบ การปรับสมดุลจึงมึความแตกต่างกันตามสภาพร่างกาย  แพทย์จีนใช้การตรวจวินิจฉัยโดยใช้การมอง การดมการได้ยิน การถาม การสัมผัสจับชีพจร นำข้อมูลมาวิเคราะห์แยกแยะสภาพร่างกาย

1.แบบกลางๆ平和质(A)

2.แบบพลังพร่อง气虚质(B)

3.แบบหยางพร่อง阳虚质(C)

4.แบบยินพร่อง阴虚质(D)

5.แบบเสมหะชื้น痰湿质(E)

6.แบบร้อนชื้น湿热质(F)

7.แบบเลือดติดขัด血瘀质(G)

8.แบบพลังติดขัด气郁质(H)

9.แบบพิเศษเฉพาะ特禀质(I)

การใช้สมุนไพรที่เน้นการฆ่าไวรัสด้านเดียวโดยในคนที่ร่างกายอ่อนแอ ไม่มีพลัง ขี้หนาว จะทำให้ทำลายภูมิค้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย ติดเชื้อโรคจะรุนแรง หรือเป็นเรื้อรัง ร่างกายบอบช้ำมาก ในทางกลับกันคนที่ร่างกายมีของเสีย เสมหะคั่งค้าง เลือดคั่ง พลังติดขัดในร่างกายมาก แทนที่จะปรับสมดุลในการขับของเสีย ไปเน้นการเสริมบำรุง  รวมถึงขณะติดเชื้อรุนแรงจากการมีเชื้อไวรัสในร่างกายมาก จะยิ่งทำให้โรครุนแรงขึ้น

ในทางปฏิบัติต้องพิจารณาทั้ง 2ด้านในการใช้ยา แต่ให้น้ำหนักการรักษาในแต่ระยะต่างกัน