น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย คิดเป็นน้ำหนักถึงร้อยละ 65 เลือดของเรามีส่วนประกอบของน้ำถึงร้อยละ 80 การเคลื่อนไหวไหลเวียนของน้ำในร่างกายทำให้สารอาหาร ไม่ว่าจะเป็นกรดอะมิโน กลูโคส ไขมัน วิตามิน เอนไซม์ ฮอร์โมน เป็นต้น สามารถเข้าหล่อเลี้ยงเซลล์ หรือทำให้เกิดกระบวนการดำรงอยู่ของชีวิต
ในทางกลับกันก็เป็นตัวลำเลียงของเสียจาก เซลล์ ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอไดออกไซด์ ยูเรีย ครีอะตินิน เป็นต้น เพื่อขับทิ้งออกจากร่างกาย ทางศาสตร์แพทย์จีน อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายปัสสาวะอย่างมาก คือ ปอด ม้าม ไต กระเพาะปัสสาวะ หัวใจ
ปัสสาวะของคนปกติ
ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงจำนวนครั้งของการปัสสาวะ ตอนกลางวัน ประมาณ 4-6 ครั้ง ปัสสาวะกลางคืน หลังนอนหลับ 0-1 ครั้ง สีของปัสสาวะ เหลืองอ่อนใส ปัสสาวะคล่องไม่ติดขัด ทั้งนี้ปัสสาวะที่ปกติสามารถ สะท้อนภาวะของสารน้ำและระบบการทำงานของอวัยวะภายในที่สำคัญของร่างกาย อย่างไรก็ตาม ปริมาณปัสสาวะจำนวนครั้งของการปัสสาวะ ยังแปรเปลี่ยนตามจำนวนน้ำที่ดื่ม อุณหภูมิ ของอากาศภายนอก ปริมาณ เหงื่อที่ออก และอายุ
ความผิดปกติของปัสสาวะในความหมายของแพทย์แผนจีน
แพทย์แผนปัจจุบัน บอกความผิดปกติของปัสสาวะมักเน้นหนักไปที่การดูส่วนประกอบในรายละเอียดทางเคมี และการตรวจพบสิ่งตรวจพบจากกล้องจุลทรรศน์ เช่น บอกภาวะของความต่างจำเพาะ ภาวะเป็นกรดด่าง การมีปริมาณกลูโคส โปรตีน ยูเรีย เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เป็นต้น
แพทย์แผนจีนไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ อาศัยการดูสี ดูปริมาณ ถามความถี่บ่อยของการปัสสาวะ ความรู้สึกในการถ่าย ดมกลิ่นของปัสสาวะ เพื่อบอกความผิดปกติ ไม่สามารถบอกรายละเอียดที่ชัดเจน
ความผิดปกติพิจารณา 5 ด้าน คือ
1.ปริมาณ
2.ความถี่ หรือจำนวนครั้งของการปัสสาวะ
3.สีของปัสสาวะ
4.ความรู้สึกผิดปกติขณะปัสสาวะ
5.กลิ่นของปัสสาวะ
ความผิดปกติของปริมาณปัสสาวะ
ปริมาณปัสสาวะมากเกินไป บ่งบอกถึง พลังของไต หรือหยางของไตพร่อง ทำให้การดึงกลับของน้ำลดลงถ้าปัสสาวะมากและใส ร่วมกับมือเท้าเย็นกลัวหนาว บ่งบอกว่า ไตหยางพร่อง ถ้ากระหายน้ำ คอแห้งถึง จุก ปัสสาวะมาก บ่งบอกถึงโรค เซียวเข่อ (เบาหวาน) ที่มีผลต่อการทำงานของไต (เซี่ยเจียว) เป็นภาวะไตยินพร่อง
ปริมาณปัสสาวะน้อยไป บ่งบอกถึง ภาวะของร่างกายมีความร้อนภายในมาก ภาวะการสูญเสียสารน้ำในร่างกาย เช่น ท้องเสีย อาเจียน เหงื่อ ออกมาก ภาวะของอวัยวะภายในปอด ม้าม ไต อ่อนแอ พลังหยาง ของอวัยวะภายในเหล่านี้ไม่สามารถทำให้เกิดปัสสาวะได้ (ภาวะช็อก เนื่องจากขาดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงไต)
ความผิดปกติของความถี่ในการปัสสาวะ
ปัสสาวะเข้ม (เหลืองน้ำตาล) ร่วมกับอาการปวดเบ่ง ปวดบ่อยๆ บ่งบอก ภาวะร้อนชื้นของกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ)
ปัสสาวะใส ปัสสาวะถี่บ่งบอก พลังไตไม่พอขาดแรงพยุงดึงรั้งปัสสาวะ
ปัสสาวะตอนกลางคืน ปริมาณมาก ใส บ่อย บ่งบอก ภาวะ ไตวายระยะท้าย หรือคนสูงอายุ (พลังไตอ่อนแอ) ไตทำหน้าที่ในการดึงกลับสารน้ำไม่ได้
ปัสสาวะบ่อย ปริมาณน้อย ติดขัด บ่งบอกภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากความร้อนชื้น เลือดอุดกั้น หรือคนสูงอายุ (ต่อมลูกหมากโต) เนื่องจากพลัง หยางของไตอ่อนแอ
ความรู้สึกผิดปกติขณะปัสสาวะ
ปวดขณะปัสสาวะ ลักษณะปวดเบ่ง ปวดแสบ ปัสสาวะลำบาก บ่งบอกภาวะร้อนชื้นของกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ)
ปวดแบบกลวงๆ ว่างเปล่า ภายหลังการถ่ายปัสสาวะ บ่งบอก ภาวะไตพร่อง (พบในคนสูงอายุ)
ปัสสาวะหยดไม่ค่อยหยุด หลังจากปัสสาวะแล้ว บ่งบอก ไตอ่อนแอ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ บ่งบอกภาวะพลังไตไม่สามารถดึงรั้งปัสสาวะได้ ถ้าพบในรายหมดสติ บ่งบอกภาวะช็อก หรือโคม่า
ปัสสาวะรดที่นอน บ่งบอกภาวะไตอ่อนแอ เช่น ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ หรือผู้ป่วยที่ร่างกาย สูญเสียพลังพื้นฐานอย่างรุนแรง
กลิ่นของปัสสาวะปกติ ปัสสาวะจะมีภาวะเป็นกรด ไม่มีกลิ่นชัดเจน ถ้าทิ้งไว้นาน สารยูเรียในปัสสาวะจะเปลี่ยน เป็นแอมโมเนีย
กลิ่นปัสสาวะผิดปกติแบ่งเป็น 4 ประเภท
กลิ่นคาวปลา มักเกี่ยวกับปัสสาวะที่ใส ถ้ามีอาการกลัวหนาว มือเท้าเย็น บ่งบอกภาวะหลังไตพร่อง
กลิ่นสาบ มักเกี่ยวกับปัสสาวะเหลืองข้น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะปวดเบ่ง บ่งบอกภาวะร้อนชื้ของกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัส-สาวะอักเสบ)
กลิ่นเหม็นเน่า ปัสสาวะมักขุ่นมีเลือดปน มักเกิดจากเนื้องอก กระเพาะปัสสาวะที่มีการอักเสบร่วม
กลิ่นแอปเปิ้ลเน่า มักพบในผู้ป่วยเบาหวานรุนแรง หรือไตวาย
ความผิดปกติของสีปัสสาวะ
สีปกติ คือ เหลืองอ่อนใส ไม่มีตะกอนหรือความขุ่นข้น
ปัสสาวะสีเหลือง หมายถึง ร้อนแกร่ง
ปัสสาวะสีใส หมายถึง เย็นพร่อง (เบาจืด ไตวาย ไตพร่อง)
ปัสสาวะขุ่น หมายถึง ความชื้น (เบาหวาน โปรตีนมาก)
ปัสสาวะสีแดง หมายถึง ความร้อน (การอักเสบ) ทำลายหลอดเลือด (เลือดออกทางเดินปัสสาวะ)
ปัสสาวะขุ่นขาวมีปริมาณมาก ผู้ป่วยกระหายน้ำ กินจุ บ่งบอกโรคเซียวเข่อ (เบาหวาน)
ปัสสาวะสีเหลืองเข้มขณะมีไข้ตัวร้อน ถ้าหากสีปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีใสขึ้นแสดงว่าความร้อนลดถอยลง
อาการของโรคเริ่มดีขึ้น ถ้าปัสสาวะสีเหลืองเข้มร่วมกับมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง บ่งบอก ภาวะดีซ่าน นอกจากนี้ สีของปัสสาวะยังขึ้นกับอาหารหรือยาที่กินเข้าไปด้วย จึงต้องแยกแยะความผิดปกติและถามประวัติอื่นประกอบ เช่น ปัสสาวะสีฟ้าหรือสีเขียว
สรุป
ปัสสาวะเป็นผลจากการทำหน้าที่ของไตในการผ่านทางขับถ่ายสารของเสียที่ไม่ต้องการ หรือส่วนเกินสารน้ำของร่างกายการที่ปัสสาวะเข้มหรือจางเกินไปมากหรือน้อยเกินไป ขุ่นข้น สีผิดปกติ มีกลิ่นผิดปกติ แพทย์แผนจีนบอกได้ในด้านกว้างๆ ว่าเป็นเพราะมีความเย็น ความร้อน ความชื้น หรือ เป็นเพราะระบบสมดุลของอวัยวะภายในส่วนใดพร่อง โดยเฉพาะของไต ม้าม หรือปอด