ยาสมุนไพรจีนและยาแผนปัจจุบัน กินพร้อมกันได้หรือไม่?
เนื่องจากแพทย์แผนจีนมีแนวคิดในการปรับสมดุลเลือดและพลังยินหยางของร่างกายเป็นหลัก ภาวะร่างกายของคนพื้นฐานมีความแตกต่างกัน บางคนร่างกายมีความร้อนมาก (หยางมาก) บางคนมีความเย็นมาก (ยินมาก) ตัวยาที่ใช้รักษาจึงมีความแตกต่างกัน เพื่อปรับสมดุลยินหยางของอวัยวะต่างๆ ที่มีปัญหาต่างกัน การเลือกอาหารปรับสมดุลในแต่ละคน จึงเป็นลักษณะปัจเจกตามสภาพร่างกายและภาวะเสียสมดุล
หลักการง่ายๆ ในทางปฏิบัติขณะรับประทานยาสมุนไพรจีน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์เย็น หรือ ของดิบ, ผักสด
- หลีกเลี่ยงอาหรที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อน, มัน, เหนียวหนืด
เพราะทั้ง 2 ประเภท มีผลกระตุ้นและยับยั้งการทำงานของระบบย่อยอาหารหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง
อาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น น้ำเย็น, น้ำแข็ง, ผลไม้, ผักดิบ จะทำให้ความเย็นปิดกั้นเลือดและพลังเกาะตัวไม่ไหวเวียน กลไกพลังแปรปรวน เกิดความชื้นภายใน ทำให้การดูดขับยาไม่มีประสิทธิภาพ กรณีที่ใช้ยาสมุนไพรมีฤทธิ์เย็น อาจเสริมฤทธิ์ยาทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดแน่นท้องได้
อาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เผ็ด มัน เหนียวหนืด อาหารประเภทนี้ย่อยยาก มักตกค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดความร้อน ความชื้น ยาดูดซึมยาก กรณีที่กินยาบำรุงจะเป็นการเพิ่มฤทธิ์อุ่นร้อนแก่ร่างกาย ทำให้คอแห้ง เจ็บคอ ท้องผูก ไม่สามารถรับประทานยาได้ตามขนาดที่ต้องการ
ผักผลไม้ก็ยึดหลักกลางๆ อย่าให้ร้อนหรือเย็นจนเกินไป (พิจารณาพื้นฐานร่างกายประกอบ) คนที่ร่างกายร้อน สามารถรับประทานอาหารออกไปทางเย็นได้มากหน่อย ส่วนคนที่ร่างกายเย็นรับประทานอาหารค่อนข้างเผ็ดร้อนได้มากกว่า แต่ไม่ควรรับประทานอาหารมัน เหนียว หนืด ย่อยยาก
กาแฟ ชา รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ควรเว้นระยะห่างของการรับประทานอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อการดูดซึมของยาและประสิทธิภาพของยาสมุนไพรจีน
ยาแผนปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นยาเน้นแก้อาการและแก้ปัญหาเฉพาะที่ เฉพาะจุด ส่วนยาสมุนไพรจีนเน้นที่ปรับสมดุล ปรับภาวะร่างกายให้การทำงานเข้าสู่ภาวะปกติ ถ้าบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างมีหลักวิชาที่ถูกต้อง จะหนุนเสริมการรักษาและทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น เรียกว่ารักษาทั้งอาการ โรคและรักษาคนไปพร้อมกัน