แพทย์แผนจีนอธิบายสาเหตุของอาการปวดเกิดจากการไหลเวียนของเลือดและพลังลมปราณในเส้นลมปราณ (Meridian) ติดขัด ไม่คล่อง : ความคล่อง-ไม่ติดขัด (ของเลือดและพลัง) ทำให้ไม่เจ็บปวด
การปวดก็เพราะการติดขัด-ไม่คล่อง (ของเลือดและพลัง)
ตัวอย่างการรักษาอาการปวด
– ปวดชายโครง
ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากการกระทบกระเทือนชายโครง แม้ว่าจะมีกระดูกซี่โครงหักหรือไม่ก็ตาม เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณชายโครงย่อมได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดแน่นๆ หายใจไม่สะดวก (ทั้งนี้รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัด) ตามแนวชายโครง
แพทย์แผนปัจจุบัน : มักให้การรักษาด้วยยาระงับปวด ยากล่อมประสาท หรือฉีดยาชาเฉพาะที่ที่มีการกดเจ็บ
แพทย์แผนจีน : มองว่าเส้นลมปราณ ถุงน้ำดี และตับ ซึ่งเป็นเส้นลมปราณบริเวณด้านข้างลำตัวถูกกระทบกระเทือนทำให้เลือดและพลังติดขัด การรักษาจึงต้องทะลวงการอุดกั้นของเส้นลมปราณให้คล่องตัว อาการปวดจึงจะทุเลา ในทางคลินิกจะพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะทางอารมณ์หงุดหงิดร่วมด้วย (เพราะการไหลเวียนติดขัดของถุงน้ำดี จะสัมพันธ์กับพลังของตับ)
– ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ
แพทย์แผนปัจจุบัน : มักให้การรักษาด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งหรือถุงน้ำดีทิ้ง
แพทย์แผนจีน : มองว่าการอักเสบเป็นผลจาก อุดกั้นของของเสียในลำไส้ใหญ่ จนเกิดความร้อน ความชื้นตกค้าง การระบายความร้อนความชื้นของอวัยวะกลวง ลำไส้ใหญ่ และถุงน้ำดี จะทำให้ลดอาการอักเสบ การปวดได้ บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดตามความเชื่อของการแพทย์แผนปัจจุบันทั้งหมด
– คออักเสบ
แพทย์แผนปัจจุบัน : มักให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อกับยาแก้ปวดลดไข้
แพทย์แผนจีน : นอกจากจะใช้ยาสมุนไพรขับพิษขับร้อนแล้ว คออักเสบมีความเกี่ยวกับเส้นลมปราณปอด การขับความร้อนบนเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ (สัมพันธ์กับปอด)ออกโดยการถ่ายอุจจาระหรือระบายความร้อนบนจุดฝังเข็มปลายทางของเส้นลมปราณปอด (จุดซ่าวซาง) ทำให้อาการเจ็บคอและการอักเสบจะทุเลาได้เร็วขึ้น
– ปวดประจำเดือน
ผู้หญิงที่ปวดประจำเดือนที่ไม่ได้เป็นโรคเกี่ยวกับมดลูกหรือรังไข่ หรือที่อาจถือว่าเป็นธรรมดาของผู้หญิงส่วนใหญ่ แผนปัจจุบันเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการแปรปรวนของฮอร์โมนระหว่างที่มีประจำเดือนและมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) มากผิดปกติ ทำให้มดลูกหดเกร็งตัว เกิดอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย
แพทย์แผนปัจจุบัน : การบรรเทาอาการจะเน้นไปที่ให้ยาแก้ปวด ยาลดการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อมดลูก ถ้าเป็นมากอาจต้องใช้ยาฉีดลดการเกร็งตัว บางรายอาจต้องกินยาคุมกำเนิดระยะหนึ่ง ประมาณ 3-4 เดือน แล้วลองหยุดยาดูว่าร่างกายสามารถปรับสภาพสมดุลของฮอร์โมนต่อได้หรือไม่ แต่รายที่อายุมากกว่า 25 ปี หรือรายที่สงสัยจะมีพยาธิสภาพ เกี่ยวกับมดลูก รังไข่ ก็ต้องทำการตรวจค้นหาสาเหตุกันต่อไป
แพทย์แผนจีน : รักษาทั้งอาการและพื้นฐานความไม่สมดุล เพื่อให้เลือดและพลังในเส้นลมปราณบริเวณชงม่ายไหลเวียนได้ดี อาการปวดจึงจะหายไปได้และจะป้องกันการเกิดโรคเกี่ยวกับมดลูกและรังไข่ที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลังได้
สรุป
การรักษาหรือบรรเทาอาการปวดของแพทย์แผนปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่รักษาแต่อาการปวด โดยใช้ยายับยั้ง หรือรบกวนการหลั่งสารที่เนื้อเยื่อสร้างขึ้นมา ทำให้ตัดตัวที่กระตุ้นปมประสาทหรือตัดกระแสนำประสาทหรือดัดแปลงการแปลผลการเจ็บปวดร่วมกับการรักษาสาเหตุ ซึ่งถ้าเป็นสาเหตุที่ชัดเจน เช่น การอักเสบติดเชื้อ ก้อนเนื้อมีการกดทับ การรักษาที่ต้นเหตุร่วมกับการระงับอาการก็จะได้ผลที่ดีชัดเจน
การรักษาหรือบรรเทาอาการปวดแบบแพทย์แผนจีน เน้นกระตุ้นให้การไหลเวียนเลือดและพลังเดินได้คล่อง ไม่ติดขัด ซึ่งสาเหตุการติดขัด ต้องพิจารณาเป็นรายๆไป อาจเกิดจากลม ความเย็น ความชื้น เลือด หรือพลังอุดกั้น และพิจารณาภาวะพร่องของร่างกายว่ามีจุดอ่อนที่ส่วนไหน เลือด พลัง ยิน หยาง หรืออวัยวะภายในอะไร เพื่อทำให้เกิดสมดุล รวมทั้งการฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนของเส้นลมปราณต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย
กรณีเกิดการเจ็บปวดที่หาพยาธิสภาพไม่ชัดเจน ที่มีปัจจัยร่วมที่ประกอบเป็นเหตุมากมาย ไม่ใช่การติดเชื้อ หรือก้อนเนื้อ หรือการกดทับทางโครงสร้าง การรักษาจะได้ผลดีมาก ดังนี้ การรักษาอาการปวดของแพทย์แผนจีน จะแฝงด้วยการปรับสมดุลและแก้ต้นเหตุไปด้วย
กรณีมีพยาธิสภาพที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่นการฆ่าเชื้อโรค การผ่าตัดก้อนเนื้อออก การผ่าตัดแก้การกดทับที่รุนแรงซึ่งต้องใช้การรักษาแบบตะวันตก ถ้าได้ใช้หลักการรักษาแบบแผนจีนร่วมด้วย จะทำให้โรคหายเร็วขึ้นป้องกันการเกิดซ้ำ แต่สำหรับกรณีที่เป็นน้อยอาจหลีกเลี่ยงการผ่าตัดที่เกินความจำเป็นลงได้