ริดสีดวงทวารก็เหมือนเส้นเลือดขอด แต่เป็นเส้นเลือดขอดที่บริเวณทวารหนัก ถ้าบริเวณปากทวารคลำได้เป็นก้อนนุ่มใต้ผิวหนัง เรียกว่า ริดสีดวงทวารภายนอก ถ้าเป็นริดสีดวงทวารที่อยู่ลึกเข้าไป มักมีก้อนยื่นผ่านหูรูดทวารหนักออกมาตอนถ่ายอุจจาระ ถ้าเป็นน้อยก้อนจะหดกลับไปได้เอง ถ้าเป็นมากต้องใช้มือ ดันจึงจะกลับเข้าไป ถ้าเป็นมากกว่านั้นดันก็ไม่กลับจะทำให้รำคาญ มีการเสียดสีจนกลายเป็นแผลอักเสบติดเชื้อง่าย ริดสีดวงประเภทหลังนี้ เรียกว่าริดสีดวงทวารภายใน
บางคนแบ่งง่ายๆ เป็น 3 แบบ คือ
1. ริดสีดวงทวารภายนอก มีอาการสำคัญคือ เหมือนมีก้อนเกะกะ รำคาญ บริเวณทวารหนัก
2. ริดสีดวงทวารภายใน มีอาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระมีเลือดแดง
3. ริดสีดวงทวารชนิดมีหัวหรือ ติ่งหัวยื่นออกมา ร่วมกับมีอาการติดเชื้อ มีการอักเสบเจ็บปวดที่ทวารหนัก
สาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดริดสีดวงทวารในทรรศนะแพทย์แผน ปัจจุบันไม่แน่ชัดแต่มักเกิดร่วมกับปัจจัยหลายอย่างที่เป็นผลให้เกิดภาวะกดดันต่อเส้นเลือดบริเวณทวารหนักนานๆ เช่น ภาวะท้องผูกเรื้อรัง ไอเรื้อรัง การตั้งครรภ์ โรคตับแข็ง ก้อนเนื้อในท้อง ต่อมลูกหมากโต มะเร็งของลำไส้ ฯลฯ
แนวทางการรักษาโดยทั่วไปถ้าไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรงก็มุ่งเน้นไปที่การป้องกันอาการท้องผูก โดยกินผักและผลไม้มากๆ ดื่มน้ำมากๆ หรือ อาจต้องกินยาระบายเป็นครั้งคราว ถ้ามีอาการปวดอาจใช้ยาเหน็บริดสีดวง เพื่อป้องกันการอักเสบ การปวด หรือใช้วิธีแช่น้ำอุ่นผสมด่างทับทิม ส่วนรายที่เป็นมากอาจต้องใช้การฉีดหัวริดสีดวง ผูกหัวริดสีดวง หรือผ่าตัด ตามความเหมาะสม
แล้วริดสีดวงทวารไปเกี่ยวอะไร กับเส้นลมปราณ
ผู้ป่วยมาด้วยปัญหาว่าปวดหลังปวดเอว ท้องผูก ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ บริเวณขาด้านหลังและปวดน่อง เป็น ตะคริวบ่อยๆ และมีปัญหาเกี่ยวกับริดสีดวงทวาร มีเลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ
ถ้าพิจารณาจากรูปทางเดินของเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะซึ่งมีทางเดินจากบริเวณหัวตามาถึง ท้ายทอย ต้นคอ และมาตาม แนวไขสันหลัง 2 เส้น ผ่านบริเวณกระเบนเหน็บและบริเวณแก้มก้นมาตามขาน่อง ด้านหลังถึงส้นและปลายเท้าด้านนอกนั้น
การเจ็บปวดกล้ามเนื้อ หรือแนวเส้นลมปราณดังกล่าว แสดงว่าเลือด และพลังบริเวณนี้ติดขัดซึ่งอาจสืบเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่นอุบัติเหตุในอดีตที่เกิดจากการ หกล้ม รถชน หงายหลัง หรือ กระทบกระแทกจนเกิดภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อรุนแรง การยืนหรือเดินมากเกินไปอิริยาบถในชีวิตประจำวัน การนั่ง หรืองอข้อเข่า การก้มยกของหนักเรื้อรัง จนมีการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อตามแนวกระเพาะปัสสาวะอย่างค่อยเป็นค่อยไป
บ่อยครั้ง ถ้าภาวะริดสีดวงระยะแรกที่ยังเป็นไม่มาก การบีบนวดหรือ ฝังเข็มคลายการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ บริเวณเอว สะโพก ขา และน่อง สามารถบรรเทาหรือรักษาโรคริดสีดวงทวารได้ ในทางแพทย์แผนจีนถือว่าถ้าเกิดภาวะอุดกั้นเลือดและพลังก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดริดสีดวงทวาร
ดังนั้น อาการปวดเอว ปวดสะโพก ปวดกระเบนเหน็บ ปวดบริเวณเหนือข้อพับเข่า หรือปวดน่อง อาการท้องผูก อาการตะคริว อาการ ริดสีดวง บางครั้งมีความสัมพันธ์กัน อย่างใกล้ชิด การรักษาที่เส้น (ลมปราณ) ที่เกี่ยวเนื่องกันสามารถรักษา อาการได้เป็นชุด
เราจะพบว่าจุดที่รักษาท้องผูก และริดสีดวงทวารในตำราฝังเข็มมีหลายจุด เช่น
- จุดเซี่ยเหลียว
- จุดฮุ่ยหยาง
- จุดเฉิงซาน
- จุดต้าฉางซู
- จุดจื้อเปียน
- จุดเฟยหยาง
นอกจากนี้ยังมีจุดพิเศษที่เชื่อม สัมพันธ์กันระหว่างจุดที่ทวารหนักกับจุดที่อยู่บริเวณเหงือกบนด้านในแนวกลางลำตัว เรียกว่าจุดอินเจียวสามารถฝังเข็มที่จุดนี้เพื่อรักษาอาการ ริดสีดวงได้เหมือนกัน หรือรักษาที่จุดฉางเฉียว (จุดปลายกระดูกก้นกบ) ซึ่งจะสามารถปรับพลังและเลือด การหมุนเวียนรอบทวารหนัก
นอกจากนี้ยังมีจุดพิเศษที่ใช้ทางคลินิกประจำคือ จุดเอ้อไป๋ (มี 2 จุด บนแขนด้านในข้างเอ็น 2 เส้น เหนือข้อมือ 4 ชุ่น
การรักษาริดสีดวงทวารด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีนยังมีหลายวิธีเช่น การสะกิดจุดเลือดที่พบบริเวณเอวและหลังการใช้ยาสมุนไพรเพื่อแก้ภาวะร้อนชื้น และการเพิ่มพลังพยุงรั้ง ทำให้ริดสีดวงทวารหดกลับเข้าไป ซึ่งต้องพิจารณาประกอบเป็นรายๆไป
แต่ที่ได้กล่าวมา ต้องการชี้ให้ เห็นว่า การแก้ไขปัญหาริดสีดวงทวาร ถ้าใช้หลักการของเส้นลมปราณมาพิจารณาประกอบการรักษา จะทำให้มีมุมมอง และวิธีคิดที่กว้างขึ้นอีก ทำให้ไม่ยึดติดกับพยาธิสภาพของโรคเฉพาะส่วน แต่เห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของระบบเส้นลมปราณทำให้การรักษามีสภาพองค์รวมและครอบคลุมได้รอบด้านยิ่งขึ้น
บางครั้งพบว่า การนวดเส้น คลายเส้น การฝังเข็ม สามารถบรรเทา หรือรักษาโรคริดสีดวง โดยเฉพาะใน รายที่เกี่ยวข้องกับเส้นได้ดีมาก อย่างไร ก็ตามการพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่า อาหารการกิน อุปนิสัย ภาวะสมดุลของร่างกายด้านต่างๆ ประกอบ นับว่าสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องใช้การรักษาวิธีอื่นประกอบ หรือควรรักษาโรคแบบผสมผสานและควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในบางรายที่มีความซับซ้อนรุนแรงอาการเป็นมากแล้วจำเป็นต้องให้ การแพทย์สมัยใหม่ทำการบำบัดรักษา หรืออาจต้องทำการผ่าตัด