หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการใช้สมุนไพร หรืออาหารเสริมสุขภาพ ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ไม่มีพิษภัยใดๆ แต่แท้จริงแล้ว ยาในทัศนะแพทย์จีนล้วนมีพิษทั้งสิ้น ในคัมภีร์ “หวงตี้เน่ยจิง” ได้กล่าวถึงบทบาทของยาและอาหารในการรักษาโรคไว้อย่างชัดเจน
ยาสมุนไพรก็มีพิษ
กระบวนการของการเกิดโรค บางโรคกว่าจะแสดงอาการใช้เวลานานค่อยๆ สะสมทางปริมาณจนถึงจุดเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ แต่บางโรคเกิดขึ้นทันที ส่วนยาที่ใช้รักษาก็มีทั้งยาตำรับใหญ่ ตำรับเล็ก มีพิษและไม่มีพิษ จึงต้องวิเคราะห์ให้ถ่องแท้
ยาที่มีพิษมากใช้รักษาโรค ๑๐ ส่วน สามารถขจัดโรคได้แค่ ๖
ยาที่มีพิษธรรมดาใช้รักษาโรค ๑๐ ส่วน สามารถขจัดโรคได้แค่ ๗
ยาที่มีพิษน้อยใช้รักษาโรค ๑๐ ส่วน สามารถขจัดโรคได้แค่ ๘
ยาที่ไม่มีพิษใช้รักษาโรค ๑๐ ส่วน สามารถขจัดโรคได้แค่ ๙
แต่การกินอาหารบางประเภท เช่น ธัญพืช เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เพื่อดูแลสุขภาพสามารถขจัดโรคได้ทั้งหมด
สรุปก็คือ ขึ้นชื่อว่ายาแล้ว ล้วนมีพิษ การกินอาหารตามใจตัวเองก็อาจจะกลายเป็นพิษได้เช่นกัน ควรใช้อาหารเพื่อช่วยในการรักษาโรค แต่เมื่อไม่ได้ผลจึงค่อยคิดถึงการใช้ยา
ยาที่มีพิษด้านหนึ่งรักษาโรค แต่ก็มีผลกระทบต่อร่างกาย จึงไม่สามารถกำจัดโรคได้อย่างสิ้นเชิง ต้องกินอาหารที่เหมาะสมเสริมเข้าไปเพื่อสร้างสมดุลภายในร่างกาย
ศาสตร์ของแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญต่ออาหารเป็นอย่างมาก เพราะอาหารบางอย่างในบางเงื่อนไขก็คือยาพิษ ที่สามารถทำลายร่างกายหรือทำให้โรครุนแรงขึ้นได้เช่นกัน
อาหารอย่างดีก็เป็นพิษ
มีเรื่องเล่ากันว่า ในสมัยราชวงศ์หมิง กษัตริย์จูหยวนจางได้ทำการหาเหตุฆ่าขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และครอบครัว ๙ ชั่วโคตร มีแต่ซวีต๋า เท่านั้นที่ยังหาเหตุผลในการฆ่าไม่ได้ เนื่องจากเป็นเพื่อนในช่วงวัยเยาว์ที่ดีต่อกัน อีกทั้งมีผลงานในการสู้รบที่ดีเยี่ยม และอำนาจของแม่ทัพก็ถูกถ่ายโอนแล้ว
ซวีต๋าอยู่ในช่วงระหว่างพักผ่อนในบั้นปลายชีวิต ต่อมาซวีต๋าไม่สบาย มีฝีชนิดหนึ่งที่หลัง จูหยวนจางได้ข่าวจึงให้คนส่งห่านนึ่งมาให้ ซวีต๋าเห็นเข้าถึงกับน้ำตานองหน้า เขาเข้าใจได้ทันทีว่าจูหยวนจางต้องการฆ่าเขา เนื่องจากคนที่มีฝีที่หลังห้ามกินห่านนึ่งซึ่งเป็นอาหารแสลง ถ้ากินแล้วโรคจะกำเริบและต้องเสียชีวิตแน่นอน ครั้นจะไม่กินก็กลัวขัดพระราชประสงค์ ครอบครัวและตระกูลอีก ๙ ชั่วโคตรจะต้องถูกประหารตายตามไปด้วย จึงตัดสินใจที่จะยอมตายแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ให้เดือดร้อนถึงวงศ์ตระกูล ก่อนตายได้เรียกแพทย์ประจำตัวมาพบและบอกให้รีบหนีไปเสีย เพราะเมื่อเขาตาย จูหยวนจางจะต้องฆ่าหมอประจำตัวอย่างแน่นอนเพื่อปิดปากและเป็นแพะรับบาป
ดังนั้น การพิจารณาอาหารเพื่อใช้เป็นยาจึงต้องมีความละเอียด ไม่ใช่มองเห็นแค่คุณค่า เช่น มีฤทธิ์ในการบำรุงร่างกายดี มีสารอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือกินอาหารแบบตามใจตัวเอง เพราะอาหารแต่ละชนิดต้องเลือกให้เหมาะสมกับบุคคล ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ มิเช่นนั้นอาหารอาจกลายเป็นพิษได้
สรุปว่าแม้แต่อาหารยังมีโทษต่อร่างกายได้ นับประสาอะไรกับยาสมุนไพรซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่าจะไม่มีพิษ หนักยิ่งกว่านั้นยาเคมีที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น นับเป็นสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก และถ้าต้องกินอย่างต่อเนื่องยาวนานจะยิ่งมีพิษขนาดไหน
อาหารและยามีที่มาแหล่งเดียวกัน
แนวโน้มในปัจจุบันมีความพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาเคมีมาเป็นการใช้อาหารเสริมเพื่อสุขภาพและรักษาโรค คือนำสารสกัดที่มีบทบาทในการรักษาโรคจากธรรมชาติมารักษาโรคแทนยาเคมี หรือที่เรียกว่า อาหารที่เป็นยา (Nutra-ceutical) ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่นำวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมแบบธรรมชาติ เปิดทางเลือกใหม่ให้กับการดูแลรักษาสุขภาพ แต่ต้องเข้าใจว่ายังมีช่องว่างและความแตกต่างระหว่างการใช้ยาสมุนไพรกับการใช้อาหารเสริมสุขภาพ
ข้อแตกต่างระหว่าง สมุนไพรจีน กับ สารสกัดจากสมุนไพร
ปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความก้าวหน้าอย่างมากในการสกัดหาองค์ประกอบสำคัญของสารออกฤทธิ์ในสมุนไพร และสารชีวเคมีต่างๆ จากอาหาร ที่เรียกว่าไฟโทเคมีคัล (phytochemical) ในขณะเดียวกันก็มีการจำแนกกลุ่มสมุนไพรต่างๆ ว่า ตัวใดมีพิษ หรือมีผลข้างเคียงใดๆ เกิดขึ้นบ้าง สารสกัดจากสมุนไพรที่ได้จึงได้รับการยอมรับในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มากขึ้น เช่น การค้นพบควินิน (Quinine) และการสกัดควินินจากเปลือกต้นซินโคน่า (Cinchona) การสกัด “หยินซิ่งหลิง” จากใบแป๊ะก๊วย การสกัด “ชิงเฮาซู่” จากต้นชิงเฮา
แนวโน้มการรักษาโรคด้วยสมุนไพรจึงเปลี่ยนจากการชี้นำทางทฤษฎีแพทย์จีนกลายเป็นการแพทย์สมัยใหม่แบบเคมีทางพฤกษศาสตร์มากขึ้น เมื่อสามารถสกัดตัวยาสำคัญจากสมุนไพรมาทำเป็นยาในการรักษาโรคได้ มิติการรักษาโรคก็เปลี่ยนไป คือเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีที่สังเคราะห์ มาเป็นใช้เคมีที่สกัดจากพืชธรรมชาติ บางครั้งอาจเลียนแบบโครงสร้างพัฒนาเป็นยาเคมีต่อไป จึงเป็นการตัดตอนบางส่วนของการแพทย์แผนจีนแบบดั้งเดิมมาอยู่ภายใต้ระบบความคิดและการชี้นำของการแพทย์แผนปัจจุบันที่เน้นเคมีและกลไกการออกฤทธิ์ของยาเคมีเดี่ยวๆ ในการรักษาโรคนั่นเอง
ความสำคัญของการใช้สมุนไพรจีนแบบการแพทย์แผนจีนดั้งเดิม มีลักษณะพิเศษ คือ
1. ยาสมุนไพรจีนมีพื้นฐานทฤษฎีของศาสตร์แพทย์จีนโดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างกับทฤษฎีการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างสิ้นเชิงตามสรรพคุณทั้ง ๔ รสทั้ง ๕ การเข้าเส้นลมปราณ การปรับกลไกพลัง (ทิศทางของยา)
2. ยาสมุนไพรจีนตัวเดียวมีส่วนประกอบของสารออกฤทธิ์จำนวนมาก มีกระบวนการเตรียมยา เพื่อการเสริมฤทธิ์ทำลายพิษ หรือปรับสภาพยาเพื่อเข้าสู่อวัยวะเป้าหมายต่างๆ ที่แน่นอน
3. ยาสมุนไพรจีนมีหลักการประกอบยาที่ซับซ้อนตามสถานการณ์ มียาหลัก ยารอง ยาช่วย ยาประสาน ซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่นพลิกแพลง มีการใช้ยาหลายตัวประกอบเป็นตำรับยา ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นที่แตกต่างกับการใช้ยาเดี่ยวหรือสารสกัดจากสมุนไพรล้วนๆ
4. ยาสมุนไพรจีนมีประสบการณ์ในการใช้ยามายาวนาน การรักษาทางคลินิกมักให้ยาเป็นตำรับ ไม่ค่อยใช้ยาเดี่ยวตัวเดียวโดดๆ มีหลักการวินิจฉัยแยกแยะสภาวะร่างกายและใช้ยาหลายตัวในการปรับสมดุลในระบบต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน ประสบการณ์ทางคลินิกเหล่านี้มีคุณค่าที่ไม่อาจใช้วิธีคิดแบบตัดตอนและมองปัญหาแบบแยกส่วนแบบแผนปัจจุบันมาชี้นำการใช้ยาสมุนไพรจีนได้
การค้นพบสารสกัดจากสมุนไพรมีประโยชน์อย่างมากต่อมนุษยชาติ โดยเฉพาะการรักษาโรคเฉพาะส่วน แต่ต้องไม่ลืมการใช้ตำรับยา การใช้อาหารหรือยาสมุนไพรในการปรับสมดุลร่างกายโดยองค์รวมด้วย และพึงรู้ไว้ด้วยว่าขึ้นชื่อว่ายาแล้วล้วนมีพิษทั้งสิ้น จึงต้องพิเคราะห์และนำมาใช้อย่างถูกต้องจริงๆ
การปรับสมดุลด้วยยาและอาหารในทัศนะแพทย์จีนเพื่อทำให้ร่างกายมีภาวะแวดล้อมภายในเหมาะสมสำหรับการเยียวยาตัวเองเป็นเพียงการปรับระดับสารจิงการดูแลรักษาร่างกายยังต้องฝึกฝนแปรเปลี่ยนจิงของชี่ และฝึกฝนแปรเปลี่ยนชี่เป็นเสินจึงจะครบถ้วนของการปรับสมดุล