อายุขัย กับการเกิดโรค

สังขารของคนเราเป็นอนิจจัง มีการเกิด การพัฒนา การเสื่อม และการดับสูญในที่สุด เมื่อชีวิตได้ถือกำเนิดก็มีการเจริญเติบโต พัฒนาจนเป็นเด็ก วัยหนุ่มสาว ร่างกายแข็งแรงถึงจุดสูงสุด จากนั้นก็เริ่มสู่วัยเสื่อมถอย ความชราภาพเข้าแทนที่ จนถึงการดับสูญของชีวิตในที่สุด กฎของการเกิดพัฒนา-เสื่อมถอยและดับสูญ เป็นกฎของสรรพสิ่งในจักรวาล

แพทย์แผนจีนได้สรุปความสัมพันธ์ของโรคภัยไข้เจ็บกับอายุขัยของแต่ละช่วงของร่างกายมนุษย์ไว้อย่างน่าสนใจ เนื่องจากในแต่ละช่วงของอายุมีสภาพทางสรีระ ภาวะความคุ้มกัน และพลังในการต่อสู้กับโรค (ปัจจัยก่อโรคทั้ง 6 ได้แก่ เย็น ร้อน ชื้น ลม แห้ง ไฟ และอารมณ์ ทั้ง 7) แตกต่างกัน ทำให้แต่ละช่วงอายุมีจุดอ่อน จุดแข็ง ของร่างกายไม่เหมือนกัน ซึ่งสามารถสรุปเป็นกฎเกณฑ์ได้ ดังนี้

จั้ง-ฝู่ (อวัยวะภายในที่ควบคุม การทำงานทั้งหมดของร่างกาย) ของทารกหรือเด็กเล็กค่อนข้างอ่อนแอ ไม่แข็งแรง เนื่องจากยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้การทำงานของระบบต่างๆก็ไม่สมบูรณ์ การทำงานของระบบเลือด พลังการสร้างสารน้ำ สารคัดหลั่ง รวมทั้งน้ำย่อย ฮอร์โมนก็มีภาวะไม่แน่นอนคงที่ มีความแปรปรวน แพทย์จีนเรียกภาวะนี้ว่า “เป็นภาวะยิน-หยาง ยังไม่สุกงอมสมบูรณ์”

สรีรสภาพที่เปราะบาง แปรปรวน ทำให้เลือดและพลังยังไม่ สมบูรณ์ ภาวะความคุ้มกันโรค พลังการต่อต้านโรคต่ำ ผนวกกับความที่ยังไม่ประสีประสา และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง ทำให้ไม่สามารถป้องกันต่อปัจจัยการเกิดโรคที่มากระทำได้

การเปลี่ยนของสิ่งแวดล้อม อากาศรอบตัว ทั้งความร้อน-ความเย็น ความแห้ง ชื้น ลม ต่างๆ ความต้องการอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมและปริมาณพอเหมาะ เด็กทารกต้องอาศัยการร้องไห้ หัวเราะ ความพึงพอใจที่แสดงออกที่ใบหน้า ความรู้สึก สัมผัสโดยละเอียดใกล้ชิดเท่านั้นจึงเข้าใจได้ เพราะเด็กไม่อาจสื่อความหมายเป็นภาษาพูดให้ผู้ใหญ่เข้าใจได้

โรคของเด็ก จึงมักเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ และโรคทางเดินอาหารที่เกี่ยวข้องกับการกินที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ได้แก่ โรคหวัด หลอดลมอักเสบ ไอ อาเจียน ท้องเสีย ฯลฯ ความแปรปรวนของโรคในเด็กมักรวดเร็ว รุนแรง เช่น เป็นหวัดแล้วมีไข้สูง มีผื่นขึ้น มีอาการชักเวลาไข้สูงจัด ปอดบวม ทำให้อัตราการตายจากโรคในเด็กค่อนข้างสูง โดยเฉพาะ ถ้าไม่มีการดูแลอย่างใกล้ชิด แพทย์จีนเรียกร่างกายในลักษณะนี้ว่า “ภาวะพร่องง่ายและแกร่งง่าย” (พื้นฐานร่างกายพร่องและเมื่อมีปัจจัยก่อโรคมากระทำก็จะมีอาการรุนแรง ซึ่งเป็นภาวะแกร่ง)

นอกจากนี้ ร่างกายของเด็กทารกยังมีภาวะหยางเด่นมากกว่า ยิน ภาวะของพลังหยางแกร่ง ทำให้เด็กต้องการสารอาหารที่จำเป็น มีคุณค่าสูง เด็กที่ไม่สบายกินอาหารไม่ได้ ไม่กี่มื้อน้ำหนักตัวจะลดรวดเร็ว ในขณะเดียวกันการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะทำให้เด็กหายจากโรคและฟื้นตัวได้เร็วกว่าผู้ใหญ่   

ช่วงอายุ 5-15 ปี การทำงานของอวัยวะจั้ง-ฝู่ค่อนข้างคงที่ ไม่แปรปรวน เลือดและพลังไหลเวียนดีขึ้น ชอบการเคลื่อนไหว ไม่ชอบการหยุดนิ่ง

ช่วงอายุประมาณ 15-25 ปี เป็นภาวะที่ค่อนข้างสุกงอมของพลังเลือดลม การเติบโตของกล้ามเนื้อเต็มที่ การเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว

ช่วงอายุ 30-40 ปี เป็นช่วง ที่การทำงานของกลไกจั้ง-ฝู่ และระบบเลือดลมถึงจุดสุกงอมที่สุด ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวมีลักษณะสมบูรณ์สุดขีด (ในปัจจุบันสภาพสังคมและวิถีชีวิตผิดธรรมชาติไปมาก จะพบความเสื่อมโทรมของร่างกายเร็วกว่าที่ควรจะเป็น บางครั้งในวัย 20-30 ปี จะพบมีโรคต่างๆมากมาย แสดงอาการออกมาก่อนกำหนด)

หลังอายุ 40 ปี การทำงาน ของจั้ง-ฝู่ และการไหลเวียนของเลือดพลังในเส้นลมปราณถดถอยเข้าสู่ภาวะความเสื่อม กำลังวังชาเริ่มอ่อนล้า ผิวหนัง กล้ามเนื้อเริ่ม หดเหี่ยว ใบหน้าเริ่มปรากฏริ้วรอยให้เห็น ผมบนศีรษะเริ่มร่วงหรือ บางที่เปลี่ยนเป็นผมขาว เริ่มเข้าสู่วัยชอบความสงบนิ่งมากกว่าการเคลื่อนไหว

หลังอายุ 50 ปี พลังของตับเริ่มเสื่อมถอยชัดเจน การสร้างและขับน้ำดีจากถุงน้ำดีเริ่มน้อยลง การมองเห็นแย่ลง กำลังสายตาเริ่มอ่อนแอ (ตับมีทวารเปิดที่ตา ถ้าตับอ่อนแอ สายตาจะไม่ดี) ภาวะของสารยินในตับไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลของยิน-หยาง คือทำให้พลังหยางแกร่งขึ้นโดยสัมพัทธ์ พลังหยางตับสูงเป็นลมขึ้นสู่เบื้องบน ทำให้มีอาการเวียนศีรษะ ปวด ศีรษะ เสียงดังในหู หงุดหงิดง่าย ความดันเลือดสูง ในบางรายมีภาวะของการหมดสติ (เนื่องจากหลอดเลือดสมองแตก)

อายุในวัยนี้จึงต้องพึงระวัง เกี่ยวกับอารมณ์ โดยเฉพาะต้องควบคุมอารมณ์โกรธ (ตับเกี่ยวข้องกับอารมณ์โกรธ) หลีกเลี่ยงการบันดาลโทสะ งดการสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า ความสัมพันธ์ทางเพศ ไม่ควรมากเกินไป อย่าให้ร่างกายอ่อนเพลียตรากตรำในการงานมาก ไป อาหารรสเผ็ดหรือกาแฟ สารเกี่ยวกับการกระตุ้น ไม่ควรบริโภคมากเกินไป ต้องขับถ่ายอุจจาระ เป็นปกติ จึงจะสามารถป้องกัน ภาวะจ้งเฟิง (ภาวะของโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดทางสมอง เช่น หลอด-เลือดตีบและตัน ทำให้หมดสติ)

หลังอายุ 60 ปี พลังของหัวใจเริ่มเสื่อมถอย ในวัยนี้ความรู้สึก ในทางอารมณ์ กลัวความอ้างว้างโดดเดี่ยว มองโลกในแง่ของความ หดหู่ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบการเคลื่อนไหว ชอบนอนหลับพักผ่อน แต่นอนหลับไม่ค่อยสนิท ระบบเลือดพลังไหลเวียนช้าลง การได้รับการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ หรือปัจจัยก่อโรคจากภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงของอากาศ อาจทำให้มีผลกระทบรุนแรงต่อร่างกายได้ เช่น อากาศที่หนาวเย็น ทำให้การไหลเวียนเลือดยิ่งช้าลง อาจทำให้อาการปวดแน่นหัวใจ (เนื่องจาก หัวใจขาดเลือด) หรือมีอาการของกระเพาะอาหาร (เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงกระเพาะอาหารในขณะที่ย่อยอาหารไม่เพียงพอ) อุบัติการของโรคหัวใจขาดเลือดในวัยนี้จึงพบเห็นได้มากมาย

ข้อควรระวังในวัยนี้คือ การ ควบคุมอารมณ์ให้มีสุขนิยม มองโลกในแง่ดี ควรกินอาหารรสจืด อาหารมื้อเย็นไม่ควรกินมาก งดเหล้าบุหรี่ บริหารร่างกาย ฝึกชี่กง เพื่อให้มีพลังมาเลี้ยงหัวใจ นอนหลับให้เพียงพอ ชีวิตประจำวัน ต้องมีกฎเกณฑ์ การทำงาน การ พักผ่อนต้องพอเหมาะ

อายุเข้าสู่วัย 70 ปี พลังของปอดเสื่อมถอย ปอดมีหน้าที่ในการควบคุมการหายใจ นำพลังจากอากาศสู่ร่างกาย พลังปอดอ่อนแอ ร่างกายก็ขาดพลังด้วย ผิวหนังจะ แห้ง ขาดความชุ่มชื้น (ปอดควบคุมผิวหนัง, ขน) พลังคุ้มกันในการ ต่อสู้กับโรคลดต่ำลง เป็นโรคง่าย

อายุเข้าสู่วัย 80 ปี พลังปอดเสื่อมถอยมากยิ่งขึ้น พลังต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บลดลงอย่างมาก จะ พบว่าผู้ป่วยมีโรคเหนื่อยหอบ หรือบางครั้งมีอาการเป็นหวัด แล้วอยู่ๆก็สิ้นอายุขัยไปเลย

อายุเข้าสู่วัย 90 ปี พลังของ ไตเริ่มสิ้นสลาย(พลังไตเป็นแหล่งเก็บสะสมพลังงานของร่างกาย) บ่งบอกถึงความจบลง การดับสูญของชีวิต


สรุปโดยกฎเกณฑ์ทั่วไปคือว่า “ก่อนอายุ 40 ปี คนเรามักจะหาโรค แต่หลัง 40 ปี โรคก็จะมาหาเรา” หมายถึงในช่วงก่อน 40 ปี โดยพื้นฐานร่างกายไม่ค่อยมีจุดอ่อน แต่คนเรามักปฏิบัติตัวไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ คือการหาโรคใส่ตัว แต่หลัง 40 ปี สภาพร่างกายโดยพื้นฐานเริ่มเสื่อมถอย เป็นเงื่อนไขให้โรคเข้าโจมตี ดังนั้นคนที่ร่างกายในช่วงก่อน 40 ปี ถ้าดูแลไม่ดี หลังอายุ 40 ปี จะมีโอกาสเกิดโรคถามหามากยิ่งขึ้น