เกลือจิ้มเกลือ อารมณ์ควบคุมอารมณ์

ในทางการแพทย์สมัยใหม่เชื่อว่า การตอบสนองของอารมณ์ เป็นปรากฏการณ์ชั่วขณะที่เกิดขึ้นจากระบบประสาท และสามารถถูกแทนที่ด้วยอารมณ์อื่นได้ นี่คือหลักเบื้องต้นที่มาของเทคนิคการใช้อารมณ์พิชิตอารมณ์ เป็นการสร้างสมดุลของอารมณ์ที่เกิดจากภาวะมากเกินไป นำไปสู่การเสียสมดุลของปัญจธาตุต่างๆของร่างกาย ตำราคัมภีร์ซู่เวิ่นของจีน มีข้อความกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“ความเศร้าโศกเสียใจ ควบคุม ความโกรธ”

“ความดีใจ ควบคุม ความเศร้าโศกเสียใจ”

“ความวิตกกังวล ควบคุม ความกลัว, ตกใจ”

“ความโกรธ ควบคุม ความวิตกกังวล”

“ความกลัว, ตกใจ ควบคุม ความดีใจ”

ตำราอีฟางเข่า กล่าวว่า “โรคที่เกิดจากอารมณ์ที่ไม่สามารถรักษาด้วยยา จะต้องรักษาด้วยอารมณ์ ความคิด เหตุผล และความเข้าใจ รากเหง้าของปัญหา”

หลักการใช้อารมณ์ควบคุมอารมณ์

1. เสริมสร้างความคิดสุขนิยม มองโลกในแง่ดี ความคิดสุขนิยมและการมองโลกในแง่ดี เป็นพื้นฐานของการเสริมสร้างความมั่นใจในการเอาชนะ โรคภัยไข้เจ็บ และการเอาชนะกับอุปสรรคทั้งปวง จิตที่สงบเป็นโอสถ ตำรับที่หาที่เปรียบไม่ได้ ความเจ็บป่วยทางกายมีผลต่ออารมณ์ความคิดกังวลว่าจะไม่หาย ทำให้ตนเองเป็นภาระของครอบครัวของสังคม เกิดอารมณ์แปรปรวนหลายๆอารมณ์ ซึ่งจะไปบั่นทอน ความเจ็บป่วยทางกาย ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น

ภาวะจิตที่สงบ มองโลกในแง่ดี จะทำให้การไหลเวียนของพลังและเลือดลื่นไหล ไม่สะดุดหรือถูก
อุดกั้น (แต่ไม่ใช่ไหลรุนแรงรวดเร็วเหมือนภาวะตื่นเต้นตกใจหรือโมโห) การไหลเวียนที่ดีทำให้มีเลือดและพลังไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้ดี อาหารและพลังปกป้องผิว (การให้ความอบอุ่นกับร่างกาย) ก็ดีด้วยนี้ คือ ภาวะทางจิตใจมีผลต่อร่างกายโดยรวม

2. เทคนิคการใช้อารมณ์ควบคุมอารมณ์ เป็นเทคนิคการใช้คำพูด การกระทำ หรือใช้สิ่งเร้า ที่จงใจจะกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เพื่อให้เกิดอารมณ์หนึ่งไปควบคุมอารมณ์ที่เป็นปัญหาอยู่

อารมณ์เสียใจ : ควบคุมด้วยอารมณ์ดีใจ

เมื่อคนหรือผู้ป่วยมีอารมณ์เศร้าโศกเสียใจกับเหตุการณ์ใดๆก็ตาม นอกจากจะปลอบใจแล้วยังต้องกระตุ้นความคิดเขาด้วยสิ่งที่ทำให้เขามีความรู้สึกดีใจ ปลุกเร้า ให้กำลังใจ ใช้ความสนุกสนานมาผ่อนคลาย หรือใช้อารมณ์ขันมาแทนที่อารมณ์เสียใจทำให้เขาหัวเราะ ให้ได้อาจจะพูดตลก เล่านิทาน ฯลฯ ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับกาลเทศะ และภาวะของผู้ป่วยระดับการศึกษา การรับรู้

ในทางปฏิบัติจะต้องทำให้ผู้ป่วย มีความไว้เนื้อเชื่อใจ และยอมระบายความรู้สึกในใจออกมาอย่างหมดเปลือก ภายหลังจากได้รับฟังความทุกข์ และแสดงความเห็นใจ ความในใจได้ถูกปลดเปลื้องแล้ว จึงค่อยใช้เทคนิคการทำให้เกิดอารมณ์ดีใจเข้าแทนที่อารมณ์เสียใจ

อารมณ์ดีใจเกี่ยวข้องกับหัวใจ (ระบบประสาท) หัวใจในทัศนะของแพทย์แผนจีน เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง อารมณ์ที่แปรปรวนทุกอารมณ์จะกระทบกระเทือนหัวใจก่อน แล้วจึงมีผลต่ออวัยวะภายในอื่นที่เกี่ยวข้องดังนั้น อารมณ์ดีใจจึงสามารถควบคุมอารมณ์อื่นๆได้ด้วย (เช่นเดียวกับอารมณ์กลัวบางครั้งมีบทบาทที่ควบคุมอารมณ์อื่นทั้งหมด)

อารมณ์โกรธ : ควบคุมด้วยอารมณ์เสียใจ

เมื่อผู้ป่วยหรือบุคคลมีอารมณ์โกรธรุนแรงมาก จะต้องหากลวิธีที่เหมาะสม เพื่อเอาอารมณ์ที่เศร้าโศก เสียใจเข้าแทนที่อารมณ์โกรธ เพื่อสงบอารมณ์โกรธให้ลดลง การใช้คำพูดที่เป็นเรื่องเศร้าไปสยบความโกรธ เช่น การบอกให้เขารู้ถึงผลที่อาจจะตามมาจากการกระทำ ทำให้เขาเกิดความเสียใจกับการกระทำหรือทำให้เขาสงสาร กระทั่งทำให้หลั่งน้ำตาหรือเสียใจร้องไห้ออกมาให้ได้ อารมณ์โกรธนั้นก็จะสงบลงทันที (แพทย์แผนจีนเชื่อว่า เวลาโกรธพลังย้อนขึ้นบน แต่ความเศร้าโศกทำให้สูญเสียพลัง)

อารมณ์วิตกกังวล : ควบคุมด้วยอารมณ์โกรธ

เมื่อเกิดอารมณ์วิตกกังวลจะทำให้มีการอุดกั้นของพลังลมปราณ การยั่วยุหรือใช้คำพูดที่ท้าทาย ดูแคลน ทำให้เกิดโทสะ เพื่อกระจายพลังที่อุดกั้น วิธีการนี้ถ้าจะใช้ได้ผลดี ต้องมีความแยบยล โดยความร่วมมือของครอบครัวคนใกล้ชิด และกุมจุดอ่อนของผู้ป่วยได้ ทั้งยังต้องถูกกับกาลเทศะ ระวังอย่าไป ทำลายหรือซ้ำเติมปมด้อยของผู้ป่วย โดยเฉพาะในเพศหญิงหรือผู้มีตำแหน่งการงานสูง เพราะอาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิด เป็นผลเสียแก่ผู้ป่วย หรือแก่ตัวผู้รักษา ดังเช่นตัวอย่างที่เวิ่นจื่อถวายการรักษาแก่กษัตริย์แห่งแคว้นฉี ซึ่งเป็นโรควิตกกังวล เมื่อพระองค์ถูกยั่วยุให้โกรธ ทรงหายจากโรค แต่ผู้รักษาก็ต้องถูกประหารชีวิตฐานลบหลู่เบื้องสูง

อารมณ์กลัว, ตกใจ : ควบคุมด้วยอารมณ์วิตกกังวล (การคิดพิเคราะห์)

คนที่มีอารมณ์กลัวหรือตกใจเกินกว่าเหตุ จะต้องใช้วิธีการทำให้คิด พิเคราะห์ ให้เกิดความเข้าใจถึงปัญหาและทำให้เห็นทางออกที่ถูกต้อง อารมณ์จะมีอิสระเมื่อเกิดปัญญา แพทย์แผนจีนเชื่อว่า อารมณ์กลัว, ตกใจทำให้พลังจมลงเบื้องล่าง แต่อารมณ์วิตกกังวลหรือครุ่นคิด จะทำให้พลังเกิดการรวมศูนย์ นี่คือ เหตุผลของการพยุงพลังที่ตกต่ำ (จากอารมณ์กลัว) เกิดการรวมศูนย์ (โดยใช้อารมณ์แห่งการครุ่นคิด)นั่นเอง

อารมณ์ดีใจ : ควบคุมด้วยอารมณ์กลัว, ตกใจ

คนที่ภาวะดีใจ ตื่นเต้น อารมณ์สนุกสนานเกินกว่าเหตุ จะต้องใช้วิธีการทำให้เกิดอารมณ์ตระหนักตื่นกลัวมาควบคุมโดยการนำสิ่งของ หรือคำพูดในสิ่งที่เขากลัว เช่น การอธิบายให้เข้าใจผลเสียของอารมณ์ตื่นเต้นดีใจมากเกินไป จะนำมาซึ่งอารมณ์ซึมเศร้า สำหรับการนำความตายมาข่มขู่ ใช้ได้เฉพาะบางกรณี เช่น พวกที่มีจิตประสาทประเภทมาเนีย (หัวเราะ, ดีใจ, มองอะไรเป็นเรื่องสนุกไปหมด บางครั้งใจดีเกินเหตุ มีของอะไรให้คนอื่นหมด อารมณ์ดีใจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ฯลฯ)

ข้อควรระวัง การทำให้เกิดความกลัวถ้าผิดกาลเทศะผิดบุคคล อาจนำผลร้ายมาสู่ตัวผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคที่รักษายากจะทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า บางครั้งถึงกับปฏิเสธการรักษาของแพทย์ และเฝ้ารอแค่วันตาย

สรุป

  • คนที่เสียใจมาก ต้องหาวิธีทำให้หัวเราะ
     
  • คนที่โกรธมาก ต้องหาวิธีทำให้สงสารและร้องไห้ออกมา
     
  • คนที่วิตกกังวลมาก ต้องหาวิธีทำให้โกรธหรือถูกท้าทาย
     
  • คนที่กลัวตกใจง่าย ต้องหาวิธีทำให้เข้าใจปัญหา การคิดที่ถูกต้อง
     
  • คนที่ดีใจ ตื่นเต้นมาก ต้องหาวิธีทำให้เกิดความกลัว

อย่างไรก็ตาม การจะใช้วิธีอารมณ์ควบคุมอารมณ์จะต้องสร้างความคิดสุขนิยม มองโลกในแง่ดี เป็นพื้นฐานความคิดก่อน เพราะถือเป็นภูมิคุ้มกันในการเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรค เหตุการณ์ทั้งปวงที่จะเกิดขึ้น ในแง่เทคนิคสร้างอารมณ์หนึ่งแทนที่อีกอารมณ์หนึ่ง จำเป็นจะต้องรอบคอบและมีการพินิจพิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรม ถึงสภาวะบุคคลและเงื่อนไขเฉพาะตามโอกาส และภาวะที่เหมาะสมอย่างยืดหยุ่นพลิกแพลง

อารมณ์หนึ่งอาจควบคุมอารมณ์หนึ่งได้ แต่บางครั้งคนบางคนมีหลายอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกันหลายมิติ มีความซับซ้อนของการแปรปรวนทางอารมณ์มาก การใช้อารมณ์หนึ่งควบคุมอารมณ์จึงต้องยึดกุมศาสตร์ของความสัมพันธ์ของปัญจธาตุอย่างรัดกุมและใช้อย่างมีศิลปะ จึงจะบรรลุจุดมุ่งหมายในการรักษาที่ดีได้