แพทย์แผนจีนแนะ อาหารสมุนไพรสำหรับโรคซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้า มักมีการแสดงออกหลายอาการหรือเป็นกลุ่มอาการ เช่น มีความภูมิใจในตัวเองลดลง  ขาดความสนใจในกิจวัตรประจำวัน   มักครุ่นคิดหรือรู้สึกถึงความไม่มีคุณค่า  ความเสียใจ หรือรู้สึกผิดอย่างไม่มีเหตุผล หมดหวัง สมาธิแย่ลง นอนไม่หลับ  ความจำสั้น  แยกตัวออกจากสังคม  ความต้องการทางเพศลดลง  บางรายมีความคิดเกี่ยวกับความตายหรือการฆ่าตัวตาย

แพทย์แผนจีนให้ความสำคัญของภาวะทางอารมณ์ที่มากระทบอย่างรุนแรงหรือยาวนาน จะมีผลต่อกลไกการเคลื่อนไหวของพลัง ทำให้เป็นผลร้าย กระทบต่ออวัยวะภายในที่แน่นอน  เช่น อารมณ์โกรธทำลายตับ, อารมณ์วิตกกังวลทำลายม้าม,   อารมณ์ดีใจทำลายหัวใจ อารมณ์เศร้าโศกเสียใจทำลายปอด อารมณ์กลัวทำลายไต

ภาวะทางอารมณ์  โดยเฉพาะอารมณ์เก็บกดหงุดหงิด   จากการคิดกังวลมากเกินปกติ  จะเกิดการติดขัดของการไหลเวียนพลังของอวัยวะตับ   นานเข้าเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นความร้อน   และนำไปสู่ภาวะทางจิตเป็นลักษณะของความซึมเศร้าที่มีแนวโน้มไปทางเก็บกด ไม่แสดงออก  หดหู่ซึ่งเป็นด้านยิน  หรือแนวโน้มไปทางคลุ้มคลั่ง  โวยวายซึ่งจัดเป็นด้านหยาง  ภาวะทางอารมณ์มีผลต่ออวัยวะภายในหลายอวัยวะ  มีอาการแสดงออกหลายอาการหรือเป็นกลุ่มอาการ  

แพทย์แผนจีน  เรียก ภาวะซึมเศร้าว่า อื่อวี่เจิ้ง (抑郁症 ) เป็นผลจากอารมณ์ที่ไม่ได้รับการระบาย  ตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการเก็บเลือดและระบายพลังและเลือด    ในกรณีที่ร่างกายต้องการใช้พลังและเลือดเพิ่มเติม    เพื่อการปรับเปลี่ยนอารมณ์ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้า   พลังตับที่ไม่ถูกระบายหรือกลไกพลังติดขัด เรียกว่า พลังตับอุดกั้น  การแก้ไขคือต้องให้มีการระบายพลังตับ  ขณะเดียวเดียวกันยังต้องเสริมบำรุงพลังของม้าม (ช่วยการย่อยและดูดซึม) รวมทั้งการบำรุงหัวใจ  ทำให้จิตใจสงบ

กลุ่มอาหารที่มีฤทธิ์ช่วยการย่อยเสริมม้ามช่วยนอนหลับ  คือ  ข้าวฟ่าง , พุทราจีน , วอลนัท , เปลือกอบเชย, ลูกบัว ,นมสด

กรณีที่มีความร้อนภายในรุนแรงพิจารณาการใช้ มะระต้มกระดูกหมู  เพื่อลดความร้อนภายในของตับ

ตัวอย่างเครื่องดื่มและอาหารสมุนไพร

1. เครื่องดื่ม เปลือกส้มโอ ,ส้มเช้ง , ซานจา(山楂), พุทราจีน 3 ลูก

ใช้เปลือกส้มโอ จำนวน 10 กรัม  หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแห้ง

เปลือกส้มเช้ง 10 กรัม

ซานจา (รสเปรี้ยว) 10 กรัม

ต้มน้ำให้เดือด ดื่มแทนน้ำชา สัก 5 นาที

สรรพคุณ   เปลือกส้มโอ ,ส้มเช้ง ลดการอุดกั้นขวางพลังตับ  ซานจา (山楂) ช่วยย่อย รสเปรี้ยวเข้าเส้นลมปราณตับ  พุทราจีน เสริมระบบย่อย

2. ชาดอกกุหลาบ 玫瑰花茶

ดอกกุหลาบแห้ง  6 กรัม, หัวแห้วหมู 6 กรัม ต้มเป็นชาดื่ม

สรรพคุณ  บรรเทาอาการเจ็บชายโครง แน่นในอก เนื่องจากพลังตับติดขัด

3. มะระผัดเนื้อหมู

มะระ   300 กรัม

เนื้อหมู (เนื้อแดง) 150 กรัม

วิธีปรุง           

  • หั่นมะระเป็นชิ้นเล็กๆ  เติมน้ำต้มจนเดือด  เทน้ำออก (ล้างความขม)
  • หั่นเนื้อหมูเป็นชิ้นเล็กๆ ผัดกับน้ำมัน
  • นำมะระมาผัดรวมกัน   ปรุงแต่งรสชาติตามความต้องการ 

สรรพคุณ มะระ  ระบายความร้อนของตับ  เนื้อหมูบำรุงร่างกาย

 หมายเหตุ  : ใช้กับภาวะที่ซึมเศร้าหงุดหงิดทีมีความร้อนภายในมาก

** เราสามารถใช้สูตรแรก เครื่องดื่มและสูตร2 ทำเป็นอาหารควบคู่กันไป

กรณีนอนไม่หลับ  จะพิจารณาใช้พุทราจีนกับเม็ดบัวต้มเป็นน้ำ ดื่มอีกตำรับหนึ่ง