อาหารและสมุนไพรกระตุ้นน้ำนมหลังคลอด ตามศาสตร์แพทย์จีน

องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) เสนอแนะให้ทารกแรกเกิดได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่เป็นหลักในระยะ 6 เดือนแรก ด้วยเหตุผลที่สำคัญทั้งต่อสุขภาพ การพัฒนาการร่างกาย ระบบประสาท ทางจิตใจของเด็ก และความผูกพันทางสายเลือดของอารมณ์ความรู้สึกระหว่างแม่กับลูก

  • หลังคลอด นมที่สร้างช่วงแรกจะเป็นน้ำนมเหลือง (Colostrums) ซึ่งจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นน้ำนมขาวในที่สุด สารอาหารสำคัญที่มีอยู่ในนมแม่ ได้แก่ ไขมัน (ไขมันจำเป็น เช่น ไลโนเลอิกและไลโนเลนิก) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการสร้างสารไปห่อหุ้มเส้นใยประสาทในสมองเด็ก ทำให้การส่งกระแสประสาทในสมองเด็กทำได้ดีและรวดเร็วขึ้น มีพัฒนาการในการตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบๆ ตัว 
  • นอกจากนั้นอิมมูโนโกลบูลินในนมแม่จะช่วยลดโอกาสการเป็นภูมิแพ้ในเด็ก รวมทั้งจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและไม่สบายของเด็ก
  • ขณะที่ลูกดูดนมจากอกแม่ จะทำให้ระดับฮอร์โมน ออกซีโทซิน (Oxytocin) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยให้แม่มีจิตใจอ่อนโยน ซึ่งเด็กจะรู้สึกได้ถึงความอ่อนโยน อันจะส่งผลให้เด็กมีอารมณ์ดีและเพิ่มสัญชาตญาณความเป็นแม่ทำให้มีความผูกพันทางสายเลือด
  • ขณะที่ลูกดูดนมแม่ประสาทสัมผัสทุกส่วนของเด็กจะถูกกระตุ้นให้เกิดการทำงาน ทั้งการมองเห็น โดยการสบตากับแม่ขณะดูดนม การรับกลิ่น เนื่องจากการอยู่ใกล้ชิดกับการฝึกประสาทหูเนื่องจากลูกจะได้ยินเสียงแม่ที่พูดคุยกับตนเอง
  • การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีข้อดีอีกอย่างก็คือลดโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมของแม่ เหตุผลหนึ่งเพราะด้วยระดับฮอร์โมน ออกซีโทซิน (Oxytocin) เพิ่มมากขึ้นจะยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองทำให้ไม่มีการกระตุ้นการเติบโตของไข่ เต้านมจะได้พักการถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่องจากออร์โมนเอสโตรเจน

แต่ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นคือ จะมีปริมาณและคุณภาพของน้ำนมที่ดีพอได้อย่างไร การเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำนมให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอจึงเป็นหัวใจที่ต้องได้รับการพิจารณาเร่งด่วน

ภาวะน้ำนมน้อย (缺乳)ในมุมมองแพทย์แผนจีน

น้ำนมมีที่มาจากเลือด สตรีมีความเกี่ยวข้องกับเลือด เลือดและพลังมีที่มาจากกระเพาะอาหารและม้าม สตรีหลังคลอดที่เสียเลือดมากขณะคลอด ย่อมเสียเลือดและพลังไปด้วยกัน เลือดเป็นเสมือนวัตถุดิบในการสร้างน้ำนม พลังคือตัวขับเคลื่อนให้หลั่งน้ำนม การสร้างน้ำนมจึงเกี่ยวข้องกับการสร้างเลือดให้เพียงพอ และการกระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่ผ่านเต้านม ซึ่งเกี่ยวข้องกับเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร  เส้นลมปราณตับ เส้นลมปราณเริ่นและเส้นลมปราณชง (เลือดและพลังที่มากพอในสตรีจะหล่อเลี้ยงเส้นลมปราณทั้งสองนี้ไปกระตุ้นการสร้างน้ำนม)

การแยกแยะภาวะน้ำนมน้อย (缺乳)ในทางคลินิก

1.พลังและเลือดพร่อง (气血虚弱) น้ำนมถูกแปรเปลี่ยนจากเลือด คนที่ระบบการย่อยดูดซึมไม่ดี(กระเพาะอาหารและม้ามพร่อง)เป็นพื้นฐาน เช่นมีอาการแพ้ท้อง ทานอาหารไม่ได้ระหว่างตั้งครรภ์ จะทำให้ไม่สามารถสร้างเลือดและพลังได้มากพอ รวมถึงภาวะเสียเลือดจำนวนมากขณะคลอด ทำให้เป็นสาหตุของเลือดและพลังพร่องหลังคลอด

ลักษณะที่พบ เต้านมจะอ่อนนุ่มไม่เต่งตึง ไม่แน่น ไม่ปวด น้ำนมที่บีบออกมามีปริมาณน้อย เป็นหยดๆ น้ำนมค่อนข้างจางเหลว

การตรวจวินิจฉัย ใบหน้าออกซีด ไม่มีสีเลือดเบื่ออาหารไม่มีกำลัง ลิ้นซีด ฝ้าบนลิ้นขาวบางชีพจรเล็กและเบา

2.พลังตับติดขัด (肝郁气滞) มักมีอารมณ์หงุดหงิดแปรปรวนหลังคลอด บางครั้งโศรกเศร้า บางครั้งร้องไห้ บางครั้งโกธรเนื่องความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เนื่องจากพลังติดขัด แม้ว่าจะมีน้ำนมแต่การไหลเวียนของพลังไม่คล่องตัว ไม่สามารถกระตุ้นการหลั่งน้ำนมออกมาได้ 

ลักษณะที่พบ เต้านมเต่งตึง คัดแน่น กดเจ็บเวลากดรีดน้ำนมจะเจ็บ น้ำนมออกยากและน้ำนมค่อนข้างข้น

การตรวจวินิจฉัย หงุดหงิดง่ายคัดแน่นหน้าอก ชายโครงเบื่ออาหาร ตัวลิ้นปกติฝ้าบนลิ้นเหลืองบาง ชีพจรตึง ลื่น

หมายเหตุ: ภาวะพลังตับปิดกั้นนานๆอาจทำให้เกิดความร้อนเกิดการอักเสบ บามแดง ตามด้วยเต้านมเป็นหนอง

3. เสมหะปิดกั้น( 痰浊阻滞) มักพบในสตรีที่อ้วน คือมีเสมหะความชื้นสะสม มักเป็นคนที่ชอบกินของหวานอาหารมัน ทำให้ระบบย่อยสลายดูดซึมอาหารทำงานไม่ดี คนอ้วนมักจะเกิดจากพลังพร่องมีเสมหะความชื้น (肥人气虚痰湿) ทำให้ขาดพลังในการกระตุ้นการหลั่งน้ำนม

ลักษณะที่พบ มักเป็นคนอ้วน เต้านมโต มีไขมันเยอะ เต้านมไม่ตึง ไม่แน่น น้ำนมไม่ข้น  น้ำนมน้อยหรือไม่มี แน่นในอกเสมหะมาก กินเก่ง หรือทานน้อยถ่ายเหลว ตัวลิ้นซีดบวม ฝ้าบนลิ้นเหนียว ชีพจรลึกและเล็ก

แนวทางการดุแลรักษา

1.พลังและเลือดพร่อง (气血虚弱) 

หลักการรักษา  บำรุงพลังเสริมการสร้างเลือด ทะลวงกระตุ้นการขับน้ำนม(补气养血,佐以通乳)

ตำรับยา ทงหยู่ตัน (通乳丹)

ต้วยา:โสมคน(人参) บำรุงพลั

หวงฉี(黄芪) บำรุงพลัง กระตุ้นการไหลเวียนพลัง

ตังกุย(当归) บำรุงเลือด

ม่ายตง(麦冬) เสริมสารยิน

ทงเฉ่า(通草)  ทะลวงเส้นลมปราณ

เจี๋ยเกิ่ง(桔梗)  นำยาไปสู่ด้านบน

กลีบเท้าหมู(猪蹄) ช่วยบำรุงเลือดกระตุ้นการไหลเวียนเลือด อุดมด้วยโปรตีน ไขมัน

2.พลังตับติดขัด (肝郁气滞)

หลักการรักษา  ระบายตับคลายการปิดกั้น ทะลวงกระตุ้นการขับน้ำนม(疏肝解郁,通络下乳)

ตำรับ:เซี่ยหยู่หย่งเฉวียนส่าน(下乳涌泉散)

ตัวยา ประกอบด้วย

  • ตังกุย(当归)  ไป๋สาว(白芍)  เซิงตี้หวง(生地黄) กลุ่มยาบำรุงเลือด
  • ไฉ่หู(柴胡)  ชิงผี(青皮)  ระบายตับ  คลายการอุดกั้น
  • เทียนฮัวเฟิ่น(天花粉) ขับร้อน ขับหนอง ลดบวม
  • โล้วหลู่(漏芦) ขับพิษ ขับร้อน กระตุ้นน้ำนม
  • เจี๋ยเกิ่ง(桔梗)  ไป๋จื่อ(白芷)  นำยาขึ้บน เข้าบริเวณเต้านม
  • ทงเฉ่า(通草)  ชวนซานเจี่ย(穿山甲) หวางปู๋หลิวสิง(王不留行) ทะลวงเส้นลมปราณ
  • กานเฉ่า (甘草) ประสานตัวยา

3.เสมหะปิดกั้น( 痰浊阻滞)

หลักการรักษา เสริมบำรุงม้ามสลายเสมหะ ทะลวงเต้านม (健脾化痰通乳)

ตำรับยา ชังฟู่ตาวถานหวาน(苍附导痰丸)

ตัวยา

  • ฝูหลิง(茯苓) ฝาปั่นเซี่ย(法半夏) เฉินผี(陈皮) กันเฉ่า(甘草) เป็นกลุ่มสมุนไพรขับ สลายเสมหะ
  • ชังจู๋(苍术) สลายความชื้นส่วนกลาง
  • เซียงฟู่(香附)  จื่อเขอ(枳壳) กระตุ้นการบีบตัวลำไส้
  • เซิงเจียง(生姜) เสินชวี(神曲) อุ่นกระเพาะอาหาร ช่วยย่อย
  • ตังกุย(当归)  ชวนซยง(川芎) บำรุงเลือด กระตุ้นการไหลเวียนเลือด

อาหารสมุนไพรไทยบำรุงน้ำนม

มีกลักการเลือกใช้อาหารสมุนไพร  2 ด้าน ด้านหนึ่งคืออาหารสมุนไพรที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เช่น แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามิน เส้นใยอาหาร ร่วมกับอีกด้านหนึ่งคืออาหารสมุนไพรรสเผ็ดร้อน กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ขับน้ำนม ลดอาการเสียดแน่นท้อง  ตัวอย่างเช่น

  • งาดำ- เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม งาดำจะเพิ่มน้ำนมให้มีมากขึ้น
  • หัวปลี-มีแคลเซียมสูง โปรตีน ฟอสฟอรัส วิตามินซีและยังมีเส้นใยอาหารปริมาณสูง
  • ใบกะเพรา-  แหล่งของธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัสและเส้นใยอาหารสูง มีฤทธิ์ร้อนที่จะช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือด
  • กุยช่าย- มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เบต้าแคโรทีน คาร์โบไฮเดรตและวิตามินซีที่จะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม
  • มะละกอ- มีวิตามินเอ บี ซี ธาตุเหล็ก แคลเซียมสูง ฟอสฟอรัสและเส้นใยอาหาร ช่วยขับน้ำนม
  • ฟักทอง- วิตามินเอ บี ซี เบต้าแคโรทีนและฟอสฟอรัส กินเพิ่มการผลิตน้ำนมให้แก่ร่างกายได้ดีแล้ว
  • ตำลึง- มีโปรตีนและวิตามินหลายชนิด นอกจากนี้ ยังมีธาตุเหล็ก แคลเซียมและเส้นใยอาหารสูงอีกด้วย
  • ขิง – มีวิตามินเอ บี1 บี2 แคลเซียมและคาร์โบไฮเดรต ช่วยขับลม แก้ท้องอืด กระตุ้นน้ำนม
  • ใบแมงลัก- อุดมไปด้วยแคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินบีและซีสูง กระตุ้นการไหลเวียนเลือดและขับน้ำนม
  • พริกไทย ยี่หร่า กานพลู หอมแดง ล้วนเป็นอาหารรสเผ็ด ฤทธิ์ร้อน ช่วยกระต้นการไหลเวียนเลือด กระตุ้นการขับน้ำนม

ตัวอย่างตำรับอาหารสมุนไพรไทยกระตุ้นน้ำนม

แกงเลียงผักรวม

  • มีส่วนประกอบเครื่องปรุง เช่น กะปิ ปลาทูย่าง(แกะเอาแต่เนื้อ) ตำลึง  บวบเหลี่ยม   หัวปลีหั่นหยาบ  เห็ดฟาง  ใบแมงลัก  กระชายสด พริกไทยเม็ดป่น หอมแดง                                                   

ตำรับอาหารสมุนไพรจีนกระตุ้นน้ำนม

1.กลีบขาหมู กับสมุนไพรบำรุงพลังและเลือด

หวงฉี (黄芪) 30  กรัม ตังกุย(当归) 10 กรัม  ทงเฉ่า(通草)10 กรัม  ขิงสด หัวหอม ต้มกับกลีบขาหมู 2 ขา

สรรพคุณ  กลีบขาหมู มีโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรท วิตามินที่สามารถเสริมสร้างน้ำนม ร่วมกับสมุนไพรหวงฉี (黄芪) บำรุงพลัง ตังกุย(当归)บำรุงเลือด ทงเฉ่า(通草)กระตุ้นน้ำนม

2.กลีบขาหมู กับถั่วลิสง

ถั่วลิสง (花生米) 200กรัม   กลีบขาหมู(猪蹄) 2 ขา เหล้าเหลืองขิง หัวหอมปรุงรสตามต้องการ

สรรพคุณ ถั่วลิสงและกลีบขาหมูบำรุงสารยินและสร้างเลือด กระตุ้นการขับน้ำนม

ในกรณีที่พิจารณาว่ามีภาวะติดขัดของการไหลเวียนชี่ สามารถปรับใส่สมุนไพรจีนที่มีรสเผ็ด มีสารหอมระเหย สรรพคุณกระตุ้นการไหลเวียนพลังและเลือด กระตุ้นน้ำนมร่วมด้วย เช่น เปลือกส้ม(陈皮) หัวแห้วหมู(香附)

สรุป

ภาวะน้ำนมน้อยหลังคลอดมีพื้นฐานจากภาวะร่างกายของสตรีหลังคลอดโดยตรง บางคนร่างกายไม่แข็งแรง เลือดและพลังพร่องระหว่างตั้งครรภ์ แล้วในช่วงการคลอดยังต้องเสียเลือดและพลังเพิ่มไปอีก หรือมีความแปรปรวนทางอารมณ์ที่มีก่อนและหลังคลอดจากปัจจัยต่างๆไปทำให้การไหลเวียนของพลังติดขัด ไม่สามารถขับน้ำนมออกมาได้ รวมถึงคนที่อ้วนจากเสมหะความชื้นสะสมทำให้ขาดพลังสร้างเลือดขับน้ำนม คนที่ดูแลสุขภาพและร่างกายมีภาวะสมดุลดีก่อนและระหว่างตั้งครรภ์มักไม่ค่อยจะมีปัญหาเรื่องมีน้ำนมให้ลูกไม่พอ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาน้ำนมไม่พอ การปรับสมดุลด้วยอาหารและสมุนไพรก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเยี่ยวยาและบรรเทาปัญหานี้ได้