เกร็ดความรู้ แพทย์แผนจีน กับโรคหลอดเลือดสมอง

เกร็ดความรู้ของศาสตร์แพทย์แผนจีน กับโรคหลอดเลือดสมอง

  • หลอดเลือดสมองแตก มักเป็นในผู้สูงวัย มีอารมณ์โมโหฉุนเฉียวง่าย ทั้งนี้เป็นเพราะคนสูงวัยมีความเสื่อมของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น รวมทั้งยังมีผลจากหลายปัจจัย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ ยังมีพื้นฐานจากพลังหยวนชี่ (พลังพื้นฐานของร่างกาย) ในการขับเคลื่อนเลือดทั่วร่างกายและไปยังสมอง พลังหยวนชี่ที่อ่อนแอทำให้เลือดเคลื่อนที่มีความฝืด ต้องอาศัยการหดตัวของหลอดเลือดเพื่อเพิ่มความดันให้มีปริมาณเลือดเพียงพอ ทำให้หลอดเลือดมีโอกาสแตกได้ง่าย
  • คนหนุ่มสาว โดยทั่วไป พลังหยวนชี่ยังเพียงพอ หลอดเลือดยังยืดหยุ่นดี โอกาสที่หลอดเลือดสมองจะปริแตกจึงเกิดได้น้อย
  • หลอดสมองตีบหรืออุดตัน แพทย์จีนให้ความสำคัญกับพลังหยวนชี่ การที่หยวนชี่อ่อนแอหรือพร่อง การขับเคลื่อนเลือดและพลังไปสมองไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการอุดตันของเลือดหรือหลอดเลือดตีบตัน
  • ภาวะความดันโลหิตสูง เทียบเท่ากับภาวะหยางแกร่ง รากฐานคือความอ่อนแอของไต มีภาวะยินพร่อง ไม่สามารถดึงรั้งพลังไว้ ทำให้พลังหยางแผ่ซ่านไปด้านบน การรักษาภาวะความดันสูงด้วยยาลดความดันโลหิต จึงเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ไมได้แก้ที่รากฐาน
  • อารมณ์โกธรทำให้พลัง เลือด ไหลเวียนแผ่ซ่านขึ้นสู่ด้านบนมากเกินไป เกิดจากพลังตับแกร่ง ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ปวดศีรษะ อาเจียน ถ้าเป็นมากทำให้เป็นลมหมดสติ (หลอดเลือดสมองจะปริแตก)
  • อารมณ์โกธรเป็นตัวหนุนเสริมให้หยางขึ้นด้านบนมากขึ้น การสงบอารมณ์ช่วยดึงหยางกลับลงมาด้านล่าง ช่วยให้ความดันลดลง ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดในสมอง
  • หลอดเลือดสมองตีบมักเกิดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว เป็นช่วงที่ธรรมชาติมีลักษณะการเก็บและสะสมพลัง ถ้าหากพลังหยวนชี่น้อยหรือที่เก็บสะสมไม่พอ การส่งเลือดไปอวัยวะต่างๆและสมองจะลดน้อยลง ทำให้สมองมีโอกาสตีบตันได้ง่าย
  • หลอดเลือดสมองปริแตกมักเกิดในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ด้วยอากาศที่ร้อนทำให้เลือดไหลเวียนสู่ภายนอก รวมทั้งหลอดเลือดส่วนปลายปริมาณมาก คนที่มีความดันโลหิตสูง ถ้าเข้าไปอยู่ในที่อากาศเย็นอย่างรวดเร็ว จะทำให้หลอดเลือดแดงหดตัว ความดันจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อากาศร้อนยังทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปสะสมที่หลอดเลือดแดงส่วนปลายมากขึ้นอากาศร้อนยังก่อให้เกิดอาการหงุดหงิดโมโหง่าย

การป้องกันภาวะจ้งเฟิง

  1. 1. หมั่นใช้ปลายนิ้วมือทั้ง 10 กระทบกัน (十个指尖相碰) ความจริงเรื่องของหลอดเลือดสมองปัญหาอยู่ที่สมองบริเวณศีรษะ ตามทฤษฎีเส้นลมปราณปลายนิ้วเป็นจุดเชื่อมระหว่างเส้นลมปราณจากอวัยวะภายใน (ยิน) และเส้นลมปราณที่ไปบริเวณศีรษะ(หยาง) เป็นตำแหน่งส่วนปลายของหลอดเลือดที่เปราะบางที่สุด ตีบตันง่ายที่สุด การใช้ปลายนิ้วมือทั้ง 10 กระทบกัน จะช่วยลดการอุดตัน การคั่งของเลือดในหลอดเลือด ทำให้เลือดที่ไปสมองไหลคล่องไม่ติดขัด
  2. 2. หมั่นใช้เทคนิคขมิบก้น (提肛法) บางครั้งเรียกว่า เทคนิคการกลับสู่ความเยาว์วัย (回春术) เป็นเทคนิคที่ใช้ในวิชาฝึกเดินลมปราณ (ชี่กง) วิธีนี้ปรับสมรรถภาพการทำงานของม้ามและไตดีขึ้น เพื่อเพิ่มพลังหยวนชี่ เส้นลมปราณนี้เริ่มต้นที่บริเวณตำแหน่งมดลูกในผู้หญิง หรือต่อมลูกหมากในผู้ชายออกมาที่ฝีเย็บ (จุดฮุ่ยยิน) ผ่านกลางลำตัวด้านหลังขึ้นไปถึงศีรษะผ่านกลางกระหม่อม (จุดไป๋ฮุ่ย) เชื่อมไปในสมอง การขมิบก้นบ่อยๆวันละอย่างน้อย 100 ครั้งจะเป็นการปรับการไหลเวียนเลือดไปสมอง
  3. 3. การปล่อยเลือดที่ปลายนิ้วมือทั้ง 10 (十宣放血法 หรือ十指放血法) เนื่องจากปลายมือ (ปลายเท้า) เป็นบริเวณของหลอดเลือดส่วนปลายเหมือนกัน นอกจากนี้เลือดและพลังจากส่วนปลายนิ้วยังเชื่อมโยงไปที่บริเวณศีรษะ ดังนั้นสมัยโบราณจึงใช้การระบายแรงดันการคั่งของเลือดหรือระบายความร้อนที่คั่งในสมอง (กรณีลมแดด) ด้วยการปล่อยระบายเลือดที่ปลายนิ้วมือทั้ง 10 เรียกว่าเป็นการเปิดทวารทำให้ฟื้นตื่นขึ้นมา ในกรณีฉุกเฉินจากเส้นเลือดสมองแตก

อย่างไรก็ตามหลอดเลือดสมองปริแตกหรือตีบตัน เป็นภาวะอันตรายที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนโดยการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์สมัยใหม่ เพราะถ้ารักษาไม่ถูกต้องหรือไม่ทันท่วงทีอาจถึงแก่ชีวิตได้ วิธีนี้จึงเป็นการบรรเทาและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อซื้อเวลา ขณะที่รอการช่วยเหลือหรือส่งต่อไปโรงพยาบาล  ไม่ใช่วิธีที่จะรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *