เทคนิค “อาบน้ำ” เพื่อสุขภาพ

การอาบน้ำชำระร่างกาย มีความละเอียด มีมุมมอง และเทคนิคต่างๆ มากมาย ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากน้ำเพื่อผลในการกระตุ้นร่างกาย ฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย เช่น การใช้ธาราบำบัด

แพทย์แผนจีนได้กล่าวถึงศาสตร์ของการอาบน้ำอุ่นและอาบน้ำเย็นเพื่อสุขภาพไว้ ดังนี้

น้ำอุ่นหรือน้ำร้อน (หยาง)

ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย เพิ่ม ฟื้นฟู และพยุงพลังหยาง ทำให้เลือดและพลังลมปราณเคลื่อนไหวได้ดี ช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความเย็น ความชื้น ลม โรคเกี่ยวกับเอ็นหรือกระดูก ปวดตามข้อ ตะคริว นอนไม่หลับ ท้องเสียเรื้อรัง อาการหนาวเย็นบริเวณช่องท้อง หน้าอก

น้ำเย็น (ยิน)

ระงับความร้อนอุดกั้น ลดการเจ็บปวดเนื่องจากการอักเสบ ช่วยให้ก้อนเลือดหดตัว ลดการบวม ทำให้เลือดไหลเวียนดี รักษาอาการร้อนคลุ้มคลั่ง โรคความดันเลือดสูง แผลอักเสบจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลดการปวดเอ็นกล้ามเนื้อ และกระดูกที่มีการอักเสบร้อน


นอกจากนั้น หากใช้ทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็นสลับกัน จะเป็นการฝึกฝนการปรับตัวของระบบประสาทอัตโนมัติ ทั้งด้านกระตุ้น (ซิมพาเทติก) และยับยั้ง (พาราซิมพาเทติก) เพื่อให้มีการปรับสมดุลของยินและหยางนั่นเอง 

คุณสมบัติของน้ำมีทั้งมีแรงดันและมีแรงลอยตัว
เมื่อเราลง ไปแช่ในน้ำ จะมีความรู้สึกถูกบีบรัดรอบตัวบริเวณทรวงอก ช่องท้อง แขน ขา ทำให้กะบังลมถูกดันขึ้นข้างบน การเคลื่อนไหวขยายตัวของปอดลดลง ลักษณะนี้จะช่วยในการฝึกหายใจ และรักษาโรคหลอดเลือดขอด หรือคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อการหายใจ แต่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจขาด เลือด โรคหอบหืด เพราะจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น การหายใจลำบากติดขัด และจากคุณสมบัติที่น้ำมีแรงลอยตัว จึงนำมาฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาต แขน ขาอ่อนแรง หรือผู้ป่วยที่ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เคลื่อนไหวลำบาก ผู้ป่วยที่พักฟื้นอยู่บนเตียงนานๆ ขาดการออกกำลังกาย

การรักษาโรคโดยใช้คุณสมบัติทางกายภาพของน้ำ ปัจจุบันได้พัฒนาและออกแบบพิเศษตามศูนย์สุขภาพและโรงพยาบาล จะเรียกว่าเป็น ธาราบำบัด หรือ วารีบำบัด ก็แล้วแต่ มีการใช้ทั้งคุณสมบัติของความร้อน-เย็นของน้ำ และแรงลอยตัวของน้ำ เช่น การนำมาใช้ในผู้สูงอายุ เพื่อลดการติดขัดของข้อ ลดการเจ็บปวด ทำให้มีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น หรือใช้ออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ลดอาการปวดเมื่อยของร่างกายในระยะตั้งครรภ์ แต่หากจะมีการนำมาใช้กับบุคคลทั่วไปแล้ว คงจะต้องประยุกต์ให้สอดคล้องกับฐานะและชีวิตจริงของแต่ละคนด้วย และเราคงไม่ลืมแก่นแท้ของการดูแลสุขภาพในลักษณะองค์รวม ที่ต้องเน้นความสมดุลในทุกอย่าง โดยเฉพาะร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อม และยังต้องเข้าใจลักษณะพิเศษของวิธีการนั้นๆ จึงจะมีประโยชน์และปราศจากโทษอย่างแท้จริง

ข้อควรระวังในการอาบน้ำ

1. ควรงดการอาบน้ำในบุคคลเหล่านี้ คือ คนที่มีไข้สูง หรืออยู่ในระยะที่เริ่มจะมีอาการไข้เฉียบพลัน, ผู้ป่วยโรคหัวใจรุนแรง, โรคเลือดจาง, โรคไตวายรุนแรง, คนที่ดื่มเหล้าเมา

2. โรคที่ติดต่อกันง่าย เช่น วัณโรค แผลติดเชื้อที่ผิวหนัง ไม่ควรอาบน้ำในสระหรือที่สาธารณะร่วมกัน และควรใช้อุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวเท่านั้น

3. คนที่มีโรคความดันสูง โรคหัวใจขาดเลือด ไม่ควรแช่น้ำร้อนนานเกิน 10 นาที ในขณะที่แช่น้ำร้อนควรถูนวดตัวไปด้วย เพื่อช่วยให้การไหลเวียนที่ผิวดีขึ้น

4. การแช่น้ำร้อนนานกว่าครึ่งชั่วโมง จะทำ ให้เลือดลงมาสะสมที่ผิวหนัง ส่งผลให้ไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ อาจเป็นลมได้

5. ไม่ควรอาบน้ำในขณะเหงื่อออกมาก จะทำให้ไม่สบาย เพราะรูขุมขนกำลังเปิด ความเย็นจะเข้าสู่ร่างกาย

6. การอาบน้ำหลังกินข้าวอิ่มใหม่ๆ จะทำให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพน้อยลง

7. การอาบน้ำร้อนปกติ อุณหภูมิไม่ควรเกิน 40 องศาเซลเซียส ยกเว้นกรณีพิเศษที่ต้องการผลเฉพาะ