เหงื่อบอกโรค

เรื่องโดย : ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล

“คุณหมอครับ ทำไมผมเหงื่อออกมากจังเลย บางครั้งอยู่ในห้องปรับอากาศเหงื่อก็ยังออกเลย ผมเป็นโรคอะไรครับ”
“คุณหมอคะ ทำไมลูกดิฉันนอนหลับกลางคืน เหงื่อออกเต็มตัวเลย”
“คุณหมอคะ ทำไมดิฉันเหงื่อออกง่ายจัง ทำอะไรนิดหน่อยเหงื่อก็จะออก ดิฉันรู้สึกเหนื่อยง่ายจังเลย”

แพทย์แผนจีนถือเอาเหงื่อเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการถามเกี่ยวกับภาวะสมดุลของร่างกาย ความผิดปกติของเหงื่อเป็นภาพสะท้อนองค์รวมของร่างกายอย่างหนึ่ง ดังนั้น การตรวจวินิจฉัยและสืบค้นเพื่อวางแผนการรักษา (ซึ่งได้แก่ การมอง การฟัง การดม การถาม การสัมผัสจับชีพจร) จำเป็นต้องเข้าใจภาวะเหงื่อของผู้ป่วย

เหงื่อในทรรศนะแพทย์แผนปัจจุบัน
เมื่อมีอากาศรอบตัวมีอุณหภูมิสูงมากขึ้นระดับ 32 องศาเซลเซียสขึ้นไป การระบายความร้อนของร่างกายเพื่อปรับอุณหภูมิร่างกายให้คงที่โดยวิธีการนำความร้อน การพาความร้อน หรือการแพร่รังสีจะไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้การระบายความร้อนออกทางเหงื่อ ให้เหงื่อนำความร้อนออกจากร่างกายสู่ภายนอก ต่อมเหงื่อมีอยู่ทั่วไปตามผิวหนังของคน ส่วนมากอยู่ในชั้นหนังแท้ ลึกจากผิวหนังไม่มากนัก อาจมีบางตำแหน่งที่อยู่ลึกหน่อยและตอมขนาดใหญ่ ทำให้เหงื่อออกมากกว่าตำแหน่งอื่นและเป็นที่หมักหมมของเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย เช่น ต่อมเหงื่อบริเวณรักแร้

ต่อมเหงื่อควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ ดังนั้น เวลาอารมณ์แปรปรวน ซึ่งจะกระทบประสาทอัตโนมัติ จะทำให้มีเหงื่อออกตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือสภาพอากาศที่และมีไอน้ำมาก เหงื่อจะระบายออกยาก ทำให้รู้สึกอึดอัด ลมช่วยทำให้เหงื่อระบายออกได้ดี

ต่อมเหงื่อทั้งร่างกายในผู้ใหญ่มีประมาณ 2.5 ล้านต่อม ถ้าอากาศร้อนมากๆ สามารถทำให้เสียเหงื่อได้มากถึง 4 ลิตรต่อชั่วโมง ในเวลาอันสั้น แต่การเสียเหงื่อมากจะทำให้เสียน้ำและเกลือแร่ด้วย ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้ นักมวยที่พยายามลดน้ำหนัก หรือคนที่ชอบอบซาวนา เพื่อให้เหงื่อออกมาก ๆ เพื่อลดน้ำหนัก จึงต้องระวังภาวะเสียน้ำ เสียพลังงานและเสียเกลือแร่ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

เหงื่อในทรรศนะแพทย์จีน มองว่า “เหงื่อเป็นสารน้ำของร่างกายที่ส่งไปยังรูเปิดที่ผิวหนังเพื่อขับสู่ภายนอกร่างกาย เป็นปฏิกิริยาที่หยางกระทำกับยิน” ( หวงตี้ไน่จิง = ซู่เวิ่น )
“พลังหยางเผาระเหยสารน้ำของร่างกายออกสู่ผิวหนัง ”
“เหงื่อเป็นสารน้ำของหัวใจ ”

เหงื่อออกที่เป็นสภาวะปกติ
การกินของเผ็ด ของร้อน การออกกำลังกาย การสวมเสื้อผ้าที่หนาเกินไป (เมื่อเทียบกับอากาศภายนอก) อารมณ์แปรปรวนเฉียบพลัน ถือเป็นภาวะปรับตัวของร่างกาย

เหงื่อผิดปกติแสดงออกอย่างไรบ้าง
1. ไม่มีเหงื่อ
2. เหงื่อออกผิดปกติ
– เหงื่ออกมากผิดปกติ ( ปริมาณเหงื่อ )
– เหงื่ออกทั้งที่ไม่ควรออก ( ผิดเวลา , ออกบางตำแหน่ง )
– เหงื่อออกร่วมกับมีอาการเจ็บป่วย , มีพยาธิสภาพ                            

สาเหตุของปัจจัยที่ทำให้เหงื่ออกผิดปกติ
ปัจจัยภายนอก : การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ลมร่วมกับความเย็น : ลมเย็นกระทบผิวหนัง ลมทำให้รูขุมขนเปิด ความเย็นทำให้พลังหยางที่ปกป้องส่วนผิวหนัง การไหลเวียนของเลือดและพลังที่ผิวน้อยลงเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ 2 แบบ
1. ถ้าร่างกายอ่อนแอ พื้นฐานของพลังปกป้องผิวต่ำทำให้มีอาการเหงื่อออกมาก ร่วมกับอาการกลัวลม กลัวหนาว มีไข้ต่ำๆ ( เป็นหวัดชนิดเหงื่อออกมาก กลัวความเย็นและลม )
2. ถ้าร่างกายแข็งแรง พื้นฐานของพลังปกป้องยังไม่อ่อนแอ จะเป็นหวัดชนิดไม่มีเหงื่อ ร่วมกับอาการกลัวลมกลัวหนาว มีไข้ต่ำๆ
ลมร่วมกับความร้อน : ถ้ากระทบลมร้อน ลมเปิดรูขุมขน ความร้อนทำให้ร่างกายขับเหงื่อมากขึ้น จะมีอาการเป็นหวัด เจ็บคอ ทางเดินหายใจส่วนบนติดหวัด มีไข้มากกว่ากลัวลม กลัวเย็น

ปัจจัยภายใน : มีพื้นฐานจากภาวะยินและหยางบกพร่องเป็นหลักภาวะยินบกพร่อง : ยินไม่สามารถดึงหยาง ( เนื่องจากยินน้อย ) ทำให้หยางออกไมสู่ภายนอก มักมีเหงื่อ ออกร่วมกับมีไข้ต่ำ
ภาวะหยางบกพร่อง : หยางพร่อง พลังก็พร่องด้วย หยางและพลังพร่องทำให้พลังปกป้องผิว (เว่ยซี่) อ่อนแอไม่สามารถดึงรั้งสารน้ำไว้ได้ ทำให้เหงื่ออกง่าย โดยเฉพาะเวลสออกกำลังกายหรือขณะที่เหนื่อย หรือเมื่อเคลื่อนไหว ซึ่งต้องเสียพลังงาน

ความผิดปกติของเหงื่อ ไม่ว่าจะไม่มีเหงื่อ หรือเหงื่อออกมาก ออกผิดเวลา ออกบางตำแหน่ง จึงมีความหมายที่บ่งบอกความผิดปกติของภาวะยินหยางของร่างกาย บอกภาวะสมดุลหรือภาวะโรคและการดำเนินโรคได้

แพทย์แผนจีนมีจุดเด่นตรงที่เน้นการรักษาให้เกิดภาวะสมดุล เพราะการเสียสมดุลเป็นจุดที่เริ่มต้นของการเกิดโรค การถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหงื่อจึงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามจำเป็นที่ต้องพิจารณาองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างจากข้อมูลการตรวจวินิจฉัย และอาการผู้ป่วยด้วย จึงจะทำการสรุปการวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง ไม่หยิบเอาเพียงประเด็นเรื่องของเหงื่อมาสรุปและวินิจฉัยโรคเพียงอย่างเดียว