หญิงวัย 20 ปี มีปัญหาเรื่องหงุดหงิดง่าย บางครั้งแน่นหน้าอกเหมือนจะขาดใจ ได้รับการรักษาด้วยยาจากจิตแพทย์มา 7 ปี อาการเป็นๆหายๆ ดีบ้างหายบ้าง บางครั้งมีหูแว่ว มีภาพหลอน ในที่สุดแพทย์ได้ตัดสินใจให้ยาตัวใหม่
ผู้ป่วยได้ยาตัวนี้มานาน 1 เดือนเศษ หลังจากกินยา มีอาการปัสสาวะรดที่นอน น้ำลายมาก เปียกที่นอนทุกคืน คุณแม่ของเด็กบังเอิญไปอ่านฉลากยาพบว่ามีข้อแนะนำให้เด็กตรวจเลือดเพื่อดูจำนวนเม็ดเลือดขาวทุก 2 เดือน คุณแม่กังวลใจมากถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับการใช้ยาเพราะไม่รู้ว่าจะใช้ไปนานอีกเท่าไหร่ ร่างกายจะดีข้นจริงหรือผลแทรกซ้อนจะเป็นอย่างไร หนทางนี้จะเป็นการรักษาที่ถูกต้องจริงหรือ
หญิงวัย 38 ปี ร่างกายอ่อนแอ อ่อนเพลียง่าย เครียดง่าย คิดมาก กลัวความเย็น เวียนศีรษะบ่อยๆ ชอบง่วงนอนกลางวัน กลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ ถ้าหลับก็จะฝันร้าย ตื่นกลางคืนแล้วหลับต่อลำบาก บางครั้งมีใจสั่น กินอาหารไม่ค่อยได้ ร่างกายดูท้วม ๆ เคยรักษาด้วยยาคลายเครียด ยานอนหลับ กลับรู้สึกว่าหลับแล้วไม่ค่อยอยากที่จะตื่น อ่อนเพลียมากขึ้น
หญิงวัย 45 ปี มีความรู้สึกหงุดหงิด โมโหง่าย โดยเฉพาะเวลาหิว ถ้าไม่กินอาหารลงไปให้เพียงพออาการจะกำเริบมากขึ้น มีอาการปวดเมื่อยทั่วร่างกาย นอนไม่หลับ มีลมในท้องมาก บางครั้งมีความรู้สึกเหมือนมีเม็ดบ๊วยติดคอ จะกลืนก็ไม่ลง จะคายก็ไม่ออก แต่กินอาหารก็ไม่ติดขัด เป็นมากเวลาอารมณ์ไม่ดี
ทั้ง 3 เป็นตัวอย่างคนไข้จริงที่มีปัญหาความเครียด หงุดหงิด และอึดอัดในอารมณ์ ได้รับการเยียวยารักษามานาน ยังไม่มีทางออกที่ดี ซึ่งแน่นอนไม่ใช่เป็นปัญหาของผู้ป่วยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของแพทย์ผู้รักษาเช่นกัน เพราะเป็นผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับความเครียด นอกจากปัจจัยพื้นฐานมีสาเหตุจากตัวผู้ป่วยแล้ว ยังมีปัจจัยแวดล้อม และตัวแปรมากมายที่เกี่ยวข้อง ยาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาสัมพันธภาพของแพทย์ที่จะเป็นตัวช่วยในการจัดความคิด จัดการปัญหาของผู้ป่วย ก็นับว่าสำคัญไม่น้อยทีเดียว
สิ่งที่จะเสนอต่อไปนี้เกี่ยวพันกับแนวคิดจัดการเกี่ยวกับจิตอารมณ์ของผู้ป่วยในแง่การดูแลรักษาด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน ที่มองผลของอารมณ์เครียดที่จะก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อร่างกาย การวินิจฉัยแต่ละระยะของโรค ตลอดจนการรักษาด้วยยาก็มีความแตกต่างกันไป
สาเหตุของโรคและกลไกลการเกิดโรค
ศัพท์ภาษาจีนใช้คำว่า ( อวีเจิ้ง ) มีคำว่า โหย่ว แปลว่ามี และหนาน คล้ายกับ ซาน ภูเขาเล็ก ๆ อยู่ในตัวหรือทรวงอก ทำให้รู้สึกอึดอัด มีความไม่สบายในทรวงอกเหมือนถูกกดทับ
เวลาคนเรามีอารมณ์ไม่สบายใจหรืออารมณ์เก็บกดไม่ระบาย หรือเพราะปัญหาระบบอวัยวะภายใน เลือด และมีพลังขัดข้อง ทำให้การระบายอารมณ์ไม่ดี เรียกว่า พลังการอุดกั้นที่ตับ ( ตับในความหมายของแพทย์จีนเกี่ยวข้องกับการ ระบาย ขับของเสีย ขับสารเคมีในร่างกาย ช่วยการย่อยอาหาร ถ้าตับไม่ดีการขับระบายสารชีวเคมีของร่างกายหรือสารพิษก็ไม่ดี ทำให้ตกค้างเกิดอารมณ์หงุดหงิดง่าย ในทางกลับกัน อารมณ์ไม่ดี ก็ไปทำให้ตับทำงานหนักขึ้นขับของเสียได้ยากขึ้น เรียกว่า พลังตับอุดกั้น
พลังตับอุดกั้น ทำให้การไหลเวียนของพลังติดขัด เกิดอาการจุกแน่นบริเวณชายโครงหน้าอก พลังติดขัดเลือดก็ไหลเวียนไม่ดีทำให้ประจำเดือน (ควบคุมโดยตับ) มาไม่ปกติ หรือเป็น ก้อนดำคล้ำ หรือปวดประจำเดือน การอุดกั้นของพลังนาน ๆ เข้าจะเกิดไฟในร่างกาย ทำให้หงุดหงิดมากขึ้น เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง มีความร้อนในร่างกายนานๆ จะเกิดการเป็นลายสารน้ำ (ยิน) ของร่างกาย
นอกจากนี้ พลังตับอุดกั้น จะมีผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหาร และดูดซึมลำเลียงอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมีการเบื่ออาหาร แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย หรือในที่สุดก็จะไปกระทบถึงการสร้างเลือดและพลังทำให้เกิดอาการของหัวใจ (ระบบประสาทการไหลเวียนเลือด) เช่น หน้าซีด ใจสั่น นอนไม่หลับ ลืมง่าย ตกใจง่าย การย่อยดูดซึมที่ไม่ดี ทำให้เกิดเสมหะตกค้าง เกิดอาการเหมือนเม็ดบ๊วยจุกลำคอ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก
การตรวจวินิจฉัยแยกโรคและการรักษา
1. พลังตับอุดกั้น อารมณ์หงุดหงิด หรือชอบเก็บกด ถอนหายใจบ่อย ปวดแน่นชายโครง ทรวงอก ตำแหน่งการปวดไม่แน่นอน เรอ เบื่ออาหาร อาเจียน อุจจาระผิดปกติ ประจำเดือนผิดปกติ ฝ้าบนลิ้นขาวเหนียว ชีพจรตึงหลักการรักษา : ระบายตับ ปรับพลัง คลายอารมณ์
ตำรับยาที่ใช้ : ไฉหูซูกันส่าน
2. พลังอุดกั้นเกิดไฟ อารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ปวดแน่นชายโครง หน้าอก เสียงดังในท้อง เรอเปรี้ยว คอแห้งปากขม อุจจาระแข็ง ท้องผูก บางครั้งมีตาแดง เสียงดังในหู ลิ้นแดง ฝ้าเหลือง ชีพจรตึงเร็ว
หลักการรักษา : ระบายตับ ขับไฟ ปรับกระเพาะอาหาร คลายอารมณ์
ตำรับยาที่ใช้ : ตันจือเซียวเหยาส่าน ร่วมกับ จั่วจินหวาน
3. พลังติดขัดเสมหะอุดกั้น อารมณ์หงุดหงิด ชอบเก็บกด ร่วมกับมีความรู้สึกว่ามีของติดในลำคอ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แน่นหน้าอก ปวดชายโครง ฝ้าขาวเหนียว ชีพจรตึงลื่น
หลักการรักษา : ละลายเสมหะ ปรับพลัง คลายอารมณ์
ตำรับยาที่ใช้ : ป้านเซี่ยโฮ้วผูทาง
4. หัวใจและม้ามพร่อง เป็นคนคิดมาก ชอบกังวล ใจสั่น ตกใจง่าย นอนหลับยาก ลืมง่าย หน้าตาซีดขาว เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ลิ้นซีด ชีพจรเล็กอ่อนแอ
หลักการรักษา : บำรุงม้าม หัวใจ บำรุงพลัง-เลือด
ตำรับยาที่ใช้ : กุยผีทาง
5.หยินพร่องไฟกำเริบ มักเป็น นานๆ หรือคนที่มีภาวะยินพร่องอยู่เดิมแล้วมีอาการเครียด อึดอัด เรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีปัญหาเวียนศีรษะ ใจสั่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด โมโหง่าย เมื่อยเอว น้ำกามเคลื่อนหรือในสตรีจะมีประจำเดือนไม่ปกติ ลิ้นแดง ชีพจรตึงเล็กและเร็ว
หลักการรักษา : บำรุงยิน ขับร้อน สงบอารมณ์ ทำให้นอนหลับ
ตำรับยาที่ใช้ : จือสุ่ยชิงกานยิ่น