ดูแลสุขภาพด้วยการ ถูฝ่ามือกับฝ่าเท้า

แพทย์จีนนามอุโฆษฉายาราชาสมุนไพร 药王อายุยืนยาว 141 ปีแห่งราชวงศ์ถังซุนซือเหมี่ยว孙思邈 ( ปีคศ. 541-คศ.682)เคล็ดลับคือท่านใช้เทคนิคการดูแลสุขภาพ 13 วิธี“ 养生十三法”ในการดูแลตัวเองทุกวันหนึ่งในวิธีนั้นคือเทคนิคการถูฝ่ามือกับฝ่าเท้า(手心搓脚心)

เทคนิคการถูฝ่ามือกับฝ่าเท้า

  • การใช้ใจกลางฝ่ามือถูกับใจกลางฝ่าเท้า(手心搓脚心) กลางฝ่ามือของคนเรามีจุดฝังเข็มคือ จุดเหลากง(劳宫穴)เป็นจุดของเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นตัวแทนของหัวใจปลายนิ้วกลางเป็นจุดปลายของเส้นลมปราณนี้ เรียกว่าจุด จงชง(中冲穴)
  • เอาเท้าขวาพาดบนหน้าตักซ้าย หงายฝ่าเท้าขวาขึ้น ให้เอามือ 2 ข้างมาถูกัน ให้ปลายนิ้วกลางถูกันผ่านจุดเหลากง(劳宫穴)จนเกิดความร้อน ใช้ฝ่ามือซ้ายถูกลางฝ่าเท้าขวา แล้วเอาไปถูใจกลางฝ่าเท้า ซึ่งมีจุดหย่งเฉวียน(涌泉穴)ซึ่งเป็นจุดของเส้นลมปราณไต ถูขึ้นลง 100 ครั้งจนเกิดความร้อน
  • จากนั้นสลับเอาเท้าซ้ายพาดบนหน้าตักขวา หงายฝ่าเท้าซ้าย ใช้ฝ่ามือขวาถูกลางฝ่าเท้าซ้าย ขึ้นลง 100 ครั้งจนเกิดความร้อนเช่นกัน ทำให้พลังส่วนบนและส่วนล่างถ่ายเทถึงกัน  เวลาที่เหมาะสมคือ ช่วงเช้าตื่นนอน และก่อนนอน หลังจากถูฝ่ามือกับฝ่าเท้าเสร็จ 30 นาที ให้ดื่มน้ำอุ่นๆ 1 แก้ว โดยทั่วไปใช้เวลาทำครั้งละประมาณ 10 นาที ติดต่อกันทุกวัน

     หมายเหตุ:

–  เพื่อให้เกิดการปรับใจกลาง ฟ้า มนุษย์ ดินทั้ง 3 ส่วน ผู้เขียนแนะนำว่าก่อนการถูฝ่าเท้า ควรปรับการนวด จุดไป่ฮุ้ย 百会 เป็นจุดกลางกระหม่อม  จุดเชื่อมฟ้า หัวใจแห่งฟ้า(天心百会) โดยการถูฝ่ามือจนเกิดความร้อน ใช้นิ้วมือทั้ง 10 แทนหวี  หวีผมจากไรผมบริเวณหน้าผากไปด้านหลังจนรู้สึกศีรษะโล่ง ตาสว่าง

–  ระหว่างที่ถูฝ่าเท้า ให้สงบนิ่งทางจิตใจ ผ่อนคลายส่วนบน เพ่งความสนใจไปบริเวณฝ่าเท้า เพื่อเสริมการดึงพลังจากส่วนบน(ฟ้า)ประสานกับส่วนล่าง(ดิน)

– คนที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่าเสื่อม ต้องหลีกเลี่ยงการงอเข่าขณะถูฝ่าเท้า

เหตุผลและแนวคิด

1. ไฟมีคุณสมบัติร้อน จัดเป็นหยางมีทิศทางเคลื่อนไหวขึ้นสู่เบื้องบน ไฟหัวใจที่พอเหมาะทำให้หัวใจมีแรงสูบฉีดที่ดี เลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ โดยเฉพาะระบบย่อยดูดซึมอาหารได้ดี ทำให้จิตใจ การรับรู้ และการตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้อย่างเหมาะสม                            

–  ถ้าไฟหัวใจมากเกินไปจะทำให้พลังร้อนขึ้นสู่ด้านบน เกิดอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว นอนไม่หลับ ฝันร้าย แสบตาตาแห้ง ความดันโลหิตสูง

–  ถ้าไฟหัวใจน้อยเกินไปจะทำให้ขาดพลังร้อน พลังขับเคลื่อนเลือดและพลัง ทำให้ไม่มีพลังทางร่างกายและจิตใจ เกิดอารมณ์ท้อแท้ เบื่อหน่าย ซึมเศร้า หมดไฟในการทำงาน

จุดเหลากง จุดกลางฝ่ามือ คือจุดที่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่เยื่อหุ้มหัวใจ การถูฝ่ามือ 2 ข้างจะเกิดความร้อน เป็นตำแหน่งที่ใช้ปล่อยพลังในการเพิ่มพลังรักษาโรคในหนังกำลังภายใน ขณะเดียวกันการระบายความร้อนของหัวใจที่มากเกินไปก็จะลดความดันโลหิตสูง อารณ์หงุดหงิด ใจสั่น นอนไม่หลับ

2. น้ำ คุณสมบัติเย็นจัดเป็นยิน มีทิศทางการเคลื่อนไหวลงสู่เบื้องล่าง การควบคุมการขับถ่ายของเสียของร่างกาย มีความเกี่ยวข้องกับไต และสุขภาพโดยรวม ไตต้องอาศัยพลังความร้อนขับเคลื่อนจากหัวใจมาขับเคลื่อนและช่วยการควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย

 – ไตที่มีความเย็นมากไป ทำให้พลังช่วงล่างอ่อนแอ ท้องเสียตอนย่ำรุ่ง ขาไม่มีแรง ปวดเมื่อยเอว เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หนาวง่าย  เสื่อมชราเร็ว ความจำเสื่อม(ขาดสารจิง ไตเก็บสารจิง)

 –  ไตที่ขาดธาตุน้ำ เกิดไฟภายในเพราะน้ำน้อย ทำให้เกิดอาการแห้งภายในเซลล์ ตาแห้งหงุดหงิด นอนไม่หลับ ปากเป็นแผลร้อนใน ลิ้นแดงไม่มีฝ้าบนลิ้น ปลายลิ้นแดง

   จุดหย่งเฉวียน (涌泉)เป็นจุดกลางฝ่าเท้าค่อนไปด้านบน เป็นจุดเชื่อมโยงไปอวัยวะไต เป็นสะท้อนตำแหน่งของไต (ตามภาพ Reflexology ของฝ่าเท้า) สามารถปรับสมดุลของน้ำและไฟ(交济水火) ปรับสมดุลยินและหยาง(阴阳平衡)

3. บริเวณใจกลางฝ่ามือฝ่าเท้ามีเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก การกระตุ้นหรือถูนวดฝ่ามือฝ่าเท้าจะกระตุ้นการแลกเปลี่ยนออกซิเจน เร่งการขับถ่ายของเสียได้เร็วขึ้น เป็นการเชื่อมประสานหัวใจและไต(心肾相交)

4. บนฝ่าเท้ามีความเชื่อมโยงกับสมองใหญ่ การนวดผ่อนคลายฝ่าเท้าจะผ่อนคลายสมองไปด้วย ขณะถูนวดฝ่าเท้า จิตใจจะจดจ่อไปที่เท้า เท่ากับช่วยดึงไฟเบื้องลงสู่แหล่งกำเนิดเดิมเบื้องล่าง “引火归元” หัวใจประสานไต

สรรพคุณการสร้างเสริมและรักษาสุขภาพของการถูฝ่ามือกับฝ่าเท้า

ดังนั้น การการถูฝ่ามือกับฝ่าเท้า จะช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูงและช่วยการนอนหลับได้เป็นอย่างดี นับเป็นวิธีการเชื่อมประสานไตกับหัวใจวิธีหนึ่ง ภาวะหัวใจและไตไม่เชื่อมประสานกัน สาเหตุสำคัญคือไฟหัวใจมาก ยินของไตพร่อง มักมีอาการแสดงออกด้วยการนอนไม่หลับเรื้อรัง เครียด และครุ่นคิดตลอดเวลา คอแห้ง

เป็นการปรับสมดุลยินหยาง ส่วนบนและส่วนล่าง การดูแลหัวใจและไต ทำให้ไฟหัวใจลงล่างและน้ำของไตขึ้นบน เกิดสภาวะด้านบน สมอง จิตใจ เบาสบาย ส่วนล่างหนักแน่น ไตแข็งแรง สร้างรากฐานการมีสุขภาพที่ดีอีกวิธีหนึ่ง

สรุป

การถูฝ่ามือกับฝ่าเท้าเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างสมดุลระหว่างหัวใจและไต เป็นการสร้างเสริมป้องกันและเยียวยาโรคต่างๆที่เป็นผลจากการเสียสมดุลวิธีหนึ่ง เป็นหนึ่งในเทคนิคของ ท่านซุนซือเหมี่ยว 孙思邈 ที่ใช้ปฏิบัติดูแลตนเองด้วยเทคนิคการดูแลสุขภาพ 13 วิธี “养生十三法” การนำเสนอแนวคิดและเทคนิคนี้ เพื่อให้ผู้สนใจดูแลสุขภาพตนเองนำไปปรับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อการในการดูแลสุขภาพทั้งในยามปกติและเพื่อรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นโดยถือหลักการที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนั้นเป็นแน่แท้ อย่าไปหวังพึ่งปัจจัยจากภายนอกซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน