แพทย์แผนจีนกับการรักษา โรคปวดศีรษะไมเกรน

อาการปวดศีรษะโดยเฉพาะปวดไมเกรนเป็นโรคที่พบได้บ่อย  สำหรับบางคนอาจเป็นโรคประจำตัว โดยเฉพาะเวลาเครียดหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ บางครั้งก็ไม่พบสิ่งกระตุ้นหรือสาเหตุที่แน่ชัด แนวทางการรักษาก็คือ การรับประทานยาระงับอาการปวดหรือถ้าเป็นมากเป็นถี่ ก็หายาเกี่ยวกับการกล่อมประสาทมารับประทานเพื่อป้องกันการกำเริบ เป็นโรคที่พบบ่อยและสร้างความรำคาญ รบกวนทั้งสภาพร่างกายและจิตใจไม่น้อย

สาเหตุโรคไมเกรน ในมุมมองแพทย์แผนจีน

เกิดจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายนอกหรือสิ่งกระตุ้นภายนอก 

ได้แก่ ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ที่สำคัญคือ ลม ความเย็น  ความชื้น ความร้อน ซึ่งมักจะกระทบส่วนบนบริเวณศีรษะปิดกั้นทางเดินของเลือดและพลัง

  ปัจจัยภายใน

  • พื้นฐานของร่างกายที่มีอวัยวะภายในอ่อนแอที่สำคัญคือ ตับ ม้าม ไต 

การเสียสมดุลของตับมักทำให้เกิดเลือดคั่งพลังติดขัด เกิดไฟร้อนของตับ 

การเสียสมดุลของม้ามมักทำให้เสมหะของเสียตกค้าง

การเสียสมดุลของไตมักทำให้สมองขาดการเลี้ยงบำรุง

ปัจจัยภายใน  อารมณ์ ทำให้กลไกพลังแปรปรวน  ส่งผลต่อการทำงานของตับติดขัด หรือขึ้นบ น การติดขัดของพลังนานๆจะทำให้เกิดไฟ ซึ่งจะรบกวนส่วนบนบริเวณศีรษะ

  • อาหาร การกิน  เป็นแหล่งกำเนิดของการสร้างเลือดและพลังของร่างกาย  การทำหน้าการย่อยดูดซึมอาหารของม้าม กระเพาะอาหารและการรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพร่างกาย จะทำให้สมองจะได้รับเลือดและพลังอย่างเพียงพอ  ตรงกันข้ามถ้าระบบการทำงานและอาหารไม่สอดคล้อง จะทำให้เกิดเสมหะความชื้นตกค้าง  ซึ่งจะไปปิดกั้นด้านบนศีรษะเช่นกั้น
  • อุบัติเหตุจากการบาดเจ็บกระทบกระแทกบริเวณศีรษะทั้งในอดีตและปัจจุบัน  เกิดการติดขัดของพลังและเลือดคั่ง ทำให้เกิดอาการปวด
  • การนอนหลับพักผ่อนและการทำงานที่ไม่สมดุล  ทำลายสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจและอวัยวะภายใน

ปัจจัยต่างๆข้างต้น เมื่อสะสมตัวนานเข้าทำให้เกิดอีกด้านหนึ่ง คือ ความเสียสมดุลของ อวัยวะภายในตามมา ซ่งจะยิ่งซ้ำเติมและทำให้โรครุนแรงขึ้น

กลไกการเกิดโรค

 บริเวณศีรษะเป็นที่ไหลเวียนรวมบรรจบของเส้นลมปราณหยาง  6 เส้น( 头为诸阳之会) เส้นลมปราณเหล่านี้จะไหลเวียนผ่านด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลังอย่างละ 2  เส้น  การเปลี่ยนแปลงจากสภาพอากาศภายนอกมักจะกระทบมักเกิดจากลมเป็นปัจจัยหลัก และอาจมีความเย็น ความชื้น ความร้อน ร่วมสมทบด้วย  ลมจะกระทบส่วนบนก่อน(บริเวณใบหน้าและศีรษะ) 伤于风者,上先受之 

ศีรษะเป็นส่วนที่บรรจุเนื้อสมอง สมองเป็นทะเลของไขกระดูก การหล่อเลี้ยงสมองต้องอาศัยสารจิงและเลือดจากตับและไต อาหารที่ย่อยและดูดซึมจากกระเพาะอาหารและม้าม  รวมถึงหน้าที่การขับเคลื่อนกลไกพลังของตับ

การกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอก และความเสียสมดุลของการทำงานของอวัยวะภายใน  จะทำให้เกิดเสมหะของเสีย เลือดคั่ง พลังอุดกั้น เกิดการติดขัดของการไหลเวียนเลือดและพลัง การส่งสารอาหารสู่สมอง จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ 

อาการปวดศีรษะด้านข้าง มักเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนเส้นลมปราณซ่าวหยาง(วิ่งด้านข้างศีรษะ)ติดขัดเป็นหลัก  โดยทั่วไปจะมีปัจจัยกระตุ้นจากภายนอกร่างกายร่วมและความเสียสมดุลภายใน ร่วมกัน

แนวทางการรักษาของแพทย์แผนจีน

ต้องปรับการไหลเวียนเส้นลมปราณ  ขับปัจจัยก่อโรค ปรับอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้อง และปรับวิถีการดำเนินชีวิต รวมทั้งเลือกรับประทานอาหารเพื่อปรับสมดุลตามสภาพร่างกายในแต่ละคน

การใช้ยาสมุนไพรจีน

  • กรณีกระทบลมเย็น ลมร้อน ลมชื้น ใช้ตำรับยาจีนในการขับสิ่งก่อโรคตามอาการและการตรวจพบและการวินิจฉัย ส่วนมากจะเป็นอาการเฉียบพลัน
  • กรณีหยางของตับแกร่ง(ความดันโลหิตสูง) ทำให้เกิดลมภายในโจมตีส่วนบน  ใช้วิธีการสงบตับดับลมดึงหยางลงล่าง
  • กรณีเลือดพร่อง ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง ใช้การเสริมยินบำรุงเลือด
  • กรณีเสมหะตกค้างภายใน และปิดกั้นสารอาหารสู่สมอง ใช้การบำรุงม้ามสลายชื้น  สลายเสมหะดึงลงด้านล่าง
  • กรณีภาวะไตพร่อง ทำให้สารจิงไม่พอหล่อเลี้ยงสมอง ใช้การรักษาโดยการเสริมยินบำรุงไต เติมสารจิงสร้างไขกระดูก
  • กรณีเลือดคั่ง ใช้การรักษาโดยการทำให้เลือดเดินสลายเลือดคั่ง  เปิดทวารหยุดอาการปวด

การฝังเข็มหรือนวดจุด

นอกจากการฝังเข็มเพื่อปรับสภาพร่างกายตามการวินิจฉัยแบบแผนจีนแล้ว  ยังต้องให้การฝังเข็มหรือนวดจุดเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและพลังเฉพาะที่ การปวดไมเกรนมักปวดด้านข้าง  ต้องให้ความสำคัญกับเส้นลมปราณซ่าวหยาง少阳经ซึ่งวิ่งผ่านด้านข้างบริเวณศีรษะ

การนวดบรรเทาอาการปวดไมเกรน

กดนวดคลึงตำแหน่งละ ๕ นาที สลับกันไป จนอาการปวดบรรเทา

  1. จุดว่ายกวน外关穴
  2. จุดเฟิงฉือ风池穴
  3. จุดเจียนจิ่ง肩井穴
  4. จุดเลี่ยเชวีย列缺穴

หลักการทั่วไปในการเลือกอาหารป้องกันโรคไมเกรน(偏头痛的食疗原则)

• ภาวะแกร่งหรือคนที่ร่างกายแข็งแรง ออกไปทางลักษณะร้อน   ต้องเลือกอาหารที่มีลักษณะไม่หนืดเหนียว  ไม่เผ็ดร้อนหรือไม่กระตุ้นเช่น กาแฟ  แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต  เนยแข็ง ควรกินผักและผลไม้ให้มาก หรือถั่วเขียว ถั่วแดง แตงโม สำหรับขับความร้อน

• คนที่ร่างกายอ่อนแอ  ไม่แข็งแรง ควรเน้นการบำรุงเป็นหลัก  เช่น ไก่ดำ เนื้อหมู ตับหมู ไข่ อบเชย(ส่วนผสมพะโล้) ลูกบัว เป็นต้น

• อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ไก่ตัวผู้  กุ้ง หอย ปู และอาหารแสลงต่างๆ