แพทย์แผนจีน กับหลักการรักษามะเร็ง

แพทย์แผนจีนรักษามะเร็งจะต้องเข้าใจภาวะองค์รวมทั้งหมด แล้วดำเนินการรักษาอย่างวิภาษ หรือที่เรียกว่า เปี้ยนเจิ้งลุ่นจื้อ (辨证论治)  คือ วางหลักและใช้วิธีในการรักษาที่สอดคล้องกับภาวะร่างกายและภาวะของปัจจัยก่อโรค ซึ่งการจะวิเคราะห์ภาวะของร่างกายและภาวะของปัจจัยโรค ใช้วิธีการตรวจโรคแบบ ซื่อเจิน (四诊) เก็บรวบรวมข้อมูลจากอาหารต่างๆ และสิ่งตรวจพบ นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์มาสรุปลักษณะธาตุแท้ ปรากฏการณ์ที่เป็นจริง สู่การวางหลักการและวิธีการรักษาที่สอดคล้องอย่างยืดหยุ่นพลิกแพลง

1. ทัศนะองค์รวม (整体观念) การรักษามะเร็งเฉพาะส่วนร่วมกับการรักษาร่างกายโดยองค์รวม การควบคุมมะเร็งได้ดี จะมีผลดีต่อสภาพร่างกายโดยรวมทั้งหมด ในทางกลับกัน สภาพร่างกายที่ดีจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่จะมีผลต่อการควบคุมมะเร็งด้วย

ทั้ง 2 ด้าน คือ เฉพาะส่วนกับองค์รวมต่างส่งผลกระทบต่อกัน ควบคุมกันและส่งเสริมกัน

2. การปรับสมดุลยิน-หยาง (调整阴阳) หลักการของทฤษฎียิน-หยาง ชี้นำการดำรงอยู่ของด้าน 2 ด้าน เช่น ร่างกายกับมะเร็ง ทั้ง 2 ด้านมีรากฐานเดียวกัน การพัฒนาเพิ่มขึ้นของด้านหนึ่ง ส่งผลต่อการลดลงของอีกด้านหนึ่ง ในทางกลับกันการลดลงของอีกด้านหนึ่ง ก็ส่งผลต่อการพัฒนาเพิ่มขึ้นของอีกด้านหนึ่ง การปล่อยให้เงื่อนไขยิน-หยางเสียสมดุลอย่างต่อเนื่องเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพจากเซลล์ดีกลายเป็นเซลล์ไม่ดี ถ้าสร้างเงื่อนไขที่ดีได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถทำให้เซลล์ที่ไม่ดีกลับเป็นเซลล์ดีได้

การปรับสมดุลยิน-หยาง คือ การสร้างเงื่อนไขที่ดีหรือภาวะที่เหมาะสมกับร่างกายในการเอาชนะโรคมะเร็ง ตัวอย่างการปรับสมดุล เช่น

“โรคเย็นใช้ยาร้อน โรคร้อนใช้ยาเย็น”

“โรคแกร่งใช้การระบาย โรคพร่องใช้การบำรุง”

ร่างกายและการทำงานของร่างกายที่สามารถดำรงอยู่ได้เพราะสามารถปรับสภาพสมดุล (ยิน-หยาง) ได้ การก่อเกิดโรคและการดำเนินโรคที่รุนแรงขึ้น คือ การสูญเสียสภาพสมดุลยิน-หยางนั่นเอง

3. การรักษายืดหยุ่นพลิกแพลง(灵活变通)เนื่องจากโรคมะเร็งแต่ละระยะในผู้ป่วยแต่ละรายมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การวางแผนการรักษาจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ หลักการยืดหยุ่นของแพทย์แผนจีน คือ

  • รักษาโรคต้องรักษาที่รากฐาน (治病求本)
  • รักษาพร้อมกันทั้งอาการที่แสดงออกและรากฐานของโรค (标本同治)
  • เร่งด่วนรักษาอาการ (急则治标)
  • เรื้อรังรักษารากฐาน (缓则治本)
  • รักษาแบบตรง (正治)
  • รักษาแบบขัดแย้ง (反治)
  • เสริมพลังเจิ้งชี่ ขจัดเสียชี่ (扶正祛邪)
  • โรคเหมือนกันรักษาต่างกัน (同病异治)
  • โรคต่างกันรักษาเหมือนกัน (异病同治)
  • พร่องบำรุงแกร่งระบาย (虚实补泻)
  • รักษาสอดคล้องตามสภาพบุคคล เวลา สถานที่ (因时,因地,因人制宜)

สรุปหลักการรักษามะเร็งแบบแพทย์แผนจีน

1. วิธีการขับร้อนขับพิษ 清热解毒法

พิษร้อนเป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็ง ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่มีลักษณะพิษร้อนแสดงออก เช่น มีไข้ คอแห้ง, ท้องผูก ปัสสาวะเข้ม ตัวลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นเหลือง ชีพจรเร็ว ฯลฯ ควรใช้วิธีขับพิษขับร้อน

2. วิธีการขับเคลื่อนเลือดสลายเลือดอุดกั้น 活血化瘀法

เลือดอุดกั้นก่อตัวเป็นก้อนเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง ทางคลินิก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเฉพาะที่ ปวดเหมือนเข็มแทง ผิวหนังคล้ำเคลื่อนติดขัด สีหน้าดำคล้ำ ผิวหนังแห้งเป็นสะเก็ด ตัวลิ้นสีม่วงมีจุดเลือด ชีพจรตึงเล็กและฝืด

3. วิธีการเสริมพยุงเจิ้งชี่ รักษาพื้นฐานของร่างกาย 扶正固本法

เลือดพลังคือเป็นวัตถุพื้นฐานของร่างกาย แพทย์จีนให้ความสำคัญกับการบำรุงเลือดเสริมพลังชี่ เพราะยังเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย สร้างภาวะแวดล้อมที่สมดุลภายในร่างกายเพื่อควบคุมเซลมะเร็ง จึงถือว่าเป็นวิธีการที่สำคัญยิ่งวิธีหนึ่งในการรักษามะเร็ง

4. วิธีการสลายทำให้ก้อนนิ่ม软坚散结法

ก้อนที่แข็ง  (  坚 )  ก้อนที่นิ่ม ( 结  )

ชนิดแข็งทำให้นิ่ม软坚 ชนิดนิ่มทำให้สลาย散结

เป็นหลักการสำคัญในการสลายก้อนมะเร็ง

5. วิธีการสลายเสมหะกระจายการเกาะตัว ( 消痰散结  )

เสมหะมีหลายรูปแบบ เช่น

  • มะเร็งปอด-การไอที่มีเสมหะออกมา(咳痰)
  • มะเร็งหลอดอาหาร-การอาเจียนที่มีเสมหะปนของของเหลว (痰涎)
  • ก้อนที่ผิวหนัง ไม่แดงไม่ร้อน เรียกว่า ก้อนเสมหะ (痰堍  )
  • ต่อมน้ำเหลืองที่ใหญ่ เรียกว่า ถานเหอ  (痰核)
  • ของเหลวที่ตกค้างในทรวงอก, เยื่อหุ้มหัวใจ เรียกว่า ถานหยิ่น  ( 痰饮  )
  • ก้อนเนื้อที่นุ่มรวมกับมีเลือดอุดกั้น เรียกว่า ถาน ยวี  (痰瘀 )

อาการทางคลินิก ถ้าจะมีอาการแน่นอึดอัดในอก, เสมหะมาก ฝ้าบนลิ้นเหนียว เรียกว่า เสมหะชื้น (痰湿 )

เสมหะ ลักษณะเหนียวมาก, ใช้การสลาย消痰

การก่อตัวเป็นก้อน (เหนียวน้อย) ใช้การกระจาย散结

6. วิธีการปรับพลังกระจายก้อน (理气散结法)

มักใช้กรณีที่เกิดจากความเย็นเกาะตัว เป็นก้อนซึ่งพบได้น้อยทางคลินิก ผู้ป่วยมักมีใบหน้าขาวซีดแขนขาเย็นกลัวหนาว รวมถึงก้อนเนื้อที่ไม่ใช้มะเร็งไม่แดง ไม่ร้อน ไม่เจ็บ ผู้ป่วยประเภทนี้ควรใช้วิธีการใช้ความอุ่นไปกระจายก้อน

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมะเร็งมักมีภาวะซับซ้อนจึงต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัย ที่มักจะเกิดร่วมกัน