“ไต” ต้องดูแลแบบองค์รวม

คนจำนวนมากพอเรียนรู้ว่าอวัยวะไต (ในความหมายแพทย์แผนจีน) ได้ชื่อว่า เป็นอวัยวะรากฐานของชีวิต จึงคิดแต่จะบำรุงไตอย่างเดียว คิดเพียงง่ายๆว่าถ้าไตดีทุกอย่างก็ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกว่าไตยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอวัยวะอื่นๆ ด้วย

อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับไต เช่น หัวใจ, ตับ, ม้าม, ปอด ซึ่งถ้าอวัยวะเหล่านั้นมีปัญหา เช่น เสื่อมหรือทำงานผิดปกติ ก็มีผลกระทบต่ออวัยวะไตด้วย การดูแลสุขภาพตามศาสตร์แพทย์แผนจีน จึงต้องเข้าใจความเชื่อมสัมพันธ์ของอวัยวะภายในต่างๆ ต้องดูแลอวัยวะอื่นปรับสมดุลควบคู่กับการดูแลไตไปด้วยกัน จึงจะทำให้ต้นไม้แห่งชีวิตเติบใหญ่มีพลังอย่างแท้จริง

ความสัมพันธ์ระหว่าง อวัยวะตับ กับ ไต

ตับกับไต เป็นอวัยวะที่มีแหล่งกำเนิดเดียวกัน (肝肾同源) หน้าที่ของตับ คือ การเก็บเลือด, ทำให้เลือดไหลเวียนคล่องตัวไม่ติดขัด ส่วนหน้าที่ของไต คือ การเก็บสารจิง ไตสร้างไขกระดูก, ไขกระดูกสร้างตับ สร้างเลือด

แม้ว่าหน้าที่ของตับและไตจะต่างกัน แต่จะเห็นว่ารากฐานของมันเกี่ยวข้องกัน  เป็นแหล่งของสารจิงและเลือด สารจิงมาจากไตซึ่งมีมาตั้งแต่เกิด สารจิงสร้างไขกระดูกและไขกระดูกสร้างเลือด “สารจิงกับเลือดมีแหล่งกำเนิดเดียวกัน”(精血同源)ร่างกายทุกอวัยวะล้วนได้รับเลือดไปบำรุงหล่อเลี้ยง ต้องอาศัยการทำงานของตับและสารจิงของไตที่ดีในการสร้างเลือด  เก็บเลือด  ขับเคลื่อนเลือด ดังนั้นการบำรุงไตจึงต้องดูแลการทำงานของตับควบคู่กันไปด้วย

คนที่มียินของตับและไตพร่อง นอกจากจะมีอาการปวดเมื่อยเอว แก้มแดง ไข้หลังเที่ยง ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้ากลางอก มีเหงื่อลักออก น้ำกามเคลื่อนในผู้ชาย มีปริมาณประจำเดือนน้อยในผู้หญิงแล้ว จะมีอาการเวียนศีรษะตาลาย แสบเคืองตา ตาแห้ง ตำรับยาสมุนไพรจีนที่ใช้คือฉี่จวี๊ตี้หวงหวาน( 杞菊地黄丸)

ความสัมพันธ์ระหว่าง อวัยวะหัวใจ กับ ไต

หัวใจ อยู่บริเวณส่วนบนของช่องว่างในร่างกาย หรือที่เรียกว่า ซ่างเจียว(上焦)จัดเป็นอวัยวะหยางในหยาง (บนสุดของส่วนบน阳中之阳) สังกัดธาตุไฟ ส่วนไต อยู่บริเวณส่วนล่างของช่องว่างในร่างกาย หรือที่เรียกว่า เซี่ยเจียว(下焦)   จัดเป็นอวัยวะยินในยิน (ล่างสุดของส่วนล่าง阴中之阴) สังกัดธาตุน้ำ

การควบคุมความสมดุลของยินหยางในร่างกาย  คือ ต้องไม่ให้ไฟส่วนบนมากเกินไป หรือน้ำส่วนล่างมากเกินไป ถ้าไฟส่วนบนมากเกินไปจะทำให้ร้อนบริเวณช่วงบนศีรษะ สมองถูกกระตุ้น นอนไม่หลับ หงุดหงิด  คอแห้ง ตาแห้ง ปากแห้ง ความดันโลหิตสูง ถ้าน้ำส่วนล่างมากเกินไป จะทำให้ช่วงเอว – เข่าอ่อนแรง  ขาบวม  ขาเย็น  การทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์เสื่อมถอย การปรับสมดุลของไฟและน้ำ เป็นการปรับสมดุลของหัวใจและไต คือ การปรับสมดุลระหว่างส่วนบนและส่วนล่าง   ทำให้หัวใจและไตเชื่อมประสาน(心肾相交)หรือน้ำกับไฟควบคุมช่วยเหลือ(水火既济)กัน จึงจะรักษาความสัมพันธ์ของชีวิตและรากฐานของไตให้แข็งแรงได้