12 คาบเวลา ปรับสมดุลตาม นาฬิกาชีวิต

หลักการดูแลสุขภาพให้สอดคล้อง ตามวันเวลา ใน 24 ชั่วโมง สามารถแบ่งได้เป็น 12 คาบ โดยแต่ละคาบเท่ากับ 2 ชั่วโมง พลังลมปราณในร่างกายจะเคลื่อนที่ในพลังลมปราณหลัก 12 เส้นๆ ละ 2 ชั่วโมง เวลาในแต่ละคาบจะมีอวัยวะที่แน่นอนคอยกำกับควบคุมพลังลมปราณ ทำให้เกิดการไหลเวียนของพลังสูงสุดในเส้นลมปราณของอวัยวะนั้นๆที่มีกฎเกณฑ์แน่นอน

“วิธีปฏิบัติตัวไร้โรค  12  คาบเวลา” 十二时无病法

1.  子时 (จื่อสือ) ช่วงเวลา 23.00 – 1.00  น.

พลังวิ่งในเส้นลมปราณถุงน้ำดีสูงสุด : นอนหลับให้ดี 好好睡觉

เวลานี้เป็นช่วงกำเนิดพลังหยาง คนเราจะง่วงนอนมากก่อนถึงเวลา  23.00 น. พอเลยเวลา  23.00  น. เมื่อพลังหยางเริ่มเกิดมักจะหายง่วงนอนการนอนดึกๆ นานๆ จะทำให้เกิดผลเสียตามมา คือ เกิดโรคนอนไม่หลับ

การกินอาหารในช่วงเวลานี้ถือเป็นข้อห้าม เพราะจะทำลายพลังการทำงานของถุงน้ำดีในการขับสารพิษของเสียออกจากร่างกาย

2.  丑时 (โฉ่วสือ) ช่วงเวลา 1.00 – 3.00 น.

พลังวิ่งในเส้นลมปราณตับสูงสุด : ช่วงบำรุงตับและเลือด养肝血

พลังตับมีทิศทางขึ้นสู่ด้านบน ช่วงนี้พลังของหยางจะมากขึ้นกว่าช่วง 23.00 – 1.00 น. การควบคุมการไหลเวียนของพลังที่ดี คือ การเก็บกักเลือดให้เพียงพอควบคู่กันไปด้วย การนอนหลับที่สนิทเป็นการบำรุงตับที่ดีเยี่ยม

3. 寅时 (ยิ่นสือ) ช่วงเวลา 3.00 – 5.00 น.

 พลังวิ่งในเส้นลมปราณปอดสูงสุด : ช่วงพลังขับเคลื่อนลงล่าง 要肃降

เป็นช่วงที่ร่างกายควรจะต้องนอนหลับสนิทที่สุด เหมือนคนตายที่ไม่รู้สึกตัว จึงจะทำให้พลังที่ส่งลงล่าง ไม่ถูกรบกวน คนที่ตื่นนอน 3.00 -4.00 น. แสดงว่า ไม่มีพลังจิงเพียงพอ ในการลำเลียงลงล่างมักพบในคนอายุมาก บ่งบอกความเสื่อมถอยของพลังและสารจิงของร่างกาย

4. 卯时 (ม่าวสือ) ช่วงเวลา 5.00 – 7.00 น. 

พลังวิ่งในเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่สูงสุด : ควรขับถ่ายอุจจาระ 应大便

เป็นช่วงเวลาที่ประตูแห่งพื้นพิภพ (ประตูส่วนล่าง) ต้องเปิดออก เพื่อการขับถ่ายของเสียออก เช่นเดียวกัน ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการขับถ่ายของเสีย อุจจาระออกจากร่างกาย ตื่นนอนตอนเช้า ให้รีบดื่มน้ำเปล่า สัก  1-2  แก้วใหญ่ ๆ เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ เพื่อให้การขับถ่ายดีขึ้นก่อนจะรับเอาอาหารใหม่เข้ามา

5. 辰时 (เฉินสือ) ช่วงเวลา 7.00 – 9.00  น. 

พลังวิ่งในเส้นลมปราณกระเพาะอาหารสูงสุด : ต้องกินอาหารเช้า 要吃早饭

ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงที่พลังหยางของร่างกายสูงขึ้นอย่างมาก เป็นช่วงที่มีการย่อยและดูดซึมของระบบกระเพาะอาหารและม้ามดีมาก การกินอาหารเช้าที่ดีมีประโยชน์แม้จะมีปริมาณมากสักหน่อย จะทำให้สุขภาพดีและไม่อ้วนง่าย เพราะฉะนั้น “ ตื่นเช้า ท้องว่างห้ามออกจากบ้าน”    (早起空腹不出門)

6.巳时 (ซื่อสือ) ช่วงเวลา 9.00 – 11.00 น. 

พลังวิ่งในเส้นลมปราณม้ามสูงสุด : เหมือนงู (ไส้เดือน)如蛇

การดูดซึมและลำเลียงอาหารที่ย่อยแล้ว ถือเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่จะไปสร้างเป็นเลือดของร่างกาย และไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อรวมทั้งบทบาทในการควบคุมเลือดที่ให้อยู่ในหลอดเลือดด้วย   อาหารมื้อเช้าจะได้รับการลำเลียงเข้าสู่ร่างกายในช่วงเวลานี้

7.午时 (หวู่สือ) ช่วงเวลา 11.00 – 13.00 น. 

พลังวิ่งในเส้นลมปราณหัวใจสูงสุด : หลับสักงีบสั้นๆ小睡片刻

หัวใจผลักดันให้พลังและเลือดเคลื่อนไหวเกิดการหล่อเลี้ยงทุกส่วน ทุกอวัยวะของร่างกาย รวมทั้งกล้ามเนื้อและเอ็นที่ช่วยในการเคลื่อนไหว ช่วงเที่ยงวัน เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของพลังยิน-หยาง หลังเที่ยงวัน เป็นภาวะกระตุ้นได้ผ่านไปแล้ว ร่างกายจะอ่อนเพลีย  อยากพักผ่อน  จึงควรสงบ, หรือหลับนอนงีบสั้นๆในช่วงนี้

8. 未时 (เว่ยสือ) ช่วงเวลา 13.00 – 15.00 น.  

 พลังวิ่งในเส้นลมปราณลำไส้เล็กสูงสุด : ช่วงดูดซับของดี吸收精华

ในช่วงเวลานี้ลำไส้เล็กมีบทบาทในการปรับสภาพของอาหารที่ได้รับมา โดยแยกแยะส่วนที่เป็นของเหลวส่งไปยังกระเพาะปัสสาวะ ส่วนที่เป็นขยะไปยังลำไส้ใหญ่ อาหารที่ดีอยู่ถูกส่งไปที่ม้าม การกินอาหารมื้อเที่ยงจึงควรเป็นอาหารที่ดี ละเอียด มีคุณค่า เพราะไม่เป็นภาระของลำไส้เล็กในการทำหน้าที่ดูดซึมของดีและแยกแยะของเสีย

9. 申时 (เซินสือ) ช่วงเวลา 15.00 – 17.00 น. 

พลังวิ่งในเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะสูงสุด : ช่วงฝึกฝนปฏิบัติ好好学习

เป็นช่วงเวลาของการขับของเสียที่ได้จากลำไส้เล็กออกจากร่างกาย รวมถึงระบายความร้อนของร่างกายทิ้งทางปัสสาวะ

10. 酉时 (โหย่วสือ) ช่วงเวลา 17.00 – 19.00 น.

 พลังวิ่งในเส้นลมปราณไตสูงสุด : ช่วงสำคัญการเก็บสะสมสารจิงพลังไต 精肾最重要

ผ่านพ้นการขับไฟ ขับพิษทางกระเพาะปัสสาวะ ร่างกายเข้าสู่ช่วงการเก็บสะสมสารจิง ซึ่งถือเป็นทุนสำรองสำคัญของร่างกาย เป็นพลังไต พลังพื้นฐานของชีวิต

11. 戌时 (ซวีสือ) ช่วงเวลา 19.00 – 21.00  น. 

พลังวิ่งในเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจสูงสุด : ช่วงผ่อนสบายคลายอารมณ์要快乐啊

เยื่อหุ้มหัวใจมีหน้าที่ขับ ขจัดปัจจัยก่อโรคที่จะรบกวนหัวใจ เพื่อเตรียมพร้อมให้เกิดความปลอดโปร่งก่อนจะเข้านอน โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ มีความเกี่ยวข้องกับโรคของหัวใจในแผนปัจจุบัน ช่วงนี้อารมณ์ต้องผ่อนคลาย, ไม่อึดอัดทางอารมณ์ จึงควรฟังดนตรี, ดูหนัง, คลายอารมณ์ เป็นสำคัญ

12. 亥时 (ไห้สือ) ช่วงเวลา  21.00 – 23.00 น.

พลังวิ่งในเส้นลมปราณซานเจียวสูงสุด : เชื่อมประสานยินหยาง阴阳交和

ซานเจียวมีบทบาทเชื่อมต่ออวัยวะทั้งปวง เป็นช่องว่างใหญ่ที่อยู่ล้อมรอบอวัยวะภายใน เชื่อมกับเส้นเลือดและเส้นพลังลมปราณทั้งหมด ในช่วงเวลานี้ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพักผ่อนเข้านอน เพื่อให้เกิดการพักฟื้นอวัยวะทั้งหมด