ฉีดยาเข้าจุดฝังเข็ม รักษาโรคได้จริงหรือ?
พูดถึงการฉีดยา เรามักคุ้นเคยกับการฉีดยาที่ต้นแขน สะโพก การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำที่หลังมือ หรือแขน ยาที่ฉีดก็คิดถึงยาแผนปัจจุบัน ถ้ามีหมอเกิดเอายาฉีดที่เป็นสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบัน หรือบางครั้งเอาเลือดที่ดูดจากคนไข้คนเดียวกันฉีดเข้าไปในตัวคนไข้เอง ฉีดเข้าไปตำแหน่งอื่น เช่น ที่หน้าแข้ง หรือจุดต่างๆ ตัว แขน ขา ลำตัว ต้นคอ คงทำให้หลายคนแปลกใจ หรือสงสัยว่าได้มาตรฐานหรือเปล่า หรือมีเหตุผลอะไรรองรับ การฉีดยาเข้ากล้ามสะโพก ที่ต้นแขน หรือสะโพก ในทรรศนะแพทย์แผนปัจจุบัน ต้องการให้ยาดูดซึมผ่านหลอดเลือดบริเวณที่มีกล้ามเนื้ออุดมสมบูรณ์ เพื่อยาจะดูดซึมได้ดี และหลีกเลี่ยงการทำลายถูกเส้นประสาท ทั้งเป็นตำแหน่งที่สะดวกในการฉีดด้วย การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังสามารถฉีดได้หลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่ก็นิยมฉีดตามแขน หัวไหล่ ฉีดยาเข้าจุดฝังเข็มมีประวัติยาวนานแค่ไหน?ในตำราศาสตร์แผนจีนสมัยโบราณ มีแต่การแทงเข็มหรือฝังเข็ม โดยใช้เข็มที่ทำจากหินในระยะแรก ภายหลังพัฒนาเป็นการใช้โลหะ ปัจจุบันใช้เป็นสเตนเลสแทงเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ถึงจุดฝังเข็มจนกระทั่งได้ความรู้สึกที่เรียกว่า “ได้ลมปราณ” เพื่อให้มีการกระตุ้นการไหลเวียนของพลังลมปราณที่ตำแหน่งนั้น และสามารถส่งผ่านไปตามเส้นลมปราณไปยังส่วนอื่นๆ รวมถึงอวัยวะภายใน การฉีดยาเข้าจุดฝังเข็ม เขาเรียกว่า สุ่ยเจิน เป็นวิธีที่เริ่มต้นมาประมาณ 60 ปีเศษ เป็นผลของการพัฒนาศาสตร์แพทย์แผนจีนที่ได้ประยุกต์ และบูรณาการการแพทย์แผนปัจจุบันเข้าด้วยกันเช่นเดียวกับการฝังเข็มหู การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าแทนการกระตุ้นด้วยการใช้มือหมุนเข็ม การฝังเข็มศีรษะ ทำไมต้องฉีดยาเข้าจุดฝังเข็ม วิธีนี้มีข้อเด่นอย่างไร?การฉีดยาเข้าจุดฝังเข็ม ใช้หลักทฤษฎีพื้นฐานแพทย์แผนจีนชี้นำ คือ การกระตุ้นจุดฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนของเส้นลมปราณโดยผ่านจุดฝังเข็ม …