ความดันโลหิตสูง ในมุมมองแพทย์แผนจีน
ความดันค่าล่าง กับความดันค่าบน
ความดันโลหิตค่าบนสูง เป็นความดันที่มักพบในผู้สูงอายุ สัมพันธ์กับความเสื่อมและการแข็งตัวของหลอดเลือด ภาวะไขมันในเลือดสูง ทำให้ขาดความยืดหยุ่น หลอดเลือดฝอยส่วนปลายขยายตัวได้น้อย อารมณ์ที่โมโห โกรธ หงุดหงิด ทำให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้พลังตับต้องกระตุ้นให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองด้านบนมากขึ้นกว่าปกติ แพทย์จีนมองว่าความดันโลหิตค่าบนสูงมักเป็นผลจากภาวะแกร่ง เป็นด้านหลัก
ความดันโลหิตค่าล่างสูงเดี่ยวๆโดยไม่มีความดันโลหิตค่าบนสูง สะท้อนถึงความพร่องของพลังหยวนชี่ (พลังพื้นฐานของร่างกาย) ซึ่งมีความอันตรายมากกว่าความดันโลหิตค่าบนสูง มักพบในคนหนุ่มสาวซึ่งหลอดเลือดยังมีความยืดหยุ่นปกติดี และจะนำมาซึ่งภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย ไตวาย และภาวะทางหลอดเลือดและสมอง
ความดันโลหิตค่าล่าง เกิดขึ้นขณะที่หัวใจคลายตัว (ช่วงหัวใจหยุดพัก เลือดจะกลับเข้าสู่หัวใจ) แต่เนื่องจากช่วงการคลายตัวน้อย ซึ่งเกิดจากหัวใจเต้นเร็ว หัวใจไม่มีพลัง จากความเหนื่อยตรากตรำพักผ่อนไม่เพียงพอหรือใช้ร่างกายจิตใจมากเกินไป ทำให้เลือดยังคงค้างสะสมในหลอดเลือดแดง จึงเกิดแรงตึงตัวมากกว่าปกติ เกิดความดันสูงกว่าปกติในขณะหัวใจคลายตัว ความดันโลหิตค่าล่างสูงนานๆจะนำมาซึ่งความดันโลหิตค่าบนสูงอีกด้วย
หลักการรักษาความดันโลหิตค่าล่างสูงเดี่ยวๆ นอกจากจะควบคุมความดันโลหิตแล้วยังต้องควบคุมปัจจัยอื่นๆ รวมถึงการปรับกลไกพลังของตับ การทำงานของม้ามและพลังหยวนชี่ของไตควบคู่ไปด้วย
ทำไมคนที่มีความดันโลหิตสูงจึงชอบอาหารที่มีรสจัดหรือรสเค็ม
แพทย์แผนจีนมองว่าคนที่มีความดันโลหิตสูงมักจะชอบรสเค็ม ไม่ใช่เพราะกินรสเค็มเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
คนที่เป็นความดันโลหิตสูงมีพื้นฐานความพร่องของพลังตับและไต คนปกติสุขภาพดีสามารถกระตุ้นพลังไตโดยไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารรสจืดหรือปรุงรสแต่พอควรได้ แต่คนที่อวัยวะภายในเสื่อมลง (ตัวอย่างเช่น คนที่เป็นโรคเรื้อรัง คนสูงอายุ) จะเบื่ออาหาร การรับรสชาติลดน้อยลง จึงต้องการอาหารรสจัด – รสเข้มข้นมากระตุ้นร่างกาย รสเค็มเข้าเส้นลมปราณไต คนที่พลังหยวนชี่อ่อนแอจึงมีความต้องการรสเค็มไปกระตุ้นการทำงานของไตมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามการสร้างนิสัยรับประทานอาหารเค็มเป็นประจำมากเกินไป ก็มีผลต่อความอ่อนแอของไตในระยะยาว
การดูแลป้องกันและดูแลตนเองในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
- ควบคุมอารมณ์ ควบคุมกลไกพลังของร่างกาย ทำให้อวัยวะภายในทำงานปกติ
- ฝึกสงบจิตอารมณ์ การหยุดจิต สงบอารมณ์ ปิดตา เป็นการควบคุมพลังหัวใจ (รวมถึงการพักสมอง) ดึงเลือดกลับสู่ด้านล่าง คลายหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย
- ฝึกหายใจลึกเข้าถึงช่องท้อง เคลื่อนไหวกระบังลม ช่วยกระตุ้นอวัยวะภายใน โดยเฉพาะ ม้ามและไต
- มั่นขมิบก้น เป็นการเสริมพลังไต และดึงพลังลงล่าง
- ดูแลอาหารการกิน หลีกของมันจัด หวานจัด เค็มจัด พยายามไม่กินอาหารรสจัดเกินไป
- พักผ่อนเพียงพอ ไม่นอนดึก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ห้ามหักโหมจนเกินไป