ผู้ป่วยที่ไปรักษาโรคกับหมอแผนปัจจุบัน จะได้ยาเคมีมารักษาบำบัดโรค เวลาไปหาหมอจีน ถ้าต้องให้ยา ก็จะได้ยาสมุนไพรมากิน ปัญหาที่ผู้ป่วยมักถามเสมอคือ ยาฝรั่งกินคู่กับยาจีนจะตีกันหรือไม่? กินยาจีนแล้วต้องกินยาฝรั่งไหม? ไปหาคำตอบกันครับ
ความแตกต่างระหว่างยาเคมีกับยาสมุนไพรจีน
ยาเคมี : แพทย์แผนปัจจุบันใช้ยาที่เป็นเคมีสังเคราะห์พัฒนาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาในการรักษาโรค โดยยาเคมีไปมีผลต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะโดยเปลี่ยนแปลงกลไกชีวเคมีระดับเซลล์เป็นสำคัญ
การทำงานระบบต่างๆ ของร่างกาย ถ้าเจาะลึกลงไประดับเซลล์ เราพบว่ามีปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ตั้งแต่การย่อยสลาย และดูดซึมอาหาร การหายใจ การขับของเสียออกจากเซลล์ การขจัดพิษตกค้างภายในร่างกาย
มุมมองการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี หรือสารเคมีระดับเซลล์ มีลักษณะจำเพาะสูง และมีแนวโน้มของการรักษาไปทิศทางเดียว
ตัวอย่างของกลุ่มยาเคมี
– ยาลดความดันโลหิตสูง
– ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด
– ยารักษาหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
– ยาระงับการหอบหืด ยาขยายหลอดลม
– ยาละลายลิ่มเลือด ยาลดการจับตัวของเลือด
– ยาปฏิชีวนะ ต้านแบคทีเรีย ต้านไวรัส
– ยาต้านมะเร็ง
เนื่องจากการวินิจฉัยโรคแบบแผนปัจจุบันเป็นการ พยายามสืบค้นสาเหตุหรือสิ่งก่อโรค ที่มีลักษณะรูปธรรม (เชื้อโรค มะเร็ง ความผิดปกติของยีน ความผิดปกติของโครงสร้าง การกดทับหลอดเลือดหรือเส้นประสาท) ดังนั้นเมื่อพบความผิดปกติที่ชัดเจนก็ใช้วิธีการทำลายหรือยับยั้งด้วยยาหรือการผ่าตัดตามแต่กรณี แต่ถ้าไม่พบสิ่งก่อโรคที่ชัดเจน ก็จะใช้ยาเคมีเข้าไปเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางชีวเคมีของร่างกายที่ผิดปกติ ที่ทำให้เกิดโรค จึงมีลักษณะการแก้ปัญหาแบบแยกส่วน และการแก้ปัญหาตามอาการที่เกิดขึ้น
ยาสมุนไพรจีน : มีลักษณะการปรับเปลี่ยนทางกายภาพหรือทางฟิสิกส์เป็นหลัก ทำให้สภาพของร่างกายมีเงื่อนไขที่เหมาะสมในการทำงาน ทำให้เกิดสมดุล ซึ่งสภาพทางกายภาพที่เหมาะสม เป็นภาพรวมที่ใหญ่กว่าและมีผลโดยอ้อม ทำให้เกิดภาวะที่เหมาะสมต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมีของร่างกาย มีการปรับตัวเพื่อให้เกิดภาวะสมดุล
นอกจากการปรับเปลี่ยนทางกายภาพแล้ว พบว่าสมุนไพรยังมีสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นยาหรือพฤกษเคมี (phytochemical) มีบทบาทการปรับเปลี่ยนชีวเคมีในปฏิกิริยาเคมีของร่างกายโดยตรงอีกด้วย ซึ่งจะพบได้จากการศึกษาวิจัยยาสมุนไพรและกลไกการออกฤทธิ์ที่มีการตีพิมพ์มากมาย
ตัวอย่างและแนวคิดของแพทย์แผนจีน กับกลไกการออกฤทธิ์ของยาสมุนไพรจีน
1. การปรับสมดุลทางกายภาพของร่างกาย โดยการปรับสมดุล ยิน-หยาง
ตัวยาสมุนไพรจีนจะมีฤทธิ์ของยาใหญ่ 4 อย่าง เรียกว่าฤทธิ์ทั้ง 4 คือ เย็น ร้อน อุ่น ค่อนข้างเย็น
การใช้ยาสมุนไพรปรับยิน-หยาง หรือภาวะร้อน-เย็น เพื่อสร้างภาวะแวดล้อมของร่างกายหรือเซลล์ เป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญต่อการทำงานเป็นปกติของเซลล์ เสมือนกับการเตรียมดิน ปุ๋ย น้ำและแสงสว่าง ที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืช
2. การรักษาโรคเน้นสรรพคุณของยา อาศัยความแตกต่างของรสชาติทั้ง 5 ของสมุนไพร
ยาจีนแบ่งเป็น 5 รส
– รสเผ็ด มีสรรพคุณ ขับเหงื่อ กระจาย ทำให้พลังเคลื่อนไหว
– รสหวาน มีสรรพคุณ บำรุง แก้ปวดเกร็ง ทำให้ชุ่ม ไม่แห้ง
– รสขม มีสรรพคุณ สลายความชื้น ทำให้ถ่าย
– รสเปรี้ยว มีสรรพคุณ ดึงรั้ง พยุงของเหลวในร่างกาย
– รสเค็ม มีสรรพคุณ สลายก้อน ทำให้นิ่ม
3. การเน้นกลไกพลังเพื่อปรับทิศทางพลังของร่างกาย
ยาสมุนไพรจีนแบ่งกลไกการขับเคลื่อนพลังร่างกาย 4 ทิศทาง
– ขึ้นบน เพื่อนำยาสู่ส่วนบนร่างกาย
– ลงล่าง เพื่อนำยาลงส่วนล่างร่างกาย
– ลอย เพื่อนำยาสู่ผิวภายนอกร่างกาย
– จม เพื่อนำยาสู่ภายในร่างกาย
ตัวอย่างเช่น
– ผู้ป่วยที่ถ่ายท้องบ่อยๆ และมีลำไส้ใหญ่ส่วนทวารปลายหย่อน (prolapse rectum) หรือผู้ป่วยที่มีมดลูกหย่อน แสดงถึงพลังส่วนกลางอ่อนแอ ต้องบำรุงพลังและทำให้พลังขึ้นบน
– ผู้ป่วยหอบหืด ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยกรดไหลย้อน อาเจียน เรอ เป็นปัญหาของกลไกพลังย้อนทิศทางกับสภาพปกติ ต้องใช้ยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณดึงลงล่างเป็นตัวประกอบในการรักษา
– ผู้ป่วยไข้หวัด ลมพิษ (โรคที่อยู่ส่วนบนร่างกาย หรืออยู่บริเวณผิวหนังภายนอกระยะแรก) ต้องใช้ยารสเผ็ดมาช่วยกระจายปัจจัยก่อโรคให้ออกจากร่างกาย
– ผู้ป่วยที่เป็นโรคภายในต้องใช้ยาที่เสริมบำรุงเข้าไปภายใน ภาวะภายในร้อนมากต้องใช้ยาขับความร้อนจากภายใน
4. เน้นการนำยาเข้าสู่อวัยวะเป้าหมาย เรียกว่า กุยจิง การเข้าเส้นลมปราณของยาสมุนไพรจีน
เนื่องจากสมุนไพรแต่ละตัวมีการออกฤทธิ์ต่ออวัยวะภายในต่างๆกันไป การเลือกยาที่มีความจำเพาะต่ออวัยวะที่เกิดโรค ตามทฤษฎีแพทย์จีนจึงมีความสำคัญต่อการรักษาโรคอย่างมาก
นอกจากการพิจารณาปรับสมดุล โดยภาพรวม (ยิน-หยาง) การเลือกตัวยาที่มีสรรพคุณเหมาะสม มีการควบคุมทิศทางของยาเพื่อปรับทิศทางพลัง รวมถึงกำหนดการใช้ยาให้เข้าสู่เป้าหมายที่ต้องการแล้ว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาโรค ยังต้องคำนึงถึงการจัดยาให้เสริมฤทธิ์ ลดอาการต่างๆ ลดผลข้างเคียงของยา และการประสานยาให้เป็นหนึ่งเดียวของตำรับยาทั้งตำรับ ซึ่งเป็นจุดเด่นของการประกอบตำรับยาสมุนไพรจีน (การใช้ยาสมุนไพรตัวเดียว กรณีผู้ป่วยที่มีโรคค่อนข้างซับซ้อนจึงมักไม่ค่อยได้ผล)
เปรียบเทียบความแตกต่างโดยสรุป
ยาเคมีมีฤทธิ์ทิศทางเดียว เข้าสู่อวัยวะและเนื้อเยื่อที่แน่นอน เปลี่ยนแปลงชีวเคมีของร่างกายเพื่อแก้ความผิดปกติขององค์ประกอบทางเคมีระดับเซลล์ ระดับโมเลกุลไม่มีการปรับสมดุลทางกายภาพ (ยิน-หยาง) จึงเกิดผลเฉพาะส่วนที่รวดเร็ว แต่ไม่ได้สร้างเงื่อนไขการฟื้นตัว หรือสร้างภาวะที่เหมาะสมต่อการปรับตัวของร่างกาย เช่นตัวทำลายมะเร็ง แล้วสภาพแวดล้อมก็เหมือนเดิม หรือเลวร้ายมากขึ้นจากสารเคมีเป็นพิษตกค้างจากการใช้เคมีระยะยาว จึงเป็นการซ้ำเติมร่างกายโดยองค์รวม
แพทย์แผนปัจจุบันไม่มีทัศนะเรื่องคุณสมบัติของยาในทัศนะ ยิน-หยาง ไม่มีความหมายยาในเรื่องของร้อน เย็น อุ่น ค่อนข้างเย็น จึงไม่มีการให้ยาในการปรับทิศทางภาพรวมทางกายภาพของร่างกาย แนวคิดส่วนใหญ่เป็นการมองระดับลึกที่มุ่งแก้ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับชีวเคมีของร่างกาย จึงเกิดปัญหาผลข้างเคียงของยา หรือแม้ว่าโรคต่างๆ ควบคุมได้ดี แต่สภาพร่างกายโดยองค์รวมของผู้ป่วยกลับทรุดลง ทำให้มีแนวโน้มใช้ยามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการแก้ปัญหาแบบกลไก
ยาสมุนไพรจีน ยาสมุนไพรมักมีฤทธิ์ปรับสมดุล ยิน-หยาง โดยองค์รวม ในตัวยาแม้จะเป็นสมุนไพรตัวเดียวก็ยังมีองค์ประกอบของพฤกษเคมีที่มากมายมีการควบคุมและการออกฤทธิ์ที่สลับซับซ้อน ยาบางตัวมีฤทธิ์ 2 ทิศทาง เช่น
– โสมคน สามารถช่วยให้ความดันโลหิตของผู้ป่วย (ความดันต่ำ) สูงขึ้น และทำให้ความดันลดลงได้ (กรณีผู้ป่วยความดันโลหิตสูง)
– ยาขาวยูนาน สามารถยืดหยุ่นได้กรณีที่เลือดออก แต่ก็สามารถสลายเลือดได้กรณีที่มีการตกค้างของเลือด (เมื่อเกิดช้ำใน)
เมื่อใช้หลักของการประกอบตำรับยาเพื่อการรักษาโรคจะเห็นว่า การวินิจฉัยแยกแยะสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละรายมีความสำคัญมาก การจัดตัวยาต้องพิจารณาทั้งสภาพ ยิน-หยาง การเลือกสรรพคุณยา การเสริมฤทธิ์ยา การควบคุมฤทธิ์ยา การลดพิษของยา การประสานยาเข้าเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการจัดวางบทบาทของยาอย่างเหมาะสม ทำให้การใช้ยาสมุนไพรมีประสิทธิภาพสูงและรักษาโรคได้อย่างเป็นองค์รวมขณะเดียวกันพิษข้างเคียงของยาจึงน้อยกว่าการใช้ยาเคมี
การบูรณการยารักษาโรคของแพทย์จีนกับแพทย์แผนปัจจุบัน
แพทย์แผนปัจจุบัน ถ้าได้เรียนรู้ แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับแพทย์จีน จะทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางคลินิก และเข้าใจผลข้างเคียงของยาเคมีได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น
1. ยาปฏิชีวนะโดยทั่วไปจะมีคุณสมบัติเป็นรสขม จึงสามารถรักษาโรคติดเชื้อที่มีลักษณะอักเสบ ร้อนได้ เช่น ทอนซิลอักเสบ คออักเสบที่มีไข้ เสมหะเหลือง
แต่ยาปฏิชีวนะไปรักษาผู้ป่วยแผลร้อนในเรื้อรังที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายอ่อนแอไม่แข็งแรงหรือมีภาวะพลังหยางพร่อง จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่กลับจะไปซ้ำเติมให้ร่างกายผู้ป่วยและภาวะภูมิคุ้มกันยิ่งแย่ลงไปอีก
2. กลูโคสและวิตามินซี มีรสหวานเปรี้ยว มีสรรพคุณที่จะบำรุงพลังและตับ (รสเปรี้ยวเข้าตับ รสหวานบำรุงพลัง)
3. ผู้ป่วยที่มีภาวะหยางแกร่ง ควรหลีกเลี่ยงยาบำรุงฤทธิ์ร้อน ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของร่างกาย เช่น กลุ่มยาลดการบวมแน่นจมูก (อีฟีดรีน) เป็นต้น
แพทย์แผนจีนต้องเรียนรู้การวิจัยใหม่ๆเกี่ยวกับสมุนไพร และเข้าใจตัวยาเคมีในสมุนไพรและกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เช่น ชิงเฮาซู่ สามารถรักษามาลาเรีย สารสกัดใบแปะก๊วย มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เพิ่มการไหลเวียนเลือด ฯลฯ
การศึกษาความเป็นองค์รวมในการบริหารยาจีนและประสบการณ์ทางคลินิกตามศาสตร์แพทย์แผนจีน การเข้าใจกลไกออกฤทธิ์ของยาเคมีจากการวิจัยแบบแผนปัจจุบัน จะทำให้เราสามารถใช้ยาเคมีรักษาโรคร่วมกับการใช้ยาจีนได้อย่างเหมาะสม จะทำให้เราใช้ยาเคมีน้อยลงได้ และทำให้การรักษากลับไปสู่แนวธรรมชาติมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยาสมุนไพรจีนเองก็ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ จะกินกันเป็นโดยไม่มีข้อบ่งใช้ เพราะขึ้นชื่อว่ายาแล้วถ้าไม่มีความจำเป็น การกินยาสมุนไพรอย่างผิดๆ ก็มีภัยไม่แพ้ยาเคมีเหมือนกัน