“ภาวะหยางพร่อง” คุณก็อาจเป็นได้

“เวลาอยู่ในห้องปรับอากาศ ต้องใส่เสื้อหนาๆ ทั้งที่คนอื่นไม่เป็น เวลาเพื่อนๆ มาจับมือจะบอกว่ามือเย็น”
“รู้สึกว่าอ้วนขึ้นมาก ทั้งๆที่กินแต่ละมื้อก็ไม่มาก กินชาเขียวลดน้ำหนัก ก็ไม่เห็นจะลดลง แต่กลับดูจะหนักขึ้นอีก กางเกงก็ต้องไปขยายเอวอีกแล้ว”
“เป็นอะไรก็ไม่รู้ รู้สึกขี้เกียจ เบื่อๆ อยากแต่จะนอน”
อาการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนหนึ่งของภาวะความเสียสมดุลของร่างกาย ซึ่งมีหลายสาเหตุ มีความสลับซับซ้อน ยากง่ายต่างๆ กัน แต่ภาวะหนึ่งที่พบบ่อยและมักมีอาการดังกล่าวข้างต้น คือ “ภาวะหยางพร่อง”

1. ถ้ายิน-หยางของร่างกายเสียสมดุล ทำให้เกิดโรคได้อย่างไร?
ยิน
  เป็นภาวะ สงบ เย็น หยุดนิ่ง ยับยั้ง
หยาง  เป็นภาวะ กระตุ้น ร้อน เคลื่อนไหว เร่งเร้า
ถ้าภาวะยินพร่อง ร่างกายขาดสารน้ำหล่อเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เกิดความร้อนภายในขึ้น เพราะยินไม่สามารถควบคุมหยาง
ถ้าภาวะหยางพร่อง ร่างกายขาดพลังความร้อน การทำงานของเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะต่างๆ ก็ถดถอย เกิดความเฉื่อยเนือย เกิดความเย็นภายในร่างกาย การไหลเวียนเลือดและพลังก็เนิบช้าลง
ยิน เป็นลักษณะของระบบประสาทอัตโนมัติ   พาราซิมพาเทติก และฮอร์โมนที่ให้ความชุ่มชื้นเกิดการเก็บสะสม ยับยั้งภาวะกระตุ้น
หยาง เป็นลักษณะของระบบประสาทอัตโนมัติ ซิมพาเทติกและฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการกระตุ้นเร่งเร้าการทำงาน

2. ภาวะ “หยางพร่อง” มีอาการสำคัญและการตรวจพบอย่างไร?
ภาวะหยางพร่อง มีอาการหลักๆ คือ กลัวหนาว แขนขาเย็น ใบหน้าไร้ชีวิตชีวา ง่วงเหงาหาวนอน ปากจืดไม่กระหายน้ำ
ปัสสาวะใส ปริมาณมาก อุจจาระเหลว
ลักษณะลิ้น ตัวลิ้นซีดและบวมโต
ลักษณะชีพจร เล็กมาก หรือลึกช้า และไม่มีแรง

3. สาเหตุของหยางพร่องคืออะไร?
*บางรายมาจากพื้นฐานทางพันธุกรรม หรือเป็นตั้งแต่เกิด เนื่องจากพลังหยางพร่อง (ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้น เผาผลาญ การทำงานของร่างกายน้อย)
*คนสูงอายุ เริ่มสู่วัยเสื่อม การทำงานของฮอร์โมนลดลง แพทย์จีนเรียกไฟหมิงเหมินอ่อนพร่อง
*คนที่ป่วยไข้นานๆ สูญเสียพลังอย่างต่อเนื่อง
*ความเย็นจากภายนอกกระทบ พลังหยางถูกทำลาย
*พฤติกรรม อาหาร การกิน การดำเนินชีวิตไม่เหมาะสม การพักผ่อนไม่เพียงพอต่อเนื่องยาวนาน

4. กลไกลการเกิดโรค ทำให้เกิดอาการต่างๆ  อย่างไร?
เมื่อขาดพลังหยาง ร่างกายเกิดความเย็นภายใน เกิดอาการกลัวเย็นกลัวหนาว เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ใบหน้าขาดเลือดพลังมาหล่อเลี้ยง ทำให้ขาวซีดไร้ชีวิต ชีวา อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ง่วงเหงาหาวนอน เกิดอาการ บวมน้ำ ลิ้นบวมโต ปัสสาวะมากและใส พลังการเต้นหัวใจลดลง ชีพจรเล็กจนคลำไม่ได้ ถ้าเย็นจัดชีพจรจะเต้นช้า และอ่อนแรง

5. หยางพร่องยังแบ่งละเอียดเป็นการพร่องของอวัยวะต่างๆ และมีอาการแสดงออกต่างๆ กันอย่างไร?
บางรายนอกจากจะมีอาการหยางพร่องดังกล่าวแล้ว ยังมีอาการอื่นร่วม
*มีอาการใจสั่นตกใจง่าย ปวดแน่นหน้าอก ชีพจรไม่เป็นจังหวะ เรียกว่า พลังหยางของหัวใจพร่อง
*มีอาการเหนื่อยง่าย ไอหอบ เสมหะใสเหลว แน่นหน้าอก หายใจสั้น พูดเสียงเบา (ไม่มีแรงพูด) เรียกว่า พลังหยางของปอดพร่อง
*มีอาการปวดแน่นชายโครง เวียนศีรษะ ตา ลาย ตกใจง่าย กลัวไม่มีสาเหตุ มือเท้าสั่น เรียกว่า พลังหยางของตับพร่อง
*มีอาการเมื่อยเอว เมื่อยเข่า ท้องเสียจนฟ้าสาง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มดลูกเย็น มีบุตรยาก เรียกว่า พลังหยางของไตพร่อง
*มีอาการท้องอืด เบื่ออาหาร ปวดท้องตื้อๆ ถ่ายเหลว แขนขาบวม เรียกว่า พลังหยางของม้ามพร่อง

6. ผลจากภาวะหยางพร่องจะมีผลกระทบตามมาอย่างไรบ้าง?
*เนื่องจากหยางพร่องเกิดกับอวัยวะภายในหลายระบบ โดยหลักทั่วไป อาการที่แสดงขึ้นอยู่กับว่า เกิดกับอวัยวะใด
*การที่ขาดพลังหยาง ทำให้พลังขับเคลื่อนของ อวัยวะต่างๆ ติดขัด ทำให้เกิดเลือดอุดกั้น (ไม่เคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวน้อยลง) ขณะเดียวกันของเหลวในร่างกายก็ทำให้เคลื่อนไหวไม่คล่อง มีการตกค้างของน้ำ ทำให้เกิดการบวม หรือมีการตกค้างของเสมหะและของเหลวข้นภายในร่างกาย
*ถ้าพลังหยางถดถอย หรือน้อยลงถึงจุดหนึ่ง จะเกิดภาวะหยางลอย มีการแยกตัวของยินหยาง เกิดภาวะช็อก หยางหลุดลอยสู่ภายนอก

7. ตำรับยาหลักที่ใช้รักษาหยางพร่องคืออะไร?
ภาวะหยางพร่อง  ใช้หลักการรักษาอุ่นหยางเสริมพลัง
*เนื่องจากไตเป็นที่เก็บของหยวนชี่ อันเป็นพื้นฐานของพลังร่างกาย และเป็นที่อยู่ของไฟหมิงเหมิน หรือไฟแห่งชีวิต
*การบำรุงหยาง จึงต้องบำรุงไตเป็นพื้นฐานด้วย
*การบำรุงหยาง จำเป็นต้องเสริมยา บำรุงยิน ร่วมด้วย
ตำรับที่ใช้เป็นพื้นฐานคือ ฟู่ กุ้ย ปา เว่ย-หวาน   
การปรับยาหรือเพิ่มยาอื่นๆ ให้สอดคล้องกับอวัยวะที่พร่อง และอาการผู้ป่วยในแต่ละรายไป

8. ภาวะหยางพร่อง หมายถึง โรคอะไรในแผนปัจจุบัน
ภาวะหยางพร่อง เป็นอาการร่วมของภาวะเสื่อมถอยของการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจมีอาการแสดงออกของหลายโรคหลายระบบ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ โรคอ่อนเพลียไม่รู้สาเหตุ โรคการทำงานของต่อมไทรอยด์ ต่ำกว่าปกติ โรคอาหารไม่ย่อย โรคท้องเสียเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภาวะ มีบุตรยาก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากพลังความร้อน หรือเกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ หรือฮอร์โมนที่มีผลต่ออาการเผาผลาญ การกระตุ้นการทำงานของร่างกายลดน้อยลง
การปรับสมดุลยิน-หยาง จึงเป็นการรักษาโดยองค์รวมและถ้าได้ประสานกับความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ให้การรักษาจำเพาะเจาะจงในการใช้ยา หรือฮอร์โมนจะทำให้เราเข้าใจโรคต่างๆ อย่างชัดเจน ขึ้น สามารถประสานการรักษาองค์รวมร่วมกับการรักษาเฉพาะจุด หรือบางครั้งรักษาองค์รวมดี เฉพาะส่วนก็ดีได้ หรืออาจต้องรักษาเฉพาะส่วนก่อน แล้วปรับพื้นฐานองค์รวมควบคู่กันไป