อาหารบำรุง สมรรถภาพทางเพศ

ความต้องการทางเพศและการสืบพันธุ์เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ สมรรถภาพทางเพศและความสามารถในการสืบพันธุ์ขึ้นอยู่กับอวัยวะภายใน คือ ไตเป็นสำคัญ (ไตในทรรศนะแพทย์แผนจีนมีเกี่ยวข้องกับระบบฮอร์โมน ) พลังไตเริ่มจากอ่อนแอในตอนเด็ก ค่อยๆ พัฒนาเติบโต แข็งแรงจนถึงวัยหนุ่มสาว วัยฉกรรจ์ และกลับอ่อนแออีกครั้งเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

ความสมบูรณ์ของพลังไตในผู้หญิงเมื่อถึงจุดหนึ่งประมาณอายุ 14 ปี ก็ทำให้เกิดประจำเดือน การสมบูรณ์ของพลังไตในผู้ชายเมื่อถึงจุดหนึ่งก็แสดงออกด้วยการมีการหลั่งน้ำอสุจิประมาณอายุ 16 ปี เมื่อถึงวัย 40 ของเพศชายและวัย 35 เพศหญิงพลังไตเริ่มต้นอ่อนแอ ความต้องการทางเพศจะเริ่มลดลง  จนถึงช่วงวัยทอง และลดลงเด่นชัดของผู้หญิงคือภาวะหมดประจำเดือนประมาณช่วงอายุ 49 ปี ในขณะที่ผู้ชายมีการลดลงของเชื้ออสุจิประมาณช่วงอายุ 64 ปี เมื่อพลังของไตลดถอยลง จนเกือบหมดสิ้น ความสามารถในการเจริญพันธุ์ก็หมดไปด้วย ความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อาจถือเป็นธรรมชาติก็ได้ หรือาจถือเป็นโรคได้ กล่าวคือ ถ้ามีการดูแลและเข้าใจกฎเกณฑ์ของการทำงานของไต (ในทรรศนะการแพทย์แผนจีน) และจัดการกับปัญหาทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ก็จะทำให้พลังไตเสื่อมช้า มีสมรรถภาพทางเพศที่ดีอยู่ได้นาน ถ้าจัดการไม่ถูกต้องก็จะมีการเสื่อมสมรรถภาพเร็ว ทั้งๆ ที่ไม่ถึงเวลาอันควร

อาหารและสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำรุงไต

คัมภีร์ “เสิ่นหนงเปิ่นเฉ่าจิง” (神农本草经)ได้บรรยายสรรพคุณของยาบำรุงไตว่า  “จะช่วยบำรุงให้ไตแข็งแรง เพิ่มสารจิง เสริมการทำงานของหยาง ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ”    ยาสมุนไพรมักมีคุณสมบัติร้อน บำรุงช่วงล่างของร่างกาย เพิ่มการทำงานและเพิ่มพลังความร้อนของระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น เขากวางอ่อน (鹿茸) , ม้าน้ำ(海马) ,ตู้ จ้ง (杜仲), เก่ากี้  (โก่วฉี  枸杞), ถั่งเช่า  (ตง ฉง เซี่ย เฉ่า 冬虫夏草)

อาหารจากพืชผักต่างๆ  ได้แก่  ลูกพุทราจีน  เมล็ดงา น้ำผึ้ง องุ่น ลูกบัว เกาลัด ลิ้นจี่  เมล็ดวอลนัท  ถั่วลิสง  ขิง  หัวหอม กุยช่าย กระชาย ยี่หร่า อบเชย

อาหารจากสัตว์ต่างๆ  ได้แก่ กุ้ง ปลิงทะเล ม้าน้ำ เนื้อแพะ  เนื้อกวาง  เนื้อกวาง  เนื้อวัว

ตำรับเครื่องดื่มสมุนไพร

  • ถั่วดำ ลำไย พุทราจีน เก๊ากี้

ส่วนประกอบ ถั่วดำ(乌豆) 50 กรัม เนื้อลำไยแห้ง(桂圆肉) 15 กรัม พุทราจีน(红枣) 50 กรัม, เก่ากี้  (โก่วฉี่  枸杞) 15 กรัม

วิธีปรุง นำถั่วดำ ลำไย พุทราจีน เก่ากี้ มาล้างให้สะอาดใส่ในหม้อ เติมน้ำประมาณ  3 ชาม  ใช้ไฟอ่อนๆ ต้มให้น้ำระเหยเหลือน้ำ 2 ใน 3 ส่วน  เอากากทิ้ง ดื่มแต่ส่วนที่เป็นน้ำเป็นเครื่องดื่ม

สรรพคุณ บำรุงเลือด พลัง บำรุงม้ามและไต

ตำรับอาหารบำรุงไต

  • ผักกุยช่ายผัดกุ้งสด

ส่วนประกอบ  ผักกุยช่าย 250 กรัม กุ้งสด 400 กรัม

หัวหอมใหญ่ ขิง เกลือ ปริมาณพอเหมาะ

วิธีปรุง ล้างผักกุยช่ายให้เป็นท่อน  เตรียมกุ้งสด (แกะเปลือก)

เตรียมหอมใหญ่หั่นเป็นชิ้น ชิงสดหั่นเป็นฝอย ใส่น้ำมันลงในกระทะ พอน้ำมันเริ่มเดือด ใส่หอมใหญ่ ขิงเจียวให้เริ่มมีกลิ่นหอม เอากุ้ง ผักกุยช่ายลงไปผัดด้วยกัน เติมเครื่องปรุงตามต้องการ รับประทานสัปดาห์ 3-4 มื้อ ติดต่อกัน 3สัปดาห์

สรรพคุณ บำรุงหยางของไต เพิ่มความอุ่นร้อนของร่างกาย