“ลูกของดิฉันมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กอื่น ให้คุณหมอเด็กที่โรงพยาบาลตรวจรักษา หมอบอกว่าเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนการเจริญเติบโต
ตอนนี้ได้ฮอร์โมนรักษาดีขึ้นมาก คุณหมอนัดดูแลให้เป็นระยะๆ อยู่”
“ผมกับภรรยาไปปรึกษาแพทย์เรื่องมีบุตรยาก แต่งงานกันมาเกือบ 5 ปี ยังไม่มีบุตรเลย ทั้งที่ไม่ได้ คุมกำเนิด หมอตรวจน้ำเชื้อผมแล้วบอกว่า เชื้ออ่อน ปริมาณน้อย ไม่แข็งแรง ส่วนประจำเดือนของภรรยาผมก็ไม่แน่นอน หมอนัดไปปรึกษาวางแผนการรักษา ที่โรงพยาบาล แต่บางคนก็แนะนำให้ไปหาหมอจีน เพราะได้ข่าวจากเพื่อนคนหนึ่งว่า ยาจีนสามารถรักษาภาวะมีบุตรยากได้ ผมก็ยังไม่เข้าใจอะไร กำลังตัดสินใจอยู่”
“ไม่ได้พบเขาตั้งนาน เขาเปลี่ยนไปมาก หน้าตาแก่ไปเยอะ ความจำเสื่อม ขาก็ไม่มีแรง ผมร่วง ผมขาว เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งๆ ที่อายุ 50 เศษๆ เอง ผมแนะนำให้เขาไปซื้อยาบำรุงชะลอความแก่ ตำรับยาจีนมากิน เพราะว่าเขาเป็นโรคไตเสื่อม”
ปัญหาเรื่องการเติบโตช้า วัยเจริญพันธุ์ (ช่วงที่สามารถสืบพันธุ์) ไม่สามารถผลิตเชื้อหรือระบบประจำเดือนผิดปกติ รวมทั้งความเสื่อมชราเร็วกว่ากำหนด มักมีปัจจัยเรื่องของฮอร์โมนภายในร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มาก ภาษาแพทย์จีนเรียกว่า “ภาวะจิงของไตไม่พอ” หรือ “ภาวะจิงของไตพร่อง”
1. ความหมายและสิ่งตรวจพบของ “จิงของไตไม่พอ”
อาการ
จิง เป็นสารสุดยอดของร่างกาย เก็บสะสมที่ไต (เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนต่างๆ ของร่างกาย) จิงของไตมีมาแต่กำเนิด (จากพันธุกรรม) และมีการสร้างเสริมและสะสมภายหลังกำเนิด
คนที่มีจิงของไตน้อยตั้งแต่เกิด (ทุนที่ ๑ น้อย) หรือได้รับการเลี้ยงดูไม่สมบูรณ์ (ทุนที่ 2) จะมีอาการแสดงออกคือ
1.1 วัยเด็ก : การเจริญเติบโตและพัฒนาการช้า กระหม่อมปิดช้า ปัญญาอ่อน กระดูกอ่อน ตัวเตี้ย แคระ เฉื่อยชา
1.2 วัยหนุ่มสาว : ระบบสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ ผู้ชายจะมีเชื้ออสุจิน้อย เชื้อไม่แข็งแรง ผู้หญิงมีประจำเดือนผิดปกติ ขาดประจำเดือน ไม่ตั้งครรภ์ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
1.3 วัยกลางคน-สูงอายุ : แก่เร็ว ร่างกายทรุด-โทรม ประสาทหูเสื่อม หูมีเสียง ความจำเสื่อม ขาทั้ง 2 ข้างอ่อนแรง ผมร่วง ผมขาว ฟันหลุด ฟันโยก ไม่มีชีวิตชีวา
สิ่งตรวจพบ
ลิ้นซีด ชีพจรเล็กอ่อนแรง
2. สาเหตุของ “จิงของไตไม่พอ”
– จากพันธุกรรม เนื่องจากได้รับความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
– โรคเรื้อรังนานๆ ทำให้กระทบต่อจิงของไต
– มีเพศสัมพันธ์มากเกินไป สูญเสียจิง
– คนสูงอายุ ร่างกายอ่อนแอ จิงของไตค่อยๆ เสื่อมถอยโดยธรรมชาติ
3. กลไกการเกิดโรคคืออะไร
– สารจิงของไต : สร้างเลือดทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงสมบูรณ์ ภาวะพร่องในเด็กเล็ก จะทำให้การเติบโตและพัฒนาการช้า ตัวเตี้ย กระหม่อมปิดช้า กระดูกไม่แข็งแรง (กระดูกอ่อน)
– สารจิงสร้างไขกระดูกและบำรุงสมอง : ภาวะพร่องทำให้สติปัญญาต่ำ เฉื่อย ไร้ชีวิตชีวา
– ความสมบูรณ์ของไต แสดงออกภายนอกที่ผมและจิงของไต : ภาวะพร่องทำให้ผมร่วงง่าย
– ฟันเป็นส่วนเกินของกระดูก (กำกับด้วยจิงของไต) : ภาวะพร่องทำให้ฟันโยกหลุดง่าย
– หูเป็นทวารเปิดของไต : ภาวะพร่องทำให้หูเสื่อม เสียงดังในหู
– ไตควบคุมระบบสืบพันธุ์ : ภาวะพร่องทำให้เชื้ออสุจิไม่แข็งแรง ปริมาณน้อย ประจำเดือนผิดปกติสมรรถภาพทางเพศลดลง
– ลิ้นซีด ชีพจรเล็กอ่อนแอ เป็นสิ่งตรวจพบของภาวะจิงของไตไม่พอ
4. พัฒนาการของภาวะจิงของไตไม่พอ คืออะไร
จิงของไต เป็นรากฐานของชีวิต ถ้าเสื่อมสภาพ หรือมีไม่เพียงพอ คือการเสื่อมสลายของเลือดและพลังของร่างกาย การเสื่อมสลายของทุกระบบ รวมทั้งสมอง ทำให้สมองฝ่อ เกิดโรคต่างๆ เกี่ยวกับความ ชราภาพที่รวดเร็ว
ในระยะเริ่มต้นของ ภาวะจิงของไตไม่พอ จะ ปรากฏให้เห็นถึงพลังชีวิตพื้นฐาน เจิ้งชี่ ( ) อ่อนแอ ไม่มีภูมิต้านทานต่อปัจจัยก่อโรคภายนอกที่มากระทำ ทำให้เป็นโรคง่าย และเมื่อเป็นโรคก็หายยาก ซึ่งจะย้อน กลับทำลายจิงของไต ( ) อีก
5. “จิงของไตไม่พอ” มีความหมายใน ทางแพทย์จีนและแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่โรคอะไร?
ภาวะของโรคในทางแพทย์จีน ได้แก่
– 5 ช้า คือ พัฒนาการช้าทั้ง 5 ได้แก่ ยืนช้า เดินช้า ผมงอกช้า ฟันขึ้นช้า และพูดช้า
– 5 อ่อน คือ ศีรษะอ่อน คออ่อน แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อน ปากอ่อนเหลว
– ความจำเสื่อม ไม่มีชีวิตชีวา ปัญญาอ่อน
– เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หูตึง หูมีเสียงดัง ปวดเมื่อยเอว ภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบ (เหว่ยเจิ้ง ) ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภาวะมีบุตรยากในเพศชายและเพศหญิง ฯลฯ
ความหมายของโรคในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่
– โรคกระดูกอ่อน ขาดฮอร์โมนและเกิดความผิดปกติระดับแคลเซียมในเลือด
– โรคครีตินิซึม ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ตั้งแต่กำเนิด
– โรคเตี้ยแคระ
– โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
– ภาวะมีบุตรยาก
– โรคชรา
– โรคสมองเสื่อม ฯลฯ
6. การวินิจฉัยแยกแยะภาวะ “จิงของไตไม่พอ” เกิดจากภาวะอะไรบ้าง?
ที่สำคัญต้องแยกจากภาวะยินของไตพร่อง ยินของไตพร่องมีขอบเขตที่กว้างกว่า สาเหตุและกลไกการเกิดโรคใกล้เคียง แต่อาการทางคลินิกและสิ่งตรวจพบต่างกันมาก กล่าวคือ
ภาวะยินของไตพร่อง เป็นภาวะไตพร่องร่วมกับ มีปรากฏการณ์ของความร้อนในระบบภายในร่างกาย เช่น เหงื่อลักออก ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้า หน้าอก ไข้ตอนบ่ายหลังเที่ยง ลิ้นแดง ชีพจรเร็ว แต่ภาวะ จิงของไตไม่พอ อาการที่แสดงออก หนักไปทางการเจริญเติบโต การเสื่อมถอย ความสามารถในการเจริญพันธุ์ การเสื่อมของสมรรถภาพทางเพศ โดยไม่มีอาการของความร้อนที่ชัดเจน
7. หลักการรักษาและตำราที่ใช้คืออะไร
หลักการรักษา : บำรุงจิงของไต
ตำรับยา : เหอ-เชอ-ต้า-จ้าว-หวาน ปรับลดตามสภาพ
ตัวยาสำคัญ : จื่อ-เหอ-เชอ
สู-ตี้
ม่าย-ตง
เทียน-ตง
กุย-ป้าง
เหยิน-เชิน
ตู้-จ้ง
หวง-ป๋อ
ฟู่-หลิง
หนิว-ชี
คัมภีร์ “เน่ยจิง” ได้กล่าวถึงยาบำรุงจิงและเลือดซึ่งมักมีรสเข้มข้นหนืด เช่น รกเด็ก กระดองเต่า กระเพาะปลา เขากวางอ่อน กระดองตะพาบน้ำ ไขกระดูกสันหลังของหมู ฯลฯ อาหารหรือยากลุ่มเหล่านี้จะมีความหนืดมาก คนที่กระเพาะอาหารและม้ามไม่ดีต้องใช้อย่างระมัดระวัง หรือต้องใช้ยาขับเคลื่อนพลังช่วยการย่อยควบคู่ไปด้วย
8. การศึกษาวิจัยสมัยใหม่ เกี่ยวกับ “ภาวะจิงของไตไม่พอ” มีอะไรบ้าง
มหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ ตีพิมพ์การศึกษาวิจัยลงในวารสาร การแพทย์ผสมผสาน จีน- ตะวันตก ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เกี่ยวกับตำรายาจีนบำรุงจิงของไต “หวน-จิง-เจียน”ที่ใช้เพิ่มภูมิคุ้มกันในคนสูงอายุ เพิ่มการทำงานของปอด การมองเห็น ความเสื่อมด้านต่างๆ พบความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน นอกจากนี้ ยังทำการทดลองในหนู พบการหดเกร็งตัวของหลอดลมลดลง การหายใจเอาอากาศเข้าได้มากขึ้น, สามารถกระตุ้นการทำงานของต่อม ไร้ท่อต่างๆ เช่น ต่อมไทมัส ต่อมไฮโพทาลามัส ฯลฯ ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ พบว่ามีการวิจัยการใช้ยาตำรับ “หย่าง-จิง-ทัง” ในสตรีที่ภาวะมีบุตรยากเนื่องจากความผิดปกติของรังไข่และไม่มีประจำเดือน พบว่ายาตำรับนี้สามารถกระตุ้นการสุกของไข่ และทำให้มีการไหลเวียนของเลือดที่มดลูกมากขึ้น
โดยสรุป กลุ่มยาบำรุงจิงของไต มีผลในการปรับและกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อต่างๆ เพื่อชะลอความแก่ หรือช่วยในการพัฒนา-การเจริญเติบโตของเด็กและหนุ่มสาว แต่ต้องระมัดระวังในกรณีที่มีของเสียตกค้าง หรือผู้ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็ง เพราะอาจกระตุ้นให้มะเร็ง เติบโตเร็วขึ้น จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังและคำนึงถึงผลเสียอีกด้านหนึ่งด้วย