ชะเอม กันเฉ่า สมุนไพรที่ใช้บ่อยที่สุดในตำรับยาจีน

ชะเอม (甘草) กันเฉ่า สมุนไพรที่ใช้บ่อยที่สุดในตำรับยาจีน

การเปิดตำรับยาแต่ละครั้ง แพทย์จีนจะต้องใช้หลักการจัดการบริหารยาเป็น ยาหลัก ยารอง ยาช่วย และยาประสาน (君臣佐使)

                ยาประสาน (使) มีความหมายถึงบทบาทของการชักนำ ประสาน หนุนเสริม ปรับให้ยาทุกตัวทำงานออกฤทธิ์ในการรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนผู้ประสานงานในทุกภาคส่วนในการดำเนินงานให้สัมฤทธิ์ผลหรือเรียกว่าเป็นออร์แกนไนเซอร์(Organizer) ระหว่างประเทศเปรียบเสมือนทูตสันถวไมตรีนั่นเอง ดูจากภายนอกบทบาทของยาประสานอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ เพราะไม่ใช่ผู้แสดงตัวเอก แต่ในทางความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว

                ชะเอม (甘草)  กันเฉ่า จัดเป็นยาสมุนไพรจีนที่มีบทบาทในการประสานตัวยาต่างๆ เข้าด้วยกัน จัดเป็นยาสมุนไพรที่ใช้บ่อยที่สุดตัวหนึ่งในตำรับยาจีน

 

เรื่องเล่าเกี่ยวกับชะเอม

                มีบันทึกการใช้ชะเอม  (甘草)  ในทางการแพทย์จีนตั้งแต่สมัย 200 ปี ก่อนคริสต์ศักราช มีเรื่องเล่าและที่มาของสมุนไพรชะเอมกล่าวไว้ว่า

                นานมาแล้วในหมู่บ้านป่าเขาชนบทแห่งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งใช้สมุนไพรรักษาโรคคนในหมู่บ้าน มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่เขาอยู่ระหว่างการเดินทางไปรักษาโรคให้กับผู้ป่วยที่หมู่บ้านอื่นเป็นเวลาหลายวัน มีผู้ป่วยจำนวนมากมารอคอยให้เขารักษาอยู่ที่บ้าน ยาที่ตระเตรียมไว้บางส่วนเพื่อให้ผู้ป่วยก็ดูเหมือนจะไม่พอ สร้างความกังวลใจแก่ภรรยาที่รับหน้าเสื่ออยู่เป็นอย่างมาก จึงคิดหาทางออกแก้ปัญหาด้วยตนเอง มองเห็นหญ้าแห้งๆ ชนิดหนึ่งที่วางเป็นมัดๆอยู่ในครัว  เธอจึงหยิบขึ้นมาลองเคี้ยวชิมดู รู้สึกว่ามีรสหวานทำให้คอโล่ง จึงจัดการหั่นต้นสมุนไพรเหล่านั้นเป็นชิ้นเล็กๆ เอากระดาษห่อแล้วแจกจ่ายให้ผู้ป่วยไปรับประทาน โดยแจ้งกับผู้ป่วยทั้งหลายที่เฝ้ารออยู่ว่า “นี่เป็นยาสมุนไพรที่คุณผู้ชายเจียดไว้ ให้เอากลับบ้านไปต้มน้ำดื่ม”

                หลายวันต่อมา ผู้ป่วยหลายคนเดินทางกลับมาแสดงความขอบคุณแก่ผู้ชายผู้นั้น ที่ได้จัดเตรียมยาให้พวกเขานำกลับไปรักษาตนเองจนหายป่วย เขารู้สึกตกใจว่าภรรยาของตนได้แอบจ่ายยาให้กับผู้ป่วยอย่างส่งเดช จากนั้นจึงเรียกภรรยามาสอบถามความเป็นไปของอาการเจ็บป่วยที่ได้ให้การรักษาไป ปรากฏว่า โรคและอาการที่มาหาเป็นโรคเกี่ยวกับ เจ็บคอ, คออักเสบ, บวม, อาการปวดบวมอักเสบจากพิษ (เชื้อโรค)

                จึงถึงบางอ้อ เพราะสมุนไพร(หญ้าแห้ง) ที่แจกจ่ายกันไปพอดิบพอดีว่ามีสรรพคุณรักษาอาการดังกล่าวได้ คำว่า กันเฉ่า  (干草)  มีความหมายว่าหญ้าแห้ง  เนื่องจากหญ้าแห้งตัวนี้มีรสหวานเวลาเคี้ยวหรืออม เขาจึงเรียกมันว่า กันเฉ่า (甘草)  ออกเสียงเหมือนกันแต่แปลว่าหญ้าที่มีรสหวาน (ไม่ใช่สมุนไพรหญ้าหวาน)

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *