อาหารสุขภาพสำหรับ ผู้ป่วยโรคไต

ไตในความหมายแพทย์จีน มีความหมายที่กว้างไม่ได้หมายถึงอวัยวะไต โรคเกี่ยวกับไตจึงไม่ได้หมายถึงไตอักเสบหรือไตวายเรื้อรัง  แต่ครอบคลุมถึงต่อมหมวกไต ระบบฮอร์โมน ระบบสืบพันธุ์ ระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะยินหยาง (ร้อนเย็นของระบบต่างๆของร่างกาย) ระบบประสาทอัตโนมัติ ฯลฯ

อาหารสุขภาพที่จะแนะนำในบทความนี้จะมุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ในทัศนะแผนปัจจุบัน คือ ภาวะที่ไตสูญเสียหน้าที่อย่างเรื้อรัง ทำให้เกิดการคั่งของของเสียและน้ำ การทำงานของไตลดลงเหลือตั้งแต่ 25%-50%  ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากโรคประจำตัว  เช่น เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  กรวยไตอักเสบเรื้อรังและไขมันในเลือดสูง เป็นระยะเวลานานๆ 

แม้ว่าผู้ป่วยบางรายจะอยู่ระหว่างการรักษาโดยการ ” ล้างไต ”  โดยเครื่องไตเทียม หรือ ใช้การล้างไตโดยผ่านทางช่องท้อง   การดูแลสุขภาพโดยการปรับเรื่องของอาหารปริมาณโปรตีน  แร่ธาตุ เช่น  โซเดียม  โพแทสเซียม  แมกนีเซียม , ฟอสฟอรัส  เพื่อลดผลที่ข้างเคียงจากการฟอกเลือดรวมถึงลดอาการต่างๆ จากภาวะเสียสมดุลของสารอาหารในร่างกาย

  • เสริมบำรุงโปรตีนให้พอ   แต่ต้องควบคุมไม่ให้มากเกินไป  เพื่อเป็นการลดการทำงานของไต ป้องกันภาวะฟอสเฟตสูง  กรณีที่ไขมันในเลือดสูงให้หลีกเลี่ยงการรับประทานโปรตีนจากสัตว์ เลือกรับประทานโปรตีนจากปลา
  • งดเว้นการรับประทานอาหารประเภทไขมัน หรือ อาหารรสหวานจัด 
  • ควบคุมอาหารรสเค็ม ผงชูรส ซอส  น้ำปลา เกลือ กินอาหารรสธรรมชาติ  ไม่ปรุงแต่ง อาจใช้เครื่องเทศ รสหอม  เพื่อปรุงเพิ่มรสชาติของอาหารให้อร่อยแทน
  • ควบคุมโพแทสเซียม   ซึ่งมีมากในซุปเข้มข้น  ,ผักผลไม้สด , ปลาดิบ
  • ควบคุมฟอสฟอรัส  ซึ่งพบในกระดูกอ่อน,  ธัญพืช , เนื้อในเมล็ดต่างๆ เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดทานตะวัน  ไข่ปลา ไข่แดง กุ้ง ปู
  • งดอาหารที่มีความหวาน  น้ำตาลสูง

โปรตีนที่มากทำให้เกิดของเสียที่เพิ่มภาระการขับถ่ายของไต   อาหารทะเลหม้อไฟจะอุดมด้วยสารพิวรีน (purine)   ทำให้เกิดความเป็นกรดในเลือด  ทำให้กรดยูริคเพิ่มขึ้นมีโอกาสเกิดโรคเกาต์แทรกซ้อนได้ง่าย                                                 

 ตำรับอาหารแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคไต

ตำรับที่1        ซุปเลือดหมูกุยช่าย(猪血韭菜汤)

ส่วนประกอบ  

เลือดหมู               220  กรัม

กุยช่ายใบเขียว                        30   กรัม

หอมแดง                      3     กรัม

น้ำมัน               15   กรัม

ซอสถั่วเหลืองสำหรับปรุงรส

สรรพคุณ

  • เลือดหมู มีส่วนประกอบธาตุเหล็กที่ดูดซึมง่าย  และมีส่วนประกอบโปรตีนช่วยบำรุงเลือด
  • กุยช่าย(สีเขียว) (韭菜) มีส่วนประกอบของแคลเซียม , เหล็ก , ฟอสฟอรัส  ในทางแพทย์จีน  จัดเป็นอาหารที่ช่วยล้างลำไส้  เพราะมีไฟเบอร์สูง    อุ่นบำรุงไต  เสริมร้อน   เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตที่เลือดจาง   ร่างกายหนาวง่าย

วิธีปรุง

  • ใส่น้ำมันในกะทะเจียวที่ร้อน เจียวหัวหอมแดงจนมีกลิ่นหอม
  • เอาเลือดหมูลงไปผัดให้ร้อนทั่วถึง  แล้วเติมน้ำประมาณ 400 ซีซี
  • เมื่อน้ำเดือดแล้ว ใส่ใบกุยช่ายและปรุงรสตามต้องการ

( แต่หลีกเลี่ยงการใช้ผงชูรสและรสเค็มจัด)

ตำรับที่ 2  เนื้อวัวกุยช่ายขาว(韭黄牛肉)

ส่วนประกอบ

เนื้อวัว(牛肉)หั่นเป็นฝอยชิ้นเล็กๆ 40 กรัม

กุยช่ายขาว(韭黄)50 กรัม

แป้ง 5 กรัม

น้ำมันพืช 10 กรัม

เครื่องปรุงรส

ซอสถั่วเหลือง น้ำตาลปริมาณเล็กน้อย

วิธีปรุง

1.เตรียมเนื้อวัวที่หั่นแล้วกับเครื่องปรุงรสให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วคลุกกับแป้ง

2.เตรียมกะทะใส่น้ำมันจนร้อน เอาเนื้อวัวที่คลุกแป้งลงไปผัดจนสุกประมาณ 8 ใน 10 ส่วน เอาเนื้อวัวที่ผัดแล้วไว้ขอบกะทะเพื่อให้น้ำมันออก

3.เอากุยช่ายขาวผัดน้ำมัน จนสุก แล้วผัดรวมเข้ากับเนื้อวัวที่ผัดเตรียมไว้แล้ว

หมายเหตุ  กุยช่ายใบเขียว(韭菜) มีอีกชื่อหนึ่งว่า หญ้าทำให้กำเนิดหยางพลังร้อนหรือ พลังทางเพศ(起阳草,壮阳草)ฤทธิ์อุ่นร้อน รสเผ็ด บำรุงม้ามกระเพาะอาหาร อุ่นไต ขับพิษ กระจายเลือด ช่วยขับถ่าย(มีกากใย) เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไตที่มีภาวะหยางพร่อง ขี้หนาว  ไม่เหมาะสำหรับคนที่มีภาวะยินพร่อง ขี้ร้อน

กุยช่ายขาวหรือเหลือง (韭黄) ฤทธิ์อุ่นร้อนน้อยกว่ากุยช่ายใบเขียว(韭菜)

การกระตุ้นให้เกิดร้อนหรือการไหลเวียนเลือดรุนแรงน้อยกว่า  สตรีมีครรภ์อ่อนหลีกเลี่ยงการรับประทานกุยช่ายใบเขียว  ให้เลือกรับประทานกุยช่ายขาวแทน