เกร็ดความรู้เกี่ยวกับต้นหอมและหัวหอม ตามศาสตร์แพทย์จีน
ต้นหอม มีอีกฉายาว่า ผักพี่ใหญ่ (菜伯) หรือผักของปอด (肺之菜) บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับต้นหอม
ต้นหอมรับประทานสด ฤทธิ์ร้อน รสเผ็ด กระจาย เมื่อนำไปต้มหรือทำให้สุกจะมีฤทธิ์อุ่นรสหวาน ทำให้มีคุณสมบัติแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง
- รับประทานเป็ดย่างปักกิ่งจึงต้องกินร่วมกับต้นหอม
เป็ดเป็นอาหารที่มีฤทธิ์เย็น การนำไปปรุงเป็นอาหารจึงมักใช้กรรมวิธีทำให้แปรสภาพฤทธิ์เย็นให้ไปทางฤทธิ์ร้อน เพื่อให้เกิดความสมดุล เช่น ใช้การย่าง การทำเป็ดพะโล้ เป็นต้น ดังนั้นการรับประทานเป็ดย่างห่อด้วยแผ่นแป้งและต้นหอม จึงมีจุดมุ่งหมายในการลดฤทธิ์เย็นของเป็ด ทำให้อาหารที่รับประทานมีความสมดุลนั่นเอง
- ต้นหอม เข้าเส้นลมปราณปอด กระตุ้นการขับเหงื่อ เปิดทวาร
ต้นหอม ช่วยเปิดทวารส่วนบน ทำให้จมูกโล่ง ทวารส่วนล่างคือทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัว ช่วยการขับถ่ายอุจจาระ
- ต้นหอม จัดเป็นสมุนไพรที่เกี่ยวข้องกับการอุ่นกระจายพลัง
ถ้าเปรียบเทียบสมุนไพรในการอุ่นกระจายพลัง ต้นหอม (白葱) จัดว่าเป็นสมุนไพรที่เกี่ยวข้องกับช่องว่างลำตัวส่วนบน (ซ่างเจียว (上焦)ขิงแห้ง (干姜) เกี่ยวข้องกับช่องว่างลำตัวส่วนกลาง (จงเจียว 中焦) และฟู่จื่อ (附子) เกี่ยวข้องกับช่องว่างลำตัวส่วนล่าง (เซี่ยเจียว 下焦)
- หญิงตั้งครรภ์เริ่มเป็นหวัด จากการกระทบลมเย็น คิดถึงต้นหอม
ในขณะตั้งครรภ์การใช้ยาเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ควรใช้สมุนไพรที่เป็นอาหาร แนะนำต้นหอมและขิงสดต้มน้ำให้เดือด เติมน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย ดื่มขณะอุ่น แล้วห่มผ้าหนาๆ หรือแช่เท้าในน้ำร้อนเพื่อกระตุ้นการขับเหงื่อ เป็นการขับลมและความเย็นออกจากร่างกาย ต้นหอมกระจายพลังปอดและขับเหงื่อ ขิงสดช่วยขับเหงื่อและอุ่นกระเพาะอาหาร น้ำตาลทรายแดงบำรุงส่วนกลางกระเพาะอาหารและม้ามทำให้เกิดพลัง
- ต้นหอมใช้ทำลายพิษเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเล
ในการปรุงอาหาร ต้นหอมนอกจากจะเป็นเครื่องปรุงรสชาติอาหารให้อร่อยแล้ว ยังช่วยลดพิษของอาหารคาวหรืออาหารทะเลได้อีกด้วย
- ต้นหอมในตำรับยาจีน
ในตำรับยาจีนไม่ใช้ต้นหอมปรุงร่วมกับน้ำผึ้ง หรือพุทราจีน เพราะถือว่าไม่เข้ากัน (相冲ชงกัน)
- ต้นหอม (รวมทั้ง ผักชี กระเทียม กุยช่าย) ไม่จัดเป็นอาหารเจ
พืชผักเหล่านี้มีฤทธิ์กระตุ้น จะเข้าไปเพิ่มความกำหนัดอันเป็นการทำลายสมาธิและพลังธาตุในร่างกาย จึงเป็นข้อห้ามในช่วงถือศีลกินเจ