หมู เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีมาช้านาน เช่นเดียวกับแพะ มีบันทึกจากตัวอักษรจีนในกระดองเต่าและกระดูก (甲骨文) เมื่อ 4,000 กว่าปีมาแล้ว คำว่าบ้าน (家) ซึ่งมีส่วนประกอบของตัวบ้าน (房) และเลี้ยงหมูอยู่ข้างล่าง (豕) แสดงว่าทุกบ้านล้วนมีการเลี้ยงหมู
หมูเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่ชอบเคลื่อนไหว ทั้งวันเอาแต่นอน มีแต่ตอนกินอาหารเท่านั้นที่จะมีการเคลื่อนไหว จะมีคอก มีบริเวณให้อยู่ ทำให้จำกัดการเคลื่อนไหว อาหารที่กินมักจะเป็นของเหลว อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ชื้นแฉะ ตามคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง กล่าวว่า “ยินสงบ หยางเคลื่อนไหว” (阴静阳躁)
สัตว์ที่เคลื่อนไหวมากจะเป็นหยาง สัตว์ที่เคลื่อนไหวน้อยจะเป็นยิน ดังนั้น นก วัว แพะ ม้า สุนัข จึงจัดเป็นสัตว์ประเภทหยาง หมูจึงจัดเป็นสัตว์ประเภทยิน
เนื้อหมู (猪肉) มีลักษณะฤทธิ์เย็น รสเค็มเข้าเส้นลมปราณไต การกินเนื้อหมูจึงมักไม่เกิดไฟในร่างกายง่ายแต่จะเสริมยิน ทำให้อ้วน มีการสะสมไขมัน (ความชื้นเสมหะ) ในร่างกายมาก เช่นเดียวกับลักษณะของหมู
ส่วนต่างๆ ของหมูมีคุณสมบัติในการบำรุงร่างกายต่างกัน
1. ไตหมู ใช้รักษาภาวะไตพร่อง
2. ลิ้นหมู บำรุงกระเพาะอาหารและม้าม เสริมพลัง กระตุ้นความอยากอาหาร
3. หัวหมู บำรุงภาวะเลือดและพลังพร่อง แก้อาการชักเกร็ง ริดสีดวงทวาร
4. ลำไส้หมู รักษาภาวะส่วนล่างพร่อง (下焦虚竭 ) ปัสสาวะบ่อย ท้องเสียบ่อย
5. กระเพาะหมู บำรุงกระเพาะอาหารและม้าม รักษาท้องเสียเรื้อรัง น้ำกามเคลื่อน ตกขาวมากผิดปกติในสตรี เด็กขาดอาการ
6. ตับหมู บำรุงเลือด บำรุงยิน รักษาตาแห้งเนื่องจากเลือดพร่อง
7. หนังหมู มีฤทธิ์เย็น บำรุงยิน ทำให้คอไม่แห้ง แก้อาการเจ็บคอ ทำให้ผิวหนังมีน้ำมีนวล
8. กลีบขาหมู เสริมยิน บำรุงผิวหนัง กระตุ้นการหลั่งน้ำนม (หญิงหลังคลอดที่ไม่มีน้ำนม มักแนะนำให้ใช้ถั่วลิสงต้มกับกลีบขาหมู เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนม)
- เนื้อหมู มักมีติดมัน สรรพคุณเป็นยินมาก เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น กินแล้วจะอ้วนง่าย (มีเสมหะชื้นมาก) ระมัดระวังในคนที่มีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
- เนื้อหมูจัดเป็นเนื้อสัตว์ที่มีฤทธิ์ในการบำรุงร่างกาย เสริมพลังบำรุงเลือด บำรุง หยางต่ำสุดเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อื่นๆ