เรามักจะเจอคนบางคนมีอาการ นั่งที่ไหนก็ง่วงหลับที่นั่น ทั้งๆที่ไม่ได้อดหลับอดนอนมา หลับแล้ว ตื่นขึ้นมาก็ยังรู้สึกว่านอนไม่พอ ยังอยากจะหลับต่อ คนที่มีลักษณะเช่นนี้มักไม่ค่อยจะสดชื่น มีแต่ความรู้สึกอยากจะนอนทั้งวัน แต่มักจะตื่นง่าย หลังจากตื่นก็ขอนอนหลับต่อ ทางการแพทย์แผนปัจจุบันถือว่าเป็นความผิดปกติของระบบประสาท (การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ) ลักษณะแบบนี้ อาจพบได้ในคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ตัวร้อนเรื้อรัง ทำให้อ่อนเพลีย ต้องการพักผ่อน หรือระยะที่โรคกำลังรุนแรง
ในที่นี้จะกล่าวถึงคนปกติที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ชอบง่วงเหงา หาวนอนเป็นประจำ แพทย์แผนจีนมองว่า การนอนหลับเป็นภาวะยิน การตื่นนอนเป็นภาวะหยาง คนที่ง่วงนอนแสดงว่ายินแกร่ง (ยินเกิน) เพราะภาวะของหยางพร่อง (หยางขาด) ภาวะของหยางพร่อง มาจากการทำงานของม้ามน้อยลง ทำให้มีการอุดกั้นของเสมหะ และความชื้น หรือภาวะอุดกั้นของเสมหะและความชื้นทำให้พลังม้ามพร่อง มักจะพบในคนที่อ้วนได้บ่อยกว่าคนผอม เพราะในคนอ้วนถือว่ามีการสะสมไขมัน (เสมหะหรือความชื้น) ในร่างกายมาก ยิ่งถ้ากินอาหารอิ่มใหม่ๆ ระบบย่อยอาหาร หรือกระเพาะอาหารมักต้องทำงานหนัก พลังของม้ามจะอ่อนเปลี้ย ความอยากนอนจึงมัก เกิดได้ง่าย (ทางแพทย์แผนปัจจุบัน มองว่าขณะย่อยอาหาร เลือดจะไปเลี้ยงสมองน้อยลง ทำให้หนังท้องตึง หนังตาหย่อน) และสำหรับคนผอมก็มีสิทธิ์จะง่วงนอนผิดปกติได้หมือนกัน ถ้าอยู่ในภาวะที่เจ็บไข้เรื้อรังหรือร่างกาย อ่อนเพลีย ที่ทำให้การย่อยอาหารและการดูดซึมไม่ดี เป็นภาวะที่พลัง ทั่วร่างกายพร่องเลือดก็จะไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้ง่วงนอนได้ง่าย ในฤดูฝนที่มีความชื้นมากก็ จะทำให้การทำงานของระบบย่อย (กระเพาะอาหารและม้าม) ยิ่งหนักขึ้น อาการก็จะเป็นมากขึ้น
สาเหตุของการง่วงนอนผิดปกติและอาการแสดง
1. พวกที่มีความชื้นสะสมในร่างกายมาก
พวกนี้จะรู้สึกหนักๆ ศรีษะเหมือนมีอะไรมาห่อปกคลุมไว้ หรือจะรู้สึกว่าร่างกายหนักๆตึงๆ นอกจากนี้ยังรู้สึกแน่นในทรวงอก, เบื่ออาหาร, คลื่นไส้ (เพราะมีเสมหะอุดกั้น) ถ่ายเหลว ตรวจดูลิ้นจะซีด มีฝ้าบนลิ้นเป็นมันเคลือบ ชีพจรจะช้าและเปลี้ย (เบา-ลอย และขนาดเล็ก) อาการมักจะกำเริบในฤดูฝน และมักเป็นคนที่มีลักษณะอ้วน หลังจากกินอาหารแล้วจะรู้สึกเหนื่อย อยากจะหลับ ทำให้ขี้เกียจไม่อยากจะพูดจา บางรายจะมีเหงื่อออกตามตัวง่าย แขนขาจะเย็น (เพราะการย่อยและดูดซึมอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆไม่พอ) การที่มีความชื้นสะสมในร่างกายมาก จะส่งผลต่อพลังของม้ามพร่อง พลังหยาง(พลังความร้อน)ของร่างกายลดน้อยลงไปด้วย
หลักการรักษา คือ ขับความชื้นและบำรุงม้าม
2. พวกที่พลังม้ามพร่องเป็นเหตุ
อาการคล้ายคลึงกับประเภทแรก กล่าวคือ ไม่สดชื่น, ง่วงนอน, ไม่อยากพูด, แขนขาเย็น, หน้าตาเหลือง, กินน้อย, อุจจาระเหลว, ลิ้นมักจะอ้วนบวม มีฝ้าขาวบาง, ชีพจรจะอ่อนไม่มีกำลัง
หลักการรักษา คือ บำรุงพลังม้าม
หลักการปฏิบัติตัว
1. ไม่กินอาหารที่มัน หรือย่อยยาก หรืออาหารที่เย็น เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มความชื้นเสมหะ ที่จะทำให้พลังของม้ามอ่อนแอยิ่งขึ้น ควรกินอาหารที่มีประโยชน์และย่อยง่าย หลีกเลี่ยงทุเรียน, กะทิ, ขนุน, นม ฯลฯ
2. ไม่ควรกินอาหารอิ่มจนเกินไปในแต่ละมื้อ ควรกินแต่พออิ่มและกินได้บ่อยๆ ควรกินอาหารเป็นเวลา มีกฎเกณฑ์ และเคี้ยวอย่างละเอียด
3. หลีกเลี่ยงการใช้แรงงานที่หักโหม รวมทั้งการใช้ความคิดมากจนเกินไป ควบคุมไม่ให้มีความเครียดวิตกกังวล เพราะจะทำให้รบกวนระบบการย่อยอาหาร
4. อาหารต้องสะอาด ไม่มีการปนเปื้อน เพราะถ้ามีการติดเชื้อทางเดินอาหารจะยิ่งทำให้ระบบย่อย ยิ่งสูญเสียพลังการย่อยและดูดซึม
5. คนที่มีอายุมากหรือร่างกายเสื่อมถอย เจ็บไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร จะระมัดระวังภาวะการทำงานของระบบม้าม เพราะระบบม้ามหรือการย่อยถือเป็นพื้นฐานของพลังของ ร่างกายที่เป็นตัวมาเสริมพลังของไต ที่มีเป็นทุนสำรองมีมาแต่กำเนิด
6. ควรเสริมยาหรืออาหารบำรุงพลังของม้าม พลังหยางของร่างกาย เพื่อให้ระบบการย่อยอาหารมีประสิทธิภาพ
สรุป : อาการง่วงนอนผิดปกติ นอนไม่รู้จักพอเป็นภาวะที่สะท้อนถึงพลังการย่อยอาหารและดูดซึมอาหาร (ระบบม้ามบกพร่องเนื่องจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งจากพื้นฐานของร่างกายเดิมและการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาด และการสะสมการเสื่อมโทรมของร่างกาย) การแสดงออกของการง่วงนอนผิดปกติ เป็นเพียงอาการหนึ่งของภาวะพลังม้าม และพลังหยางของร่างกายพร่อง ยังมีอีกหลายอาการเช่น เหงื่อออกมากผิดปกติ เบื่ออาหาร, มือเท้าเย็น, คลื่นไส้ อาเจียน, ไม่อยากพูด, ถ่ายเหลว ฯลฯ เมื่อรักษาที่ต้นเหตุอาการอื่นๆก็จะดีไปด้วยกัน
การรักษา อาจใช้การฝังเข็ม และสมุนไพร โดยหลักการ คือ การขับความชื้นเสมหะ และเพิ่มกระตุ้นการทำงานของพลังม้าม และพลังหยางของร่างกาย ร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต, อารมณ์จิตใจ, ส่วนการกินอาหารต้องมีกฎเกณฑ์และเลือกอาหารให้ถูกต้อง มีศิลปะในการกิน และต้องกินให้ทะนุถนอมระบบการย่อยอาหารไปในขณะเดียวกัน การรักษาสุขภาพแบบแพทย์แผนจีนเป็นแบบองค์รวม บางครั้งไม่สามารถจะระบุความผิดปกติเป็นโรคใดโรคหนึ่งล้วนๆ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นมักเป็นความเสียสมดุลที่ อวัยวะภายในและก่อให้เกิดอาการ และโรคหลายโรค หรือเป็นกลุ่มอาการ การรักษาด้วยการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น จะทำให้โรคหลายๆโรคหรืออาการหลายๆอาการ หายไปพร้อมๆกันได้