ดังที่เคยได้กล่าวแล้วว่าร่างกายของมนุษย์เป็นองค์รวมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่ออวัยวะหนึ่งอวัยวะใดเกิดโรค ก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งระบบ ด้วยเหตุนี้การดูลักษณะของนิ้วมือจึงสามารถบอกความแข็งแรงของอวัยวะได้
1. หัวแม่มือ
นิ้วมือทั้ง 5 นั้น นิ้วหัวแม่มือทางการแพทย์จีนถือว่าเป็นนิ้วที่สำคัญที่สุด ลักษณะของนิ้วหัวแม่มือสามารถคาดคะเนความแข็งแรงของร่างกายตั้งแต่กำเนิดและสมรรถนะของสมองได้ กล่าวโดยทั่วไปแล้ว คนที่ร่างกายแข็งแรงนิ้วหัวแม่มือค่อนข้างกลม ยาว และแข็งแรง ความยาวของข้อนิ้วสม่ำเสมอ ถ้านิ้วหัวแม่มือหยาบและใหญ่มักเป็นผู้ที่มีอารมณ์ฉุนเฉียว แต่ถ้านิ้วหัวแม่มือแบนเรียบและอ่อน มักเป็นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอไม่ค่อยมีความอดทน ถ้านิ้วหัวแม่มือคดงอมักมีอาการทางประสาท
ถ้านิ้วหัวแม่มือสั้นและเล็กจิตใจมักไม่มั่นคนเป็นคนขี้ขลาด ความมุ่งมั่นน้อย การแก้ไขคือควรได้รับการหล่อหลอมจากสังคม เพื่อให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ถ้าลายเส้นบนนิ้วข้อพับข้อที่สองของนิ้วหัวแม่มือยุ่งเหยิง และด้านข้างของข้อนิ้วที่สองมีเส้นยุ่งแสดงว่าเป็นผู้ที่เครียดง่าย มีโอกาสเป็นโรคปวดหัวและนอนไม่หลับได้ง่าย ถ้าข้อนิ้วหัวแม่มือสั้นและแข็ง งอลำบาก จะเป็นโรคความดันโลหิต โรคหัวใจ และอัมพาตได้ง่าย
2. นิ้วชี้
นิ้วชี้ที่มีลักษณะดีคือค่อนข้างกลม สวย และแข็งแรง ข้อนิ้วมีความยาวใกล้เคียงกัน ข้อล่างจะสั้นกว่าข้อบนเล็กน้อย นิ้วตรง ถ้าชิดกันนิ้วจะแนบสนิทกับนิ้วกลางแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะที่ดีของตับและถุงน้ำดี
ถ้าข้อนิ้วข้อแรกของนิ้วชี้ยาวเกินไป มักเป็นผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง แต่ถ้าข้อนิ้วข้อที่สองหยาบ แสดงว่าการดูดซึมของธาตุแคลเซียมไม่ดี กระดูกและฟันไม่แข็งแรง ถ้านิ้วข้อที่สามสั้นเกินไป มักเป็นผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางด้านประสาทได้ง่าย
ถ้านิ้วชี้ซีดและผอมแสดงว่าสมรรถนะของตับและถุงน้ำดีไม่ดี เป็นผู้ที่อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่กระฉับกระเฉง แต่ถ้าปลายนิ้วเอียง ลายเส้นบนข้อพับของข้อนิ้วกลางยุ่งมักเป็นผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับตับ ถุงน้ำดี และโรคดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อระบบย่อยลำเลียง ดูดซึมของอาหาร ทำให้ผิดปกติได้
3. นิ้วกลาง
นิ้วกลางจะบ่งบอกถึงความแข็งแรงหรืออ่อนแอของร่างกาย ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง นิ้วกลางค่อนข้างกลมยาวและ แข็งแรง ข้อนิ้วทั้งสามยาวใกล้เคียงกัน ข้อนิ้วอ่อนเล็กน้อยไม่แข็ง นิ้วตรงไม่คด
ถ้านิ้วกลางซีด เล็ก และอ่อน แสดงว่าสมรรถนะของหัวใจไม่ดีหรือเป็นโรคโลหิตจางได้ง่าย ปลายนิ้วเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือเวลานิ้วชิดกันตรงบริเวณข้อระหว่างนิ้วทั้งสองมีช่องว่าง(ไม่แนบสนิท) แสดงว่าสมรรถนะของหัวใจและลำไส้ไม่ดี ถ้าข้อนิ้วข้อที่สองยาวกว่าข้ออื่น มักขาดธาตุแคลเซียมเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและฟัน นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยง่าย ขาดความอดทน
นิ้วกลางเป็นนิ้วที่อยู่ตรงกลางระหว่างนิ้วทั้งห้าและยาวกว่านิ้วอื่นๆ ถ้ายาวเกินไป มักเป็นผู้ที่มีความไวต่ออารมณ์ต่างๆที่มากระทบทำให้เกิดโรคได้ง่าย ดังนั้นผู้ที่มีนิ้วกลางยาวเกินไป ควรรู้จักฝึกการปฏิบัติตนเอง เมื่อประสบปัญหาควรรู้จักปล่อยวาง
4. นิ้วนาง
นิ้วนางจะบ่งบอกถึง ระบบขับถ่ายและระบบสืบพันธุ์ โดยทั่วไปนิ้วค่อนข้างกลมและสวย ความยาวของข้อนิ้วใกล้เคียงกัน นิ้วตรง ไม่เอียงหรือคด ความยาวของนิ้วนางควรเลยครึ่งหนึ่งของข้อนิ้วข้อแรกของนิ้วกลางเล็กน้อย ลายเส้นตรงบริเวณข้อพับชัดและไม่ยุ่ง ถ้านิ้วนางยาวเกินไปมักจะเกิดโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่ค่อยเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ แต่ถ้านิ้วนางสั้นเกินไป ร่างกายมักไม่แข็งแรง หากนิ้วนางซีดและเล็ก ไตและระบบสืบพันธุ์มักบกพร่อง
นิ้วข้อสุดท้ายของนิ้วนางบ่งบอกถึงสมรรถนะของระบบสืบพันธุ์และต่อมไร้ท่อ ดังนั้นนิ้วจึงไม่ควรอ่อนเกินไป ถ้าลายเส้นบนข้อพับนิ้วยุ่งเหยิง แสดงว่าร่างกายไม่แข็งแรง หากเป็นหญิงที่ตั้งครรภ์ควรให้อาหารจำพวกแคลเซียม
ถ้าข้อนิ้วที่สองของนิ้วนางมีเส้นขวางเป็นร่องลึกชัดเจน (ดังรูป)
แสดงว่าร่างกายไม่แข็งแรง ร่องดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไปตามความแข็งแรงของร่างกาย กล่าวคือถ้าร่างกายแข็งแรงร่องจะตื้นและเห็นเพียงลางๆ
ถ้าข้อนิ้วข้อที่สองของนิ้วนางยาวเกินไปหรือมีสีซีดเกินไป นิ้วเล็กและอ่อน แสดงว่าการดูดซึมของแคลเซียมผิดปกติ จะทำให้กระดูกและฟันไม่แข็งแรง
ถ้าปลายนิ้วนางไม่ตรง เวลานิ้วชิดกันมีร่องตรงข้อนิ้ว(แนบไม่สนิท) มักเกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบขับถ่าย(ปัสสาวะ) ร่างกายอ่อนแอ และนอนไม่หลับได้ง่าย
ถ้านิ้วนางยาวเกินกว่าครึ่งหนึ่งของข้อนิ้วข้อแรกของนิ้วกลางจนเกือบจะเท่ากับนิ้วกลาง แสดงว่าเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงมาตั้งแต่กำเนิด
5. นิ้วก้อย
นิ้วก้อยจะบ่งบอกถึงความแข็งแรงหรืออ่อนแอของระบบย่อยอาหารและระบบสืบพันธุ์ โดยทั่วไปนิ้วก้อยจะต้องยาว เล็ก และตรง ข้อนิ้วแต่ละข้อมีความยาวใกล้เคียงกัน ความยาวของนิ้วก้อยนั้นส่วนใหญ่มักยาวเสมอแนวเส้นข้อนิ้วมือข้อแรกของนิ้วนาง หรืออาจยาวกว่าเล็กน้อย ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นผู้ที่มีระบบย่อย ลำเลียง และการดูดซึมอาหารดี
ถ้านิ้วก้อยมีสีซีดและอ่อน มักเป็นผู้ที่มีระบบการย่อยและดูดซึมอาหารไม่ดี ระบบขับถ่าย(อุจจาระ)ไม่สะดวกหรืออาจท้องเสีย ถ้าปลายนิ้วก้อยไม่ตรง เวลาชิดนิ้วตรงบริเวณข้อมีช่องว่างเห็นได้ชัด อาการดังกล่าวจะมากขึ้น หากนิ้วก้อยคดจะบ่งบอกถึงสมรรถนะของปอดเลวลง
ถ้าลายเส้นบริเวณโคนนิ้วหรือตรงข้อพับของข้อยุ่งเหยิง แสดงว่าร่างกายไม่แข็งแรง และถ้านิ้วเอียงออกด้านข้าง และมีอาการผิวหนังแห้งร่วมด้วย แสดงว่าระบบย่อยและดูดซึมอาหารไม่ดี
ลักษณะของนิ้วที่กล่าวมาข้างต้นไม่ใช่แน่นอนตายตัวโดยไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของร่างกายซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามวิถีการดำเนินชีวิต ดังนั้นการมีวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีก็จะส่งผลถึงลักษณะของนิ้วมือด้วย