เราคุ้นเคยเกี่ยวกับการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ คือ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน ในปริมาณและสัดส่วนที่พอเหมาะ เพื่อให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ ทัศนะเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ที่จะพยายามวิเคราะห์แยกแยะส่วนประกอบระดับโมเลกุล ชีวเคมี ระดับพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต และเสริมสร้างสารที่จำเป็นในรูปแบบของสารอาหารประเภทต่างๆ
การแพทย์แผนจีนมีมุมมองอะไรที่แตกต่างไปจากนี้
“อาหารและยามีที่มาเดียวกัน” อาหารและยามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ยาจำนวนมาก ค้นพบโดยบังเอิญในขณะที่เสาะหาอาหารเพื่อการยังชีพ อาหารบางชนิดเมื่อผ่านการกินยามาระยะหนึ่ง ทำให้รู้ว่ามีคุณสมบัติทางยาในการรักษาโรค ตำรับอาหารจีนจำนวนมากมักมีสมุนไพรร่วมอยู่ด้วย พร้อมทั้งบรรยายสรรพคุณในการรักษาโรค ตัวอย่าง อาหารสมุนไพรจะพบได้ตามร้านอาหารและภัตตาหาร
อาหารและยาถือว่ามีคุณลักษณะที่เหมือนกัน คือ มีคุณสมบัติทั้ง 4 และมีรสทั้ง 5
คุณสมบัติทั้ง 4 เช่นเดียวกับฤดูกาล คือ เย็น สุขุม (ค่อนข้างเย็น) ร้อน อุ่น คุณสมบัติทั้ง 4 นำมาประยุกต์ในการรักษาโรคอย่างไร การแพทย์จีนอาศัยยาหรืออาหารที่มีคุณสมบัติเย็น สุขุม (ค่อนข้างเย็น) ไปรักษาโรคที่มีลักษณะร้อน(หยาง) และใช้อาหารที่มีคุณสมบัติ ร้อน อุ่น ไปรักษาโรคที่มีลักษณะเย็น(ยิน) รสทั้ง 5 ของอาหาร ได้แก่ รสเผ็ด รสหวาน รสเปรี้ยว รสขม รสเค็ม
รสเผ็ด : มีสรรพคุณกระจาย แผ่ซ่าน ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม ช่วยขับความชื้นและลมในระดับผิว (แพทย์แผนจีนถือว่า การกระทบความชื้นหรือลม ทำให้เกิดโรคได้โดยความชื้นและลมจะผ่านจากระดับผิวหนังเข้ามา การใช้ยาหรืออาหารรสเผ็ดจะช่วยขับความชื้นหรือลมออกมา ทำให้หายจากโรคได้) ช่วยสลายการอุดตันของเลือดและลมปราณ
รสหวาน : มีสรรพคุณในการบำรุง เสริมสร้างระบบกระเพาะอาหารและม้าม ลดการปวด การเกร็ง ทำให้ฤทธิ์ยากลมกล่อม มักใช้ยารสหวานไปบำรุงโรคที่เกิดจากภาวะพร่อง
รสเปรี้ยว : มีสรรพคุณในการเก็บ พยุง เหนี่ยวรั้ง จึงใช้รักษาโรค เช่น เหงื่อออกมากจากภาวะพร่อง ไอเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง น้ำกามเคลื่อน ปัสสาวะบ่อย ตกขาวเรื้อรัง เป็นต้น
รสขม : มีสรรพคุณในการขจัด ร้อน สลายไฟ (ความร้อนในตัว) ลดการไอ การอาเจียน ช่วยการขับถ่ายในคนที่ท้องผูกจากความร้อนในตัวสูง
รสเค็ม : มีสรรพคุณในการสลายหรือทำให้นิ่ม(สลายก้อนแข็ง) ช่วยระบาย แก้ท้องผูก รักษาฝีหนอง ก้อนธัยรอยด์ (จากขาดเกลือไอโอดีน) ก้อนในท้อง
อาหารที่มีคุณสมบัติและรสคล้ายกันจะมีสรรพคุณใกล้เคียงกัน แต่อาหารหรือสมุนไพรบางชนิดอาจมีคุณสมบัติเหมือนกันแต่รสต่างกัน บางชนิดมีคุณสมบัติต่างกันแต่รสเหมือนกัน สรรพคุณย่อมต่างกันด้วย เช่น
- อาหารและยาคุณสมบัติเย็นและรสขม ใช้ ขับร้อนความชื้น
- อาหารและยาคุณสมบัติเย็นและรสหวาน ใช้ ขับร้อนและบำรุง
- อาหารและยาคุณสมบัติอุ่นและรสเผ็ด ใช้ ขับความร้อนและลม
- อาหารและยาคุณสมบัติเย็นและรสเผ็ด ใช้ ขับความร้อนและลม
จึงต้องพิจารณาอาหารและยา ทั้งคุณสมบัติและรสควบคู่กันไปด้วย
ร่างกายของคนเราในแต่ละเพศ วัย รูปร่างต่างกัน รวมทั้งพื้นฐานของธาตุทั้งห้า (ปัญจธาตุ) ก็ต่างกัน
เช่น
– คนอ้วน คนแก่ ผู้หญิง มักเป็นภาวะยิน
– คนผอม เด็ก ผู้ชาย มักเป็นภาวะหยาง
– อาการรสเค็ม ขม เปรี้ยว จัดเป็นยิน
– อาหารรสเผ็ด หวาน จัดเป็นหยาง
แต่ผู้ชายอ้วนบางรายอาจเป็นภาวะยินหรือหยางก็ได้ขึ้นกับธาตุภายในร่างกาย และอาหารที่กินหรือภาวะแวดล้อมที่มากระทำต่อร่างกาย
การกินอาหารลักษณะต่างๆ จึงควรเข้าใจถึงภาวะพื้นฐานของร่างกายว่าเป็นยินหรือหยาง เลือกลักษณะอาหารที่กินให้สอดคล้องภาวะของภูมิอากาศ ฤดูกาล ช่วงเวลาที่กิน(เช้า-หยาง,กลางคืน-ยิน) และสภาพของร่างกาย จึงจะสร้างภาวะสมดุลของร่างกาย ตัวอย่าง คนบางคน ภาวะปกติรู้สึกร้อนง่าย คอแห้ง คอขม ผอม ผิวหนังแห้ง แพทย์แผนจีน เรียกลักษณะนี้ว่า ภาวะยินพร่อง ทำให้มีไฟในร่างกายมาก คนประเภทนี้ ควรกินอาหารประเภทคุณสมบัติเย็น-หวาน หรือเย็น-รสเค็ม ซึ่งเป็นอาหารที่มีสรรพคุณเพิ่มยินขับรอน เช่น สาลี่ อ้อย เนื้อเป็ด ปลิงทะเล ไม่ควรกินอาหารคุณสมบัติอุ่นและเผ็ด เช่น หัวหอม ขิง พริกไทย เป็นต้น
คนบางคนภาวะปกติสีหน้าขาวซีด เบื่ออาหาร ไม่มีเรี่ยวแรง เหงื่อออกมาก มือเท้าเย็น แพทย์แผนจีนเรียกลักษณะนี้ว่าภาวะหยางพร่องทำให้ความเย็นแกร่ง คนประเภทนี้ควรกินอาหารที่มีลักษณะอุ่นหวาน เพื่อเพิ่มหยาง เช่น กุยช่าย เนื้อไก่ เนื้อแพะ เนื้อสันหมู ซี่โครงวัว เกาลัด ฯลฯ ส่วนพวกอาหารที่มีคุณสมบัติอุ่นไม่ควรกินมากเกินควร เช่น ขิง พริกไทย หัวหอม แม้จะให้คุณสมบัติหยางแก่ร่างกาย แต่เนื่องจากมีรสเผ็ดที่มีลักษณะกระจายแผ่ซ่าน ทำให้สูญเสียพลัง
หญิงหลังคลอด อยู่ในภาวะสูญเสียเลือด พลังและสารจำเป็นอย่างมาก ต้องการการปรับเปลี่ยนร่างกายให้กลับสู่สภาพเร็วที่สุด อาหารหญิงหลังคลอดมักแนะนำ ขิง ผัดไก่ (ไก่มีคุณสมบัติหยาง-รสหวาน ขิงมีรสเผ็ดร้อน) เพื่อให้มีการบำรุงกระเพาะ ม้าม เพิ่มธาตุไฟ ช่วยการไหลเวียนเลือดและขับความชื้น ทำให้ขับน้ำคาวปลา และมดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น งดอาหารที่มีลักษณะเย็น รสขม เปรี้ยว เค็ม เพราะจะทำให้เพิ่มคุณสมบัติของยิน เพิ่มความชื้น เก็บกักของเสีย น้ำ ขับความร้อนในร่างกาย ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะของหญิงหลังคลอด บางครั้งรสของอาหารก็นำมาผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดรสกลมกล่อม และมีคุณสมบัติทางยาด้วย เช่น น้ำบ๊วย น้ำมะนาว ซึ่งมีการเติมรสหวานเข้าไปทำให้เกิดรสเปรี้ยว หวาน รสเปรี้ยว ช่วยดึงรั้ง พยุงการเสียน้ำ แก้กระหายน้ำ และรสหวานก็ช่วยบำรุงร่างกาย ทำให้ไม่อ่อนเพลียเนื่องจากความร้อน
น้ำต้มขิงใส่น้ำตาลทรายแดง รสเผ็ดร้อนช่วยขับความเย็น ความชื้น รสหวานช่วยเพิ่มบำรุงพลังไม่ให้สูญเสียพลังจากการกระจาย ทำให้สามารถรักษาไข้หวัดจากการดูดความเย็น ความชื้นได้โดยร่างกายไม่อ่อนเพลีย ที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญของอาหาร เฉกเช่นยาสมุนไพรในการรักษาโรค คนโบราณกล่าวว่า “การบำรุงด้วยยาไม่ดีเท่าบำรุงด้วยอาหาร” เพราะเหตุผลยา คือ อาหาร อาหาร คือ ยา อาหารที่เหมาะสมและสอดคล้องสามารถปรับสมดุลร่างกายได้ และสามารถหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยาซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่าอาหาร
____________________________________________________________________
หมายเหตุ : รสจืด มีสรรพคุณขับน้ำ ขับความชื้น ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ลดอาการบวม (จัดอยู่ในรสใกล้เคียงกับรสหวาน) ส่วน รสฝาด มีสรรพคุณใกล้เคียงกับรสเปรี้ยว