เกร็ดความรู้เกี่ยวกับขิง (姜) ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน
ขิง จำแนกเป็น 2 ชนิด คือ
ขิงสด มีสรรพคุณกระจายความเย็น วิ่งเส้นลมปราณปอด ใช้ขับเหงื่อที่ผิวหนัง รักษาไข้หวัดที่เกิดจากการกระทบลมและความเย็น
ขิงแห้ง ผ่านกรรมวิธีเผาไฟ ทำให้ขจัดสารบางอย่างออกไปและเพิ่มสรรพคุณการอุ่นภายในของระบบย่อยอาหาร (จงเจียว) คือ กระเพาะอาหารและม้าม รักษาอาการกระเพาะเย็น อาเจียน บวมน้ำเนื่องจากอาหารตกค้างไม่ย่อย หรือมีเสมหะจากระบบย่อยอ่อนแอ
- ขิงสดหรือน้ำคั้นขิงสด กับปัสสาวะเด็กใช้เปิดทวาร ฟื้นภาวะหมดสติ
สมัยโบราณ เวลาคนหมดสติจากภาวะจ้งเฟิง ชนิดที่เกิดจากเสมหะปิดกั้น (ภาวะหลอดเลือดสมอง) จะใช้ขิงสดคั้นเอาน้ำและปัสสาวะเด็กผสมกันนำมาให้ผู้ป่วยดื่ม ขิงมีฤทธิ์กระตุ้นกระจายเสมหะ เปิดทวารทั้ง 5 (2 ตา 2 หู 1 จมูก) ปัสสาวะเด็กมีสรรพคุณขับไฟ และความร้อนออกจากร่างกาย (ไม่มีพิษหรือผลข้างเคียง)
- เปลือกขิง ใช้เสริมม้ามขับน้ำลดบวม
- แก้พิษอาหารสัตว์ป่า อาหารทะเล ปู ปลา ใช้แก้พิษสมุนไพรบางตัวก่อนนำไปใช้เป็นยา เช่น ปั้นเซี่ย (半夏)
- ไม่ควรรับประทานขิงร่วมกับการดื่มเหล้า จะทำให้ความร้อนสะสม ตาจะแห้ง ริดสีดวงจะกำเริบหนักขึ้น
- ฤดูหนาวรับประทานหัวผักกาดขาว ฤดูร้อนรับประทานขิง ไม่ต้องไปให้หมอจ่ายยา (冬吃萝卜夏吃姜,不用医生开药方)
ช่วงฤดูร้อน พลังหยางของร่างกายก็เช่นเดียวกับพลังดวงอาทิตย์ พลังจะลอยอยู่ด้านนอก ทำให้อวัยวะภายในอ่อนแอขาดพลัง การรับประทานขิงหรืออาหารฤทธิ์อุ่นร้อนจะช่วยทำให้เกิดพลังอบอุ่นแก่อวัยวะภายใน ฤดูหนาวพลังหยางจะถูกสะสมภายใน กินขิงเพื่อให้ความอบอุ่นอวัยวะภายใน แต่จะทำให้มีโอกาสเกิดความร้อนสะสมมากเกินไปได้ง่าย การรับประทานหัวผักกาดขาวจะช่วยกระจายพลังที่ปิดกั้นภายใน
- ก่อนนอนหัวผักกาดขาว ตื่นนอนขิง ไม่ต้องไปให้หมอจ่ายยา (上床萝下床姜,不用医生开药方) ความเชื่อเรื่องรับประทานขิงก่อนนอนเป็นความเชื่อที่ผิด โบราณกล่าวว่า กลางคืนไม่กินขิง ฤดูใบไม้ร่วงไม่กินขิง (夜不食姜,秋不食姜) เหตุผลเนื่องจากช่วงกลางคืนทุกอย่างเข้าสู่ความสงบ ร่างกายเข้าสู่การพักผ่อน ควรรับประทานสิ่งที่มีลักษณะสุขุม ไม่กระตุ้นเพื่อช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น เช่นผลไม้ ตามด้วยหัวผักกาด 4 – 5 แผ่น ฤดูใบไม้ร่วงก็เป็นช่วงธรรมชาติของการเก็บพลังเข้าสู่ความสงบ
ในทางกลับกันหลังตื่นนอนตอนเช้าควรรับประทานขิง เพราะพลังของดวงอาทิตย์และร่างกายอยู่ในช่วงขาขึ้น อยู่ในภาวะกระตุ้น การรับประทานขิงจึงช่วยให้การกระตุ้นการทำงานของร่างกายได้ดีขึ้น